การเงิน

ตลท.-กลต. ยันหุ้นไทยร่วงไม่เกี่ยว Short Sell/Robot Trade แต่เพราะนลท.ขาดความเชื่อมั่น

9 พ.ย. 66
ตลท.-กลต. ยันหุ้นไทยร่วงไม่เกี่ยว Short Sell/Robot Trade แต่เพราะนลท.ขาดความเชื่อมั่น

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ยืนยันหุ้นไทยร่วงวันนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการชอร์ตเซลล์หรือใช้โปรแกรมในการเทรดของนักลงทุนต่างชาติอย่างที่มีข่าวลือ เพราะปริมาณการชอร์ตเซลล์ไม่เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งสัดส่วนนักลงทุนที่ใช้โปรแกรมในการซื้อขายหุ้นยังเป็นส่วนน้อย

วันนี้ 10 พ.ย. ตลาดหุ้นร่วงหนักเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน โดยระหว่างวันดัชนีเคลื่อนไหวลงไปต่ำสุดที่ 1,387.41 จุด ลดลง17.56 จุด หรือมากกว่า 1% ดัชนีหลุด 1,400 จุดอีกครั้ง มูลค่าการซื้อขายมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท  ขณะที่เมื่อวานนี้ (9 พ.ย.66) ตลาดหุ้นไทยเผชิญปัจจัยลบหลายประการจนมีการปรับตัวลดลง ปิดตลาดเช้าดิ่ง 18 จุด หรือ -1.29% และลดลงไปทดสอบระดับต่ำสุดที่บริเวณ 1,389.46 จุด หรือลดลง 22.31 จุดในเวลา 12.25 น. ก่อนปิดที่ 1,404.97 จุด ลดลง 6.80 จุด หรือ 0.48% จากวันก่อนหน้า

ทำให้นักลงทุนเกิดความตื่นตระหนก และมีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่หุ้นไทยลดลงนั้น เป็นเพราะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาชอร์ตเซลล์และใช้โปรแกรมเทรดกดให้ราคาหุ้นไทยลดลง 

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงงาน media briefing เรื่อง "การติดตามสภาวะตลาดทุนร่วมกันระหว่าง ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ"  ณ เวลา 17.00 - 18.00 น. ของวันที่ 9 พ.ย.66 ซึ่งให้ข้อมูลโดยนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทางตลท. และกลต. ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าข้อสังเกตนั้น ‘ไม่มีข้อมูลหรือสถิติมารองรับ’

สัดส่วนชอร์ตเซลล์ไม่เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ สัดส่วน HFT น้อย

ข้อมูลของ ตลท. และกลต.พบว่า สัดส่วนการชอร์ตเซลล์ของนักลงทุนทั้งในตลาดหุ้น คือ SET-mai และ สำหรับตลาดทุนทั้งหมดของไทยไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยสำหรับหลักทรัพย์ทุกประเภท รวมหุ้น DR และ EFT ในวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2023 สัดส่วน Short Sell ต่อมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดของไทยอยู่ที่ 5.6% จาก 5.4% ในปี 2022 ทำให้เพิ่มขึ้นมาเพียง 0.2% 

ขณะที่สำหรับหุ้นใน SET และ mai สัดส่วน Short Sell อยู่ที่ 10.22% มูลค่าเฉลี่ย 5,652 ล้านบาทต่อวัน จาก 8.97% มูลค่าเฉลี่ย 6,888 ล้านบาทต่อวัน ในปี 2022 ทำให้นอกจากจะไม่มีการเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญแล้ว มูลค่าเฉลี่ยต่อวันยังลดลงอีก

นอกจากนี้ ตลท. ยังชี้แจงอีกว่า แม้นักลงทุนต่างชาติ มีสัดส่วนทำ Short Sell ในหุ้น SET 100 ที่เฉลี่ยสูง 10% สูงกว่านักลงทุนรายย่อย 2% จริง แต่ตลท. ไม่พบนัยยะต่อการกดราคาหุ้นให้ลดลง ในทางกลับกันพบว่าการทำ Short Sell ของนักลงทุนรายย่อยในประเทศไทยสามารถทำให้หุ้นใน SET 50 ลดลงได้มากกว่าเพราะราคาหุ้นที่รายย่อย Short Sell ไว้มาก ราคาก็ตกลงมามากด้วย

ทั้งนี้ หากมาดูอีกปัจจัยที่มีการจับตามอง คือ การเทรดโดยใช้โปรแกรม หรือ Automatic/ Robot Trading โดยเฉพาะ High Frequency Trading (HFT) เพื่อทุบราคาหุ้นนั้น 

ตลท. ได้แถลงว่าในช่วง 10 เดือนแรก สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติที่ใช้ HFT ในการเทรดคิดเป็น 10% เท่านั้น ขณะที่ผู้ที่ใช้โปรแกรม Non-HFT ในการเทรดคิดเป็น 24% ทำให้สัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติที่ใช้โปรแกรมในการเทรดถือว่าเป็นส่วนน้อย และไม่น่าจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาหุ้น

ดังนั้น ข้อสังเกตที่ว่า การที่หุ้นไทยลดลงเพราะมีการทำชอร์ตเซลล์ของนักลงทุนต่างชาติและมีการใช้โปรแกรมเทรดนั้น ‘ไม่มีหลักฐานทางสถิติมารองรับ’

นอกจากนี้ ทางกลต. และตลท. ยังมีกลไกในการตรวจสอบพฤติกรรมการเทรดของนักลงทุนในระดับแอคเคาท์และตัวหุ้น และในขณะนี้ยืนยันว่า ยังไม่มีการตรวจพบการเทรดหรือการชอร์ตเซลล์ที่ผิดปกติ 

ดังนั้น ทางสององค์กรจึงอยากให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่า ทางตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานกำกับดูแลได้กำลังทำงานกันอย่างแข็งขันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของนักลงทุน และยังไม่มีแผนที่จะมีการแบนการชอร์ตเซลล์อย่างถาวรเพราะจะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด

ตลท. ชี้หุ้นไทยลงเพราะนลท. ขาดความเชื่อมั่น

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ ตลาดหุ้นไทยลดลง และทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุนต่างชาตินั้น ดร.ภากร ชี้ว่าเป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและบริษัทจดทะเบียนของไทย เพราะ performance ของตลาดหุ้น อาจไม่ได้สะท้อนผลการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัทไทยแต่เป็นมุมมองและทัศนคติของนักลงทุนที่มีต่อตลาดไทย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นตลาดหุ้นไทยนั้นก็เป็นหน้าที่ของนักวิเคราะห์ที่ต้องช่วยกันหาคำตอบ

ตลท. ยังชี้แจงอีกว่าแม้ในปัจจุบันจะมีการเทขายจากนักลงทุนต่างชาติในปริมาณสูงในปีนี้ แท้จริงแล้วทั้งมูลค่าและสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติในปีนี้ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

โดยจากข้อมูลในวันที่ 31 ตุลาคม นักลงทุนต่างชาติถือครองหุ้นไทย 29.22% มูลค่า 4.94 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่ได้ลดลงมากจากปี 2022 ที่นักลงทุนต่างชาติถือครองหุ้นไทย 29.34% มูลค่า 5.28 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ หากมองแยกเป็นราย Sector จะพบอีกว่าการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติในบางภาคส่วน เช่น เทคโนโลยี บริการ และการเงิน ยังมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทำให้การมองการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของสัดส่วนในภาพรวมนั้นอาจไม่ได้สะท้อนสภาพการลงทุนที่แท้จริง เพราะแม้จะมีบางภาคส่วนที่มีการไหลออกของเงินทุน บางภาคส่วนกลับมีเงินไหลเข้า สะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติยังมีความเชื่อมั่นในศก.ไทยสูงในบางภาคส่วน 

advertisement

SPOTLIGHT