การเงิน

ทำไมหุ้นไทยดิ่งแรงกว่า 30 จุด หลุด 1,400 จุด ต่ำสุดในรอบ 3ปี

26 ต.ค. 66
ทำไมหุ้นไทยดิ่งแรงกว่า  30 จุด หลุด 1,400 จุด ต่ำสุดในรอบ 3ปี
ไฮไลท์ Highlight
"สภาวะตลาดหุ้นวันนี้ปรับตัวลงกันถ้วนหน้า ทั้งตลาดหุ้นสหรัฐ ยุโรป รวมถึงเอเชียแปซิฟิก ก็ลงเกิน 1% แต่เกาหลีใต้ลงมาสุด 2.84% สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะที่ตลาดหุ้นไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งในช่วงนี้เราอาจพบกับเหตุการณ์แบบนี้ได้บ่อย จากปัจจัยภายนอกที่ยังไม่สงบนิ่ง จึงแนะนักลงทุนติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ดูข้อมูลให้ดี ลองวิเคราะห์ว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ โดยเฉพาะความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน" นายภากร กล่าว

ตลาดหุ้นไทย วันที่ 26 ต.ค.2566 ปรับตัวลงแรงมากกว่า 2% หรือลดลงกว่า 30 จุด ดัชนีต่ำสุดในรอบ 3ปี หลุด1,400 จุด ทำให้ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ต้องออกมาชี้แจงด่วน 

ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้(26 ต.ค.2566) ปิดที่ 1,371.22 จุด ลดลง 30.48 จุด (-2.17%) มูลค่าซื้อขาย 45,690.17 ล้านบาท ในการซื้อขายระหว่างวันหุ้นไทยลงแรงดัชนีทำจุดต่ำสุด 1,370.30 จุด ส่วนจุดสูงสุดอยู่ที่ 1,396.17 จุด โดยมีหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 53 หลักทรัพย์ ลดลง 496 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 92 หลักทรัพย์

ส่วนหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์ ได้แก่ 

SCB มูลค่าการซื้อขาย 2,944.16 ล้านบาท ปิดที่ 97.25 บาท ลดลง 1.00 บาท

KBANK มูลค่าการซื้อขาย 2,474.73 ล้านบาท ปิดที่ 129.50 บาท ลดลง 3.50 บาท

DELTA มูลค่าการซื้อขาย 2,463.25 ล้านบาท ปิดที่ 72.25 บาท ลดลง 8.50 บาท

PTT มูลค่าการซื้อขาย 2,007.49 ล้านบาท ปิดที่ 32.75 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง

ผู้จัดการ ตลท.แถลง การซื้อขายไม่ผิดปกติ เชื่อหุ้นไทยลงตามตลาดต่างประเทศ

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดแถลงข่าวด่วนในช่วงเย็นวันนี้ทันที ภายหลังดัชนีตลาดหุ้นไทยดิ่งหนักไปกว่า 30 จุด โดยยอมรับว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ร่วงแรงกว่าตลาดหุ้นอื่นในหลายประเทศ แต่ยังถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นสหรัฐ ยุโรป และภูมิภาค 

การปรับตัวลดลงแรงวันนี้ ไม่ได้พบความผิดปกติในการซื้อขายแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็น Short Sell หุ้น หรือ Prop Trade ไม่ได้มีส่วนทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงมามากในวันนี้ และยังไม่พบความผิดปกติ โดยอัตราส่วนการ Short Sell อยู่ที่ 11.34% ไม่แตกต่างจากระดับปกติที่ไม่เกิน 12% ส่วน Prop Trade อยู่ที่ 36% อยู่ในช่วงปกติ 30-38% ส่วนปัญหาการตกแต่งบัญชีของบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงเช่นกัน โดยมองเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดได้ทั่วโลก แต่ไม่ได้มีสัดส่วนที่มากจนทำให้ภาพรวมตลาดแย่

"สภาวะตลาดหุ้นวันนี้ปรับตัวลงกันถ้วนหน้า ทั้งตลาดหุ้นสหรัฐ ยุโรป รวมถึงเอเชียแปซิฟิก ก็ลงเกิน 1% แต่เกาหลีใต้ลงมาสุด 2.84% สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะที่ตลาดหุ้นไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งในช่วงนี้เราอาจพบกับเหตุการณ์แบบนี้ได้บ่อย จากปัจจัยภายนอกที่ยังไม่สงบนิ่ง จึงแนะนักลงทุนติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ดูข้อมูลให้ดี ลองวิเคราะห์ว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ โดยเฉพาะความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน" นายภากร กล่าว

ผู้จัดการ ตลท.บอกเพิ่มเติมด้วยว่า  ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง -16% นับตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค และตลาดหุ้นทั่วโลก จากปัจจัยภายนอกประเทศกดดัน อย่างไรก็ตามไม่ได้ปรับลงทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยกลุ่ม BANK ปรับตัวลง -1.73%, FASHION -3.69%, HELTA -4.35%, PROF +21.33%, TECH -6.34%, ETRON -3.63%, ICT -8.45%

ส่วนFund Flow ในปี 2565 มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าสูงถึง 2 แสนล้านบาท สวนทางกับปี 2566 ที่นับตั้งแต่ต้นปี (YTD) มีเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไทยไปแล้ว 1.7 แสนล้านบาท แต่ที่น่าสนใจ คือ ปริมาณการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ โดย Foreign Holding ต้นปี 66 อยู่ที่ 29.98% ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 29.31% แม้ว่ามูลค่าจะลดลงจากเดือนพ.ย.65 ที่อยู่ 5.75 ล้านล้านบาท สู่ระดับ 5.02 ล้านล้านบาทในเดือน ต.ค.66 สะท้อนว่านักลงทุนระยะสั้นขายออก แต่ผู้ถือลงทุนในระยะยาวไม่ได้ลดลง โดยกลุ่มอุสาหกรรมที่นักลงทุนต่างชาติถือครองลดลง ได้แก่ ทรัพยากร (Resources), Industrials, Agri&Food Industry, Consumer Products เป็นต้น

นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยหากไม่มีปัจจัยภายนอกเข้ามากดดัน ยังมีจุดเด่นจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ไม่ได้เป็นกังวล เนื่องจากหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับต่ำ ความแข็งแกร่งของธนาคารพาณิชย์ที่ยังปล่อยกู้ได้อีกมาก แต่อาจมีความเสี่ยงในเรื่องของหนี้ภาคครัวเรือนเล็กน้อย ขณะเดียวกันไทย ยังมีจุดเด่นในเรื่องของการท่องเที่ยวและส่งออก หากกลับมาได้เร็วจะเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจไทยโตก้าวกระโดด อย่างไรก็ตามภาคอุตสาหกรรมจะต้องปรับตัวให้ไวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงและสร้างความน่าสนใจให้กับผู้ลงทุน

นักวิเคราะห์ ยังให้น้ำหนักขาลง 

ด้าน น.ส.ชุติกาญจน์ สันติเมธวิรุฬ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ประเมินแนวโน้มวันพรุ่งนี้ (27 ต.ค.2566) คาดว่าตลาดฯรีบาวด์ทางเทคนิค และด้วยปัจจัยลบรุมเร้า ยังให้น้ำหนักอิงทางขาลงอยู่ แนะติดตามการเปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของสหรัฐ ในคืนนี้ ตลาดคาดไว้ที่ 4.5% หากออกมาดีจะหนุนเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่ง และหนุนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตลาดคาดจะคงอัตราดอกเบี้ย แต่หากปรับขึ้นดอกเบี้ย จะสร้างแรงกดดันต่อตลาดเพิ่มเติม

แนะลงทุนหุ้นรายตัว ที่มีปัจจัยเฉพาะตัว หรือเก็งกำไรในผลประกอบการไตรมาส 3/66 ที่คาดออกมาดี รวมถึงเลือกสะสมหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ราคาถูก หรือ Valuation ไม่แพง และมีปันผล ซึ่งจะช่วยลดดาวน์ไซด์ได้บ้าง ให้แนวรับแรกไว้ที่ 1,360 จุด และแนวรับถัดไป 1,350 จุด ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 1,385 จุด

GDP ไตรมาส 3 สหรัฐฯดีกว่าคาด โต4.9%

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2566  ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 4.9% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.7% หลังจากมีการขยายตัว 2.0%  ในไตรมาส 1  และ 2.1% ในไตรมาส 2

การขยายตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 3 ได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค, การเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง, การส่งออก, การลงทุนของภาคเอกชน และการใช้จ่ายของรัฐบาล ทั้งนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคพุ่งขึ้น 4% ในไตรมาส 3 หลังจากเพิ่มขึ้นเพียง 0.8% ในไตรมาส 2 ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนพุ่งขึ้น 8.4% และการใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 4.6%

อัพเดทเวลา 21.53 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 33,071.50 จุด บวก 35.57 จุด หรือ 0.11% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ลบ 0.2% นอกจากนี้ ดัชนี Nasdaq ดิ่งลง 1.1% หลังจากทรุดตัวลง 2.4% วานนี้ ตามการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ส่งผลให้ดัชนี Nasdaq เข้าสู่ภาวะปรับฐาน (Market Correction) โดยดัชนีได้ปรับตัวลงมากกว่า 10% จากจุดสูงสุดที่ทำไว้ในเดือนก.ค. และหากดัชนีปรับตัวลงต่อไปจนดิ่งลง 20% จากจุดสูงสุดล่าสุด ก็จะส่งผลให้ดัชนีเข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market)

advertisement

SPOTLIGHT