ข่าวเศรษฐกิจ

ความมั่งคั่งคนจีนลด จำนวนเศรษฐีพันล้านหาย 290 คนใน 2 ปี เซ่นพิษวิกฤตอสังหาฯ

26 ต.ค. 66
ความมั่งคั่งคนจีนลด จำนวนเศรษฐีพันล้านหาย 290 คนใน 2 ปี เซ่นพิษวิกฤตอสังหาฯ

สถิติชี้ ปี 2023 ความมั่งคั่งของเศรษฐีจีนลดลงอย่างมากจากปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากช่วงการระบาดของโควิด-19 และวิกฤตในภาคส่วนอสังหาริมทรัพย์ โดยพบว่ามีทรัพย์สินรวมกันลดลงถึง 4% ทำให้จีนมีจำนวนเศรษฐีที่มีทรัพย์สินเกินพันล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงถึง 51 คนในปีนี้ และ 290 คนในช่วงสองปีที่ผ่านมา

ข้อมูลนี้มาจากการศึกษาของสถาบันวิจัย Hurun Research Institute ซึ่งได้ออกมาเผยแพร่ Hurun China Rich List 2023 หรือการจัดอันดับมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในจีนประจำปี 2023 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการจัดอันดับความมั่งคั่งของบุคคลชาวจีนทุกคนที่มีทรัพย์สินมากกว่า 5 พันล้านหยวน หรือราว 2.48 หมื่นล้านบาท ขึ้นไป

จากการศึกษา Hurun พบว่าในปีนี้ มีบุคคลในจีนเพียง 1,241 คนเท่านั้นที่มีทรัพย์สินเกิน 5 พันล้านหยวน ลดลง 5% จากปีก่อนหน้า และ 15% จาก 2 ปีก่อนหน้า นับเป็นการลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ตั้งแต่จำนวนมหาเศรษฐีขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 1,465 คนในปี 2021

istock-1395871608

แนวโน้มการลดลงนี้สะท้อนสภาพเศรษฐกิจของจีนที่ยังคงอยู่ในขาลงจากหลายปัจจัย ทั้งกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของประชาชนที่ยังไม่กลับมาจากช่วงที่มีการระบาดของโควิด การผลิตและส่งออกที่ลดลงจากการที่หลายๆ บริษัทเริ่มย้ายหรือกระจายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อลดความเสี่ยงด้านการเมือง ปัญหาความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ที่ทำให้เกิดการกีดกันทางการค้า และที่สำคัญคือวิกฤตสภาพคล่องในวงการอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น

 

เศรษฐีใหม่จีนมาจากภาคเทคฯ และสุขภาพ แทนที่อสังหาฯ และการผลิต

ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากการศึกษาดังกล่าวคือการเปลี่ยนแปลงในสภาพเศรษฐกิจจีน ซึ่งสะท้อนออกมาในรายชื่อของมหาเศรษฐีในจีนที่ในปัจจุบันมักเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของบริษัทเทคโนโลยี และธุรกิจเกี่ยวกับการแพทย์ ไม่ใช่อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ หรืออุตสาหกรรมการผลิตอย่างที่เป็นมา 

ในปี 2023 ผู้ที่ยังครองแชมป์เป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดในจีนเป็นปีที่ 3 ติตต่อกัน คือ Zhong Shanshan จากบริษัทผลิตน้ำแร่ Nongfu ที่มีทรัพย์สินรวมกันถึง 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.25 ล้านล้านบาท ตามมาด้วย Ma Huateng จากบรีษัทเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ Tencent ซึ่งมีทรัพย์สินรวมถึง 3.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

973360

นอกจากนี้ มหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปีนี้ยังล้วนแต่มาจากวงการเทคโนโลยี สุขภาพ หรืออุตสาหกรรมที่กำลังเป็นขาขึ้นอย่างรถยนต์ไฟฟ้า เช่น Colin Huang Zheng เจ้าของบริษัทอีคอมเมิร์ซ Pinduoduo และมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับ 3 ในจีน ที่ในปี 2023 มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นถึง 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 59% จากปีก่อนหน้ามาเป็น 3.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีนี้

รวมไปถึง Samuel Chen เจ้าของ Polaris แพลตฟอร์มให้บริการด้านเภสัชกรรมจากไต้หวัน, Li Jie จากบริษัทขนส่ง J&T Global Express, Xu Yangtian จาก Shein, Wang Chuanfu จาก BYD และ Li Shufu จาก Geely ที่ได้ติดเข้า 10 อันดับแรกมาในปีนี้ด้วยทรัพย์สินรวม 2.41 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

1i9578-highres

อย่างไรก็ตาม ตรงข้ามกับเทรนด์นี้ ในปีนี้มหาเศรษฐีในวงการอสังหาริมทรัพย์จีนกลับได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพคล่องอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนจากทรัพย์สินที่มีมูลค่าลดลง นำโดย Wang Jianlin เจ้าของบริษัท Dalian Wanda Group ที่มูลค่าทรัพย์สินลดลงถึง 7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจากมหาเศรษฐีจำนวน 179 ที่ต้องออกจากลิสต์ไปในปีนี้ ถึง 15% เป็นนักธุรกิจที่มาจากอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์

 

S&P ชี้ศก.จีนอาจโตต่ำกว่า 3% ในปีหน้า หากวิกฤตอสังหาฯ ยังยืดเยื้อ

ในวันที่ 25 ตุลาคม S&P Global Ratings บริษัทจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือระดับโลก ได้ออกมาเผยผลการวิเคราะห์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอาจลดลงไปต่ำกว่า 3% ได้ในปีหน้า หากวิกฤตสภาพคล่องของภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือมีสภาวะเลวร้ายลงจากการล้มละลายของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในประเทศ

โดยในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด S&P คาดว่ายอดขายอสังหาริมทรัพย์ของจีนในปี 2024 อาจลดลงถึง 25% จากปี 2022 ไปเหลือเพียง 10 ล้านล้านหยวน ซึ่งจะทำให้อัตราการเติบโตของ GDP ของจีนตกลงไปเหลือ 2.9% และชี้ว่าหากดูจากตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่ผ่านมาในปีนี้ การเติบโตของ GDP น่าจะอยู่ที่เพียง 4.2% ไม่ถึง 5% อย่างที่รัฐบาลจีนคาดหวัง

ในปัจจุบัน ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังถือเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนเป็นอย่างมาก เพราะคิดเป็นสัดส่วนถึงราว 13% ของ GDP ซึ่งก็ยังเป็นสัดส่วนที่สูงอยู่ แม้จะลงมามากแล้วจาก 25% ในปี 2021 ซึ่งเป็นปีที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนรุ่งเรืองจนถึงขีดสุด และเป็นภาคส่วนที่ดึงเงินลงทุนมหาศาลจากต่างประเทศ

istock-1247484116(1)

ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือบริษัทที่กำลังมีปัญหาและกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนและนักลงทุนในภาคส่วนนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ซึ่งรัฐบาลก็ได้ออกมาตรการมามากมายแล้ว เช่น การลดดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวสำหรับการซื้อบ้าน

โดยล่าสุดในวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังได้ประกาศแผนออกพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 1 ล้านล้านหยวนออกมา เพื่อระดมเงินมาฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการระบายน้ำในพื้นที่เมือง เพื่อเพิ่มศักยภาพของจีนในการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูผลจากความพยายามในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมา  ยังไม่สามารถทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนกลับมาได้  หลายบริษัทใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์อย่าง Evergrande และ Country Garden ยังคงประสบปัญหาหนี้อย่างหนัก และยังไม่สามารถออกแผนปรับโครงสร้างหนี้ที่มีประสิทธิภาพออกมาได้ ทำให้การก่อสร้างโครงการต่างๆ ต้องชะงัก เพราะไม่มีทั้งเงินจ่ายค่าวัสดุและคนงาน โครงการที่มีอยู่ขายไม่ออก ขณะที่ผู้บริโภคประท้วงไม่จ่ายเงินเพราะไม่ได้รับที่อยู่อาศัยในเวลาที่ตกลงกันไว้

ปัญหาวงการอสังหาริมทรัพย์ของจีนจึงนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องติดตาม เพราะถ้าหากหลายบริษัทอสังหาฯ ในจีนล้มขึ้นมาจริงๆ ย่อมส่งผลสะเทือนอย่างยิ่งใหญ่ต่อทั้งเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก 

 

ที่มา: Nikkei Asia, Hurun, Reuters, Bloomberg

advertisement

SPOTLIGHT