ข่าวเศรษฐกิจ

3 เรื่องใหญ่ทำไทยตกชั้นเศรษฐกิจ กับ 4 กระแสโลกสุดโหดที่เราต้องเผชิญ

25 ต.ค. 66
3 เรื่องใหญ่ทำไทยตกชั้นเศรษฐกิจ กับ 4 กระแสโลกสุดโหดที่เราต้องเผชิญ

หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปประชุมในหลายประเทศ พยายามสร้างSpotlight ให้ฉายกลับมาที่ไทยและพยายามชักจูงให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนในไทยอีกครั้ง เกิดทำถามว่า ความน่าสนใจของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนอย่างเช่นเวียดนามเป็นอย่างไร ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำมาเล่าให้ฟัง ณ ที่นี้ ก่อนที่จะลงในรายละเอียดถึงบทบาทไทยในเวทีโลกผู้เขียนขออนุญาตเล่าความจริงด้านเศรษฐกิจไทยเทียบกับเอเชียและอาเซียน 3ประการ คือ 

เศรษฐา ทวีสิน

เศรษฐกิจไทยเทียบกับเอเชียและอาเซียน

1.GDP ไทย 10 ปีย้อนหลังโตเฉลี่ย 1.9% เท่านั้น

หากพิจารณาเมื่อเทียบกับเอเชียแล้วการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP Growth) ของเราอยู่ในระดับต่ำมากโดยเติบโตเฉลี่ย 1.9% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นระดับเดียวกับญี่ปุ่น (0.6%) ฮ่องกง (1.2%) และเกาหลีใต้ (2.6%) แต่ทั้งสามประเทศมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่าไทย (ที่อยู่ที่ประมาณ 7,100ดอลลาร์ต่อคนต่อปี) ถึง 5-7 เท่า หรือกล่าวโดยง่ายคือ ประเทศไทย จนแต่ไม่โตเร็วเหมือนเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม (10 ปีที่ผ่านมา โตเฉลี่ย6.0%) ฟิลิปปินส์ (5.0%) มาเลเซีย (4.2%) อินโดนีเซีย (4.3%) อินเดีย(5.9%) และจีน (6.2%)

2.FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) ปีย้อนหลัง ติดลบ6%

ไทยมีระดับการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติหดตัวโดยเฉลี่ย-6.0% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต่ำที่สุดเป็นอันดับสองรองจากเมียนมาที่หดตัว -7.4% ขณะที่สิงคโปร์มีอัตราการเติบโตของ FDI ปีละประมาณ 7% ส่วนเวียดนามทรงขยายตัวเฉลี่ยปีละประมาณ 6.7%  ฟิลิปปินส์ (7.4% ต่อปี)และ กัมพูชา (6.9% ต่อปี) อาเซียน 4% ขณะที่ มาเลเซีย และอินโดนิเซีย การลงทุนโดยตรงชะลอตัวลงโดยเฉลี่ยปีละ 1-3%

3.โครงสร้างประชากร ‘คนแก่’ เพิ่มขึ้น

คนไทยคือคนวัยกลางคน โดยอายุเฉลี่ย (Median age) ของคนไทย อยู่ประมาณ 39.7 ปี ซึ่งเป็นระดับเดียวกับจีน (39 ปี) ญี่ปุ่น (49.1 ปี) สิงคโปร์ (42.8 ปี) แต่แก่กว่าเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม (32.8ปี) ฟิลิปปินส์ (25 ปี) อินเดีย (28.2 ปี) และอินโดนิเซีย (30 ปี)และหากพิจารณามาตรชี้วัดด้านประชากรศาสตร์ต่าง ๆ เช่นอัตราเจริญพันธุ์ของสุภาพสตรี พีระมิดประชากรวมถึงการคาดการณ์จำนวนผู้ที่ต้องพึ่งพา (Dependency ratio) ต่าง ๆมาตรเหล่านี้ของไทยจะอยู่ระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วทั้งสิ้นซึ่งภาพเหล่านี้บ่งชี้ว่าทั้งจำนวนแรงงานและกำลังซื้อของไทยจะลดลงในระยะต่อไปขณะที่เพื่อนบ้านจะเติบโตมากขึ้น

ทั้งสามความจริงนี้บ่งชี้ว่าเรากำลังถูกลดความสำคัญลงในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาคท่ามกลางกระแสโลกและไทยที่กำลังเปลี่ยนไปใน 4 กระแสหลัก

4 กระแสโลกสุดโหดที่เราต้องเผชิญ

1.Permacrisis หรือการที่เศรษฐกิจ-สังคมการเมืองการปกครองรวมถึงสิ่งแวดล้อมทั่วโลกอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างต่อเนื่อง

โดยหากพิจารณาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจสังคมโลกเผชิญกับทั้งวิกฤตสาธารณสุขขนาดใหญ่ในรอบ 100 ปี วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังจากการ Lockdown (และอาจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ในปีหน้า)

เงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบกว่า 4 ทศวรรษ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่แพงขึ้นฃตามมาด้วยความอดอยากและวิกฤตอาหารในประเทศกำลังพัฒนาการขึ้นดอกเบี้ยที่สูงเป็นประวัติการณ์ การล้มละลายของสถาบันการเงินที่สำคัญในประเทศเจริญแล้ว สงครามขนาดใหญ่ถึง2 สงครามที่เกิดขึ้นภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี (และเป็นสงครามที่ยังไม่เห็นจุดจบโดยง่าย)

ความขัดแย้งและการประท้วงในหลายประเทศทั่วโลก และที่สำคัญที่สุด ได้แก่วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลจากภาวะโลกร้อนที่นำไปสู่สภาพภูมิอากาศที่สุดขั้ว (Extreme weather) เช่น คลื่นความร้อน  ฝนตกรุนเเรง น้ำท่วมหนักภัยเเล้ง เเละไฟป่า

2.China Derisking สงครามเย็นระหว่างชาติตะวันตกกับจีน

กระแสสงครามเย็นระหว่างชาติตะวันตกกับจีน อันเป็นส่วนหนึ่งของกระแส Deglobalization หรือการลดระดับของกระแสโลกาภิวัฒน์ลง โดยประเด็น China derisking นี้ นำมาสู่การที่ชาติตะวันตกลดบทบาทและความสัมพันธ์กับจีนลง ทั้งในด้านการค้า การลงทุนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกำแพงภาษี

การที่บริษัทขนาดใหญ่ลดการลงทุน-ถอนการลงทุนในจีน รวมถึงประเด็นด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น จำกัดการส่งสินค้าไฮเทคไปสู่จีนโดยเฉพาะชิปและเซมิคอนดักเตอร์ที่มีขนาดเล็กและมีประสิทธิภาพในการคำนวณสูง

3.การค้าและการลงทุนในเอเชียโดยเฉพาะอาเซียนเพิ่มมากขึ้น

โดยในรูปแบบการค้า เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบเศรษฐกิจแบบ “Factory Asiamodel” ที่ ทำให้เอเชียมีรายได้มากขึ้นและหันกลับมาค้าขายกันเองภายในทวีป (Intra-Asian Trade) มากขึ้นจาก 46%ในปี 1990 เป็น 58% ในปีนี้ ซึ่งเป็นผลทั้งจากกระแสสังคมเมือง(urbanization) ในอาเซียนที่เพิ่มขึ้นและรายได้ของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น

ในส่วนของการลงทุนในเอเชีย หลังเกิดกระแส China derisking ที่ทำให้การลงทุนไหลออกจากจีนทำให้ผู้ผลิตเหล่านี้จะย้ายฐานไปสู่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ที่นิตยสาร TheEconomist เรียกว่า "ห่วงโซ่อุปทานทางเลือกของเอเชีย" หรือ Alternate Asia หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Altasia (อัลเทเชีย) ไล่เลียงตั้งแต่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม กัมพูชา และบังกลาเทศ ไปจนถึงอินเดีย 

ซึ่งกระแสนี้นอกจากจะเกิดขึ้นทั้งกับผู้ผลิตจากชาติตะวันตกแล้วผู้ผลิตในเอเชียด้วยกันเอง ทั้งญี่ปุ่น สิงคโปร์ รวมถึงผู้ผลิตในจีนเองก็หันมาย้ายฐานการลงทุนในเอเชียเพิ่มมากขึ้น

4.การปฏิวัติอุตสาหกรรม

ผ่านการบูรณาการของเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น  Internet of Thing   AI รถยนต์ไฟฟ้า (EV) วิทยาการหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ จะให้ความหวังในผลผลิตและการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น และในทางกลับกันก็เป็นแหล่งรายได้ของประเทศผู้ผลิตเช่นกัน กระแสปฎิวัติอุตสาหกรรมนี้ ทำให้ประเทศในเอเชียจับกระแสดังกล่าว และเพื่อตั้งต้นเองเป็นแชมเปี้ยนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเหล่านั้นโดยในสิงคโปร์ พยายามจับอุตสาหกรรมการเงินและเทคโนโลยี โดยธนาคารขนาดใหญ่ เช่น OCBC และ UOB ตั้งใจที่จะเป็นสถาบันการเงินของภูมิภาค ขณะที่ล่าสุดบริษัทในเครือ TSMC ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปสำคัญของไต้หวัน กำลังวางแผนที่จะลงทุนขนาดใหญ่ในสิงคโปร์

ในเวียดนาม จุดเด่นด้านการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยเป็นฐานการผลิตสำคัญให้กับซัมซุง ในมาเลเซียเน้นในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ IT และดิจิทัลโดยสามารถส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ได้มากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีนและมีดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์สูงสุดเป็นอันดับสอง รองจากไต้หวัน

ขณะที่อินโดนีเซีย ได้เน้นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลักในอนาคตโดยได้ประโยชน์จาก แหล่งแร่ธาตุหายาก โดยเฉพาะนิกเกิลและโคบอลต์จำนวนมากโดยรัฐบาลมีการจัดตั้ง Morowali industrial parkที่เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนิกเกิลเป็นหลักรวมถึงเป็นผู้ผลิตนิกเกิลชั้นนำของโลก

ในส่วนของไทยนั้น ภาพของกระแสโลกที่เปลี่ยนไปท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่หลุดจากสายตาของนักธุรกิจและลงทุนโลกนั้นเป็นความท้าทายของรัฐบาลไทยยุคปัจจุบันอย่างยิ่งในการที่จะดึงความสนใจของภาคธุรกิจระดับโลกกลับมายังประเทศไทยอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม กลยุทธเบื้องต้นที่ได้เห็นจากนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล เช่น ประเด็นด้านการลงทุนและการเปิดตลาดใหม่ๆ นายกฯพยายามจะดึงให้บริษัทขนาดใหญ่มาลงทุนในไทยมากขึ้น ส่งสัญญาณว่าประเทศไทย Open for business และมีจุดแข็งหลายอย่าง (รวมถึงมีโรงเรียนนานาชาติดี และระบบการรักษาสุขภาพดี) และพยายามเน้นทั้งสองทางโดยไม่เลือกทางใดทางหนึ่ง เช่น เน้นให้ทั้งจีนและสหรัฐเข้ามาลงทุนและหลีกเลี่ยงประเด็น Geopolitics และเน้นประเด็นที่เห็นร่วม เช่น Sustainable development goal  carbon neutrality, green bond รวมถึงเน้นทั้งพัฒนารถ EV และรถเครื่องยนต์สันดาปและเน้นทั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆและการพัฒนาด้านเกษตรและระบบชลประทาน นับว่าเป็นความพยายามที่ดี

เศรษฐา ทวีสิน จับมือ สี จิ้นผิง

เศรษฐา ทวีสิน จับมือ วลาดิเมียร์ ปูติน

แต่แม้ว่ารัฐบาลมีความตั้งใจดีผู้เขียนยังกังวลจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญหลายประการ เช่น โครงการระยะสั้นโดยเฉพาะ Digital Wallet ที่ค่อนข้างยากในเชิงปฏิบัติโดยเฉพาะประเด็นแหล่งเงินทุน ขณะที่โครงการระยะยาวจะมีประเด็นด้านความสำคัญและงบประมาณเช่นกัน เช่น ระหว่างระบบชลประทานและการคมนาคมขนส่ง การเลือกส่งเสริมระหว่างรถเครื่องยนต์สันดาปหรือรถ EV  และสุดท้ายประเด็นเสียงต่อต้านจากกลุ่มต่าง ๆ ในนโยบายที่มีหลายส่วนได้เสีย เช่น การเปิดเสรี FTA โครงการประชานิยมที่ขัดกับแนวคิดของนักวิชาการ รวมถึงประเด็นความขัดแย้งเชิงสังคมต่าง ๆ

ด้วยงานที่ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาเช่นนี้ความพยายามที่จะให้ไทยมีSpotlight ฉายแสงในเวทีโลกได้นั้น ก็ยังอีกยาวไกล

advertisement

SPOTLIGHT