ข่าวเศรษฐกิจ

สภาอุตฯ เตือนปริมาณมลพิษอาจทำกระทบภาคท่องเที่ยว ชะลอการฟื้นตัวศก.ไทย

7 มี.ค. 66
สภาอุตฯ เตือนปริมาณมลพิษอาจทำกระทบภาคท่องเที่ยว ชะลอการฟื้นตัวศก.ไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตือนค่ามลพิษและฝุ่น PM 2.5 ที่จะสูงขึ้นในช่วงฤดูแล้งอาจทำให้นักท่องเที่ยวที่วางแผนมาเยือนประเทศไทยเปลี่ยนใจ เลื่อนการเดินทาง หรือเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศอื่นแทน กระทบการท่องเที่ยวในเมืองสำคัญเช่น กรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดท่องเที่ยวในภาคเหนืออย่างเชียงใหม่ หรือลำปาง

หลังจากเปิดประเทศ ประเทศไทยก็เดินหน้ากระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ดึงชาวต่างชาติกลับมาจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทย จนมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเที่ยวไทย สะสมรวมกว่า 11,818,727 คน และสร้างรายได้ให้กับไทยถึง 1.25 ล้านล้านบาท 

ในปี 2566 รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กลับมาอยู่ที่ร้อยละ 80 ของช่วงก่อนสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาร้อยละ 50 หรือไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน ตลอดจนสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 2.38 ล้านล้านบาท โดยเดินหน้าส่งเสริมการท่องเที่ยวกับนานาประเทศ 

โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินการเริ่มกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 ว่าจะช่วยเพิ่มความคึกคักให้กับภูมิภาคปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ภาคใต้ และภาคตะวันออก ให้ฟื้นตัวในเชิงปริมาณที่ 80%, 84%, และ 104% ตามลำดับ และคาดว่า ในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนประเทศไทย เป็นจำนวนถึง 28 ล้านคน สร้างมูลค่าการท่องเที่ยวกว่า 1.44 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุน จากกลุ่มนักท่องเที่ยว ได้แก่ กลุ่มตะวันออกกลาง กลุ่มนักท่องเที่ยวจากอินเดีย และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีระยะพักแรมนาน หรือ expat เช่น กลุ่มยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปีนี้คาดว่า มูลค่าการท่องเที่ยวไทยจะเติบโตในอัตราเร่ง 2.25 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในปีนี้ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอาจเป็นไปแบบไม่ทั่วถึง หรือไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอเพราะสภาพอากาศที่กำลังเลวร้ายลงอย่างมากในไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่อากาศแห้งและปริมาณฝุ่นมักจะเพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ

จากสถิติ คุณภาพอากาศของไทยจะเริ่มย่ำแย่ลงในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ และเลวร้ายคงที่ในช่วงเดือนเมษายนเพราะชาวไร่ชาวสวนจะเริ่มเผาไร่อ้อยเพื่อเตรียมเพาะปลูกพืชล็อตใหม่ในช่วงนั้น รวมไปถึงมลพิษจากการเดินทางจราจร โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวมากที่สุดก็คือ หลายๆ จังหวัดในภาคเหนือ 

จากข้อมูลในโพสต์เฟซบุ๊กของ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตร สิ่งแวดล้อม จุดเผาในไทยเพิ่มขึ้นจาก 2,082 จุด เป็น 2,583 จุด โดยมีมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน เป็นรองแค่เมียนมาที่มีจำนวนจุดเผาอยู่ที่ 6,701 จุด รวมไปถึงจุดเผาด้านการเกษตร นำโดยการเผาไร่ข้าว 178 จุด ตามมาด้วยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 68 จุด และอ้อย 62 จุด

ในปี 2565 จากข้อมูลของ IQAir ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุดเป็นอันดับที่ 45 ของโลก และเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดก็คือ เมืองลำปาง จังหวัดลำปาง

ภายในปลายเดือนมกราคมปี 2566 มีผู้เข้าพบแพทย์ด้วยปัญหาในระบบทางเดินหายใจแล้วถึง 380,000 คน

 

 

ที่มา:  Nikkei Asia, ttb analytics, IQAir

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT