เงินเยนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ล่าสุด แตะระดับ 160.87 เยน/ ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนสุดในรอบ 38 ปี จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้เฟดมีโอกาสที่จะไม่ลดดอกเบี้ย กูรูคาดแบงก์ชาติญี่ปุ่นอาจแทรกแซงค่าเงิน หากค่าเงินเยนทะลุไปที่ระดับ 164-165 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินเอเชีย โดยเฉพาะค่าเงินเยนของญี่ปุ่น ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าที่คาด ทำให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์มองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยเพียงหนึ่งครั้ง หรือไม่ลดดอกเบี้ยเลยในปีนี้
ดังนั้น ปัจจัยหลักที่กดดันค่าเงินเยน และค่าเงินเอเชียอื่นๆ อยู่ก็คือการคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ไว้ในระดับปัจจุบันที่ 5.5% ถือว่าห่างมากจากอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นซึ่งยังอยู่ที่เพียง 0.1% ทำให้เงินยังไหลเข้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้าหากเฟดไม่ลดดอกเบี้ย เงินเยนก็มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง
โดยจากต้นปี เงินเยนอ่อนค่าลงแล้วประมาณ 12% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าลงแล้วประมาณ 6% เมื่อเทียบกับค่าเงินบาท
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังมองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ อาจลังเลที่จะเข้าแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงินเยนอีก เพราะการแทรกแซงเงินเยนในปลายเดือนเมษายนและต้นเดือนพฤษภาคมที่มีมูลค่าถึง 9.8 ล้านล้านเยน หรือราว 2.25 ล้านล้านบาท ให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก เพราะแม้จะทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นจนไปแตะระดับ 151.85 เยน/ ดอลลาร์ได้ ไม่นานเงินเยนก็อ่อนค่าลงเช่นเดิม
ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงมองว่า BOJ จะไม่เข้าแทรกแซงค่าเงินเยนจนกว่าจะเห็นว่าจำเป็นจริงๆ หรือเงินเยนจะตกลงไปถึงระดับ 162-163 เยน/ ดอลลาร์ หรือมากกว่านั้น เพราะธนาคารกลางญี่ปุ่นมีเงินทุนสำหรับพยุงเงินเยนเหลืออีกเพียง 2-3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7.4-11 ล้านล้านบาท
สำหรับสัปดาห์นี้ นักลงทุนจับตามองตัวเลข PCE หรือ ดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ที่กำลังจะออกมาในวันศุกร์ เนื่องจากเป็นหนึ่งในอัตราชี้วัดระดับเงินเฟ้อของสหรัฐฯ โดยถ้าหากออกมาต่ำ ก็จะเป็นปัจจัยให้เฟดพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยได้
กรุงศรีมองเงินเยนยังอ่อนลงได้อีก
โดยน.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “SPOTLIGHT” ว่า ปีนี้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงไป 13% เมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า 7% เมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในระยะสั้นนี้ คาดว่าจะเห็นค่าเงินเยนอาจอ่อนค่าต่อ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่วันนี้ยังไม่เห็นการเข้าแทรกแซงครั้งใหม่ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
กรุงไทยประเมิน BOJ จะแทรกแซงช่วง 164-165 เยน/ดอลลาร์
ด้านนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวกับ SPOTLIGHT ว่า ค่าเงินเยนทยอยผันผวนอ่อนค่าลง จนถึงระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์ (เกือบแตะ 161) แม้ว่าจะเป็นระดับที่ทางการญี่ปุ่นเคยเข้าแทรกแซงในช่วงก่อนหน้า ทว่าเงินเยนก็ยังไม่ได้ผันผวนสูงมากจนเกินไป เช่น High-Low มากกว่า 10 เยนต่อดอลลาร์ ในช่วง 1 เดือน
จากข้อมูลนี้ จึงประเมินว่า ทางการญี่ปุ่นจะยังไม่เข้าแทรกแซงค่าเงิน จนกว่าจะเห็นเงินเยนญี่ปุ่นผันผวนอ่อนค่าเร็วและแรงจนเกินไปในระยะสั้น ซึ่งโซนที่จะเห็นการเข้าแทรกแซงตามเงื่อนไขความผันผวนก็อาจเป็นช่วง 164-165 เยนต่อดอลลาร์ หรืออาจเป็นระดับเกิน 162 เยนต่อดอลลาร์ หากเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าวภายใน 2 วัน โดยหากนับตั้งแต่ต้นปี 2024 ค่าเงินเยนได้อ่อนค่าลงเกือบ -6% เมื่อเทียบกับค่าเงินบาท
“เรามองว่า ในระยะสั้น ค่าเงินเยนเทียบกับเงินบาท อาจยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่า 23 บาทต่อ 100 เยน เนื่องจากค่าเงินเยนยังมีความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง โดยปัจจัยหลักจะเป็นการเก็งกำไรของผู้เล่นในตลาด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ทางการญี่ปุ่นจะยังไม่รีบเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงิน ตราบใดที่เงินเยนไม่ได้ผันผวนอ่อนค่าเร็วและแรงในระยะสั้นๆ”
นอกจากนี้ ปัจจัยหลักที่กดดันเงินเยนมาโดยตลาดในปีนี้ อย่างทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เทียบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ก็ยังคงมีอยู่ หลังผู้เล่นในตลาดยังไม่มั่นใจว่า BOJ จะสามารถทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้จริง ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดก็ยังไม่ได้มั่นใจเต็มที่ว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้
อย่างไรก็ดี หากเงินเยนไม่ได้ถูกกดดันเพิ่มเติมจากการเก็งกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เผชิญแรงกดดันจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายของเฟด เช่น ตลาดเริ่มกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้เพียง 1 ครั้งในปีนี้ ตาม Dot Plot เดือนมิถุนายน และมองว่าเงินบาทก็มีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่าลงเช่นกัน ทำให้เงินเยนเทียบบาท (JPYTHB) ก็อาจไม่ได้ปรับตัวลดลงไปมากนัก
แต่ในระยะกลางถึงระยะยาว นายพูน ยังคงมีมุมมองเดิมว่า เมื่อตลาดเริ่มเห็นความชัดเจนของการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟด เงินเยนก็มีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากโมเดลประเมินมูลค่าเงินเยน โดยอาศัยส่วนต่างบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ เทียบ บอนด์ยีลด์ญี่ปุ่น ระดับเงินเยนที่สอดคล้องกับ ส่วนต่างบอนด์ยีลด์ดังกล่าวล่าสุด คือ 155-156 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้มองว่า เงินเยนก็มีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้นกลับสู่ระดับดังกล่าว และภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก หาก BOJ เริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น การลดปริมาณการเข้าซื้อบอนด์ และการทยอยขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
ใครวางแผนเที่ยวญี่ปุ่นขณะนี้ได้เปรียบ
เรื่องการไปเที่ยวญี่ปุ่น ควรวางแผนอยู่บนความพร้อมของนักท่องเที่ยวชาวไทยมากกว่าจะพิจารณาจากเรื่องค่าเงินถูกเพียงอย่างเดียว ทว่า ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าเทียบกับเงินบาทก็ทำให้ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีแผนจะเดินทางไปญี่ปุ่น มีความได้เปรียบพอสมควร เนื่องจาก ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในญี่ปุ่น ได้ทำให้ ราคาสินค้า ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ปรับตัวสูงขึ้นพอสมควร เมื่อเทียบกับ ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในช่วงก่อน COVID ดังนั้น
Krungthai GLOBAL MARKETS คงมุมมองเดิมว่า ณ ระดับค่าเงินเยนที่ต่ำกว่า 23 บาทต่อ 100 เยน ก็ถือว่า เป็นระดับที่ถูกและน่าสนใจในการทยอยแลก ซึ่งนักท่องเที่ยวก็อาจปิดความเสี่ยงจากการแลกค่าเงินเยนดังกล่าวได้
ในกรณีที่กังวลว่า เงินเยนอาจผันผวนอ่อนค่าลงไปมากกว่าระดับที่แลกไว้ โดยเฉพาะในส่วนของ เงินเยนเทียบดอลลาร์ ผ่านการใช้ USDJPY Futures ในตลาด TFEX หรืออาจจะใช้การลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น ผ่านกองทุนรวม หรือแม้กระทั่ง DR เนื่องจากหากเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ยังทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องได้ ก็อาจส่งผลดีต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มส่งออก หรือ บรรดาบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (MNCs) ได้ ซึ่งผู้เล่นในตลาดอาจจับตากลุ่มเทคฯ อย่าง กลุ่ม AI/Semiconductor