ข่าวเศรษฐกิจ

ส่องเศรษฐกิจไทย ปีมังกร ธาตุไม้ 2024

1 ม.ค. 67
ส่องเศรษฐกิจไทย ปีมังกร ธาตุไม้ 2024

ปี 2023 ผ่านไปแล้ว เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ แต่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2024 จะเป็นอย่างไร จะเติบโตได้แค่ไหน ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามีอะไรบ้าง

SPOTLIGHT ได้รวบรวมมุมมองต่อเศรษฐกิจ จากหน่วยงานที่สำคัญต่างๆ มีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทย ปี 2024 อย่างไรบ้าง

โดยศูนย์วิจัยกรุงศรี คาดการณ์เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากสุดถึง 3.4% ขณะที่ธนาคารโลก และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โต 3.2% หากรวมนโยบาย Digital Wallet จะโต 3.7-4.2%

เศรษฐกิจไทยปี 2024

เศรษฐกิจไทยปี 2024 นั้น ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณ 3% ปรับลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.6% แต่หากนโยบาย Digital Wallet ดำเนินการได้เต็มวงเงิน 5 แสนล้านบาท จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ถึง 4% 

ความท้าทายของเศรษฐกิจไทย ปี 2024 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังเผชิญความท้าทาย 3 ปัจจัย คือ 

  1. 1. การส่งออกฟื้นตัวได้จำกัด จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงยาวนาน ซึ่งเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นในปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตช้าลงและอาจขยายตัวไม่ถึง 5% จากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ 
  2. นักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวช้ากว่าคาด ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจจีนยังมีความเปราะบาง และจีนมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้ง ยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยจากการท่องเที่ยวในไทย  ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณ 32.9 ล้านคน 
  3. นโยบายการเงินของไทยที่ตึงตัว เกิดจากภายหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลอดปี 2566 ส่งผลต่อต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจและครัวเรือน นอกจากนี้ ยังต้องติดตามมาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible lending) ของธปท.ที่เน้นเรื่องวินัยการไม่สร้างหนี้เกินกำลัง โดยจะบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2567 ซึ่งอาจกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของครัวเรือน

ภาคธุรกิจจับตาและรับมือกระแสโลกที่เปลี่ยนไป

ภาคธุรกิจยังต้องจับตาและเตรียมรับมือกับกระแสโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ทั้งความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจรุนแรงขึ้นและกระแสแยกขั้ว (Decoupling) ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เข้มข้นและกระจายออกไปในหลายมิติ 

ความไม่แน่นอนทางการเมืองหลังการเลือกตั้งสำคัญในหลายภูมิภาค ทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันเดือนมกราคม การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียเดือนกันยายนและการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายน 

รวมถึง การปรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จากการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงไปสู่การเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะสร้างความผันผวนทางการเงินในช่วงการเปลี่ยนผ่านโดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกรุงศรีคาดเศรษฐกิจไทยปี 2567 การบริโภคภาคชะลอตัวลง เหลือ 3.3% จากปี 2566 ที่ 7.1% ที่ได้รับผลบวกจากการเปิดประเทศ และแรงส่งจาก Pent-up demand รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง

แต่การบริโภคภาคเอกชนยังมีการขยายตัว และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ แต่ขยายตัวในอัตราที่ลดลง ปัจจัยที่ส่งผลให้มีการเติบโตนั้น มาจากการจ้างงานเพิ่มขึ้นและมีแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ เช่น E-Receipt ในช่วงต้นปี 2567 และมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพ เป็นต้น

โดยปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยมีกว่า 16 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วนสูงกว่า 90% ของ GDP ซึ่งถือเป็นระดับสูงอันดับต้นๆ ของโลก จากข้อมูลธปท.ระบุหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ 

ดังนั้น ปัญหาหนี้ครัวเรือน จึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญและฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในระยะข้างหน้า หากไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งรัฐบาลจึงมีการยกระดับการแก้ไขหนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ และคาดว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนกว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมอาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ทำให้แนวโน้มการเติบโตของการบริโภคภาคครัวเรือนจึงมีข้อจำกัด 

CIMBT คาดค่าเงินบาทกลับมา “แข็งค่า” แตะ 33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในสิ้นปี 2567

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่า 2% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงมีแนวโน้มมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้อาจรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.50% เป็น 2.00% ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ธปท.อาจเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมจนถึงสิ้นปีเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดเงินในกรณีที่มีการออกดิจิทัลวอลเล็ต

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน คาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ตามการคาดการณ์ ควบคู่ไปกับราคาน้ำมันที่ทรงตัว และรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้ไทยมีฐานะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น และเอื้อให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าและมีเสถียรภาพได้ และคาดว่าเงินบาทจะแตะ 33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯภายในสิ้นปี 2567

ซีไอเอ็มบีไทย

รัฐบาลหวังรายได้จากการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท

รายได้จากการท่องเที่ยวของไทย ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการช่วยขับเคลื่อนตัวเลขเศรษฐกิจของไทย โดยรัฐบาลไทยปรับเพิ่มเป้าหมายในปี 2567 ที่จะเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 3.5 ล้านล้านบาท  จากเดิม 3 ล้านล้านบาท มาจากรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศ 1 ล้านล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.5 ล้านล้านบาท


โดยผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง การทำให้ประเทศไทยเป็น High Season ตลอดทั้งปี เพิ่มการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว เชื่อมต่อการเดินทาง และสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องของไทย ซึ่งยังมีศักยภาพ และโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยรัฐบาลได้เพิ่มเป้าหมายเชิงนโยบายในการดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2567” นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยข้อมูลจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยสะสมตลอดทั้งปี 2566 (1 มกราคม - 24 ธันวาคม 2566) อยู่ที่ 27,252,488 คน ตามเป้าหมายของรัฐบาล จากเป้าหมายประมาณ 25 - 28 ล้านคน

โดยนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเดินทางเข้าไทยมากที่สุดถึง 4,439,480 คน รองลงมา ได้แก่ จีน 3,418,732 คน, เกาหลีใต้ 1,616,858 คน, อินเดีย 1,587,090 คน และรัสเซีย 1,428,985 คน

โดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งธนาคารโลก, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, SCB EIC, ttb Analytics , Krungthai Compass, ศูนย์วิจัยกรุงศรี และ​ซีไอเอ็มบี ต่างคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวมากกว่า 30 ล้านคน โดย SCB EIC คาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวมากที่สุดทื่ 36.2 ล้านคน 

ttb Analytics แนะรัฐต่อยอดแหล่งท่องเที่ยว เพิ่มการเที่ยวซ้ำ

ttb

ttb Analytics ชี้ไทยเที่ยวไทยมีโอกาสสร้างเม็ดเงินได้มากกว่า 1 ล้านล้านบาท แนะรัฐเร่งพัฒนาต่อยอดแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดการเที่ยวซ้ำ ก่อนการเที่ยวไทยจะกลายเป็น “เที่ยวเมืองไทยเคยไปมาแล้ว” เพราะในอีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรไทยวัยท่องเที่ยวจะลดลง เหลือ 36.1 ล้านคน จากปัจจุบันมีอยู่ที่ 38.7 ล้านคน

โดยเสนอแนวทางเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเที่ยวซ้ำ (Revisit Intention) ดังนี้

  • เชื่อมโยงสิ่งดึงดูด : การเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อสร้างเรื่องราวการเดินทาง และอาจเชื่อมโยงผ่านความเกี่ยวเนื่องด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือวัฒนธรรม
  • สร้างสรรค์ สิ่งดึงดูด ด้านวัฒนธรรม : การขับเคลื่อนผ่านวัฒนธรรมทางวัตถุที่สามารถสะท้อนเอกลักษณ์แต่ละพื้นที่ และสร้างสรรค์วัฒนธรรมด้านจิตใจในแต่ละท้องถิ่น เพื่อสร้าง Soft Power
  • เชื่อมโยงวัตถุประสงค์อื่น : การผนวกวัตถุประสงค์การท่องเที่ยวให้เข้ากับวัจถุประสงค์รองในอุตสาหกรรมอื่นๆ และสร้างวัตถุประสงค์การท่องเที่ยวซ้ำบนกิจกรรมต่างๆ หรือรายได้หมุนเวียนสำหรับการพักอาศัยระยะยาว (Long Stay)

สำหรับกุญแจสำคัญในการไข 'ปริศนามังกร' นั้น สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย   อยู่ที่ไทยจะรักษาสมดุลทิศทางดอกเบี้ยขาลงของตลาดการเงินโลกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างราบรื่นมากน้อยแค่ไหน โดยไม่ส่งผลกระทบให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งสูงหรือให้เงินไหลออก เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มสดใสมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลง ซึ่งคงเห็นความชัดเจนมากขึ้นในช่วงกลางปี 2567 นี้

ดังนั้น ปีใหม่นี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายหลายประการก็ตามที แต่ภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไปอย่างเรา ก็คงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองไทย และของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อที่จะสามารถปรับตัว และวางแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ทันเวลา โดยเฉพาะการบริหารเงิน บริหารธุรกิจ และการลงทุนต่างๆ เพื่อรักษาอัตราผลตอบแทนให้อยู่ในระดับที่ไม่ขาดทุน หรือมีความเสี่ยงมากนัก

advertisement

SPOTLIGHT