ไลฟ์สไตล์

บัญชีจุฬาฯ ชี้ อีก 4 ปี งานลดลง 14 ล้านตำแหน่ง แนะงานเทคฯ AI มาแรง

23 พ.ค. 66
บัญชีจุฬาฯ ชี้ อีก 4 ปี งานลดลง 14 ล้านตำแหน่ง แนะงานเทคฯ AI มาแรง

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) ชี้ในอีก 4 ปี ตำแหน่งงานทั่วโลกจะลดลงสุทธิประมาณ 14 ล้านตำแหน่งจากการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ แนะภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา และผู้มีอาชีพสุ่มเสี่ยงเร่งปรับตัวเสริมทักษะอาชีพ โดยเสนอพัฒนา 10 ทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดอาชีพในปัจจุบันและในอนาคต

ข้อมูลดังกล่าวมาจากรายงานอาชีพในอนาคต (Future of Jobs Report) ซึ่ง CBS เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ได้ร่วมงานกับ World Economic Forum (WEF) ทำการสำรวจทิศทางอาชีพในอนาคต (Future of Jobs Survey) โดยรวบรวมมุมมองจาก 803 บริษัท ซึ่งรวมการจ้างงานมากกว่า 11.3 ล้านคน ใน 27 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 45 ประเทศจากทุกภูมิภาคทั่วโลก

จากการสำรวจ CBS พบภายในปี 2570 งานประมาณ 23% จะเปลี่ยนแปลงภายในปี 2570 โดยมีการสร้างงานใหม่ 69 ล้านตําแหน่ง และการยุบงาน 83 ล้านตําแหน่ง จากงานทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 673 ล้านตำแหน่งในปัจจุบัน ทำให้เท่ากับจะมีงานลดลงสุทธิ 14 ล้านตำแหน่ง หรือ 2% ของการจ้างงานในปัจจุบันเนื่องจากการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ โดยงานที่เสี่ยงถูกเทคโนโลยีแทนที่มากที่สุด 5 อันดับก็คือ 

  1. พนักงานธนาคารและตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง (bank tellers and related clerks) 
  2. พนักงานให้บริการไปรษณีย์ (postal service clerks) 
  3. พนักงานเก็บเงินและพนักงานขายตั๋ว (cashiers and ticket clerks) 
  4. พนักงานบันทึกข้อมูล (data entry clerks)
  5. เลขานุการฝ่ายบริหาร (administrative and executive secretaries)

 

งานด้านความยั่งยืน-การศึกษา-การเกษตร แนวโน้มเติบโตสูง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเข้ามาของเทคโนโลยีจะทำให้บางงานเสี่ยงหายไป เทคโนโลยีก็อาจทำให้งานบางประเภทเป็นที่ต้องการมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยส่วนมากเป็นอาชีพที่มีเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักวิเคราะห์ข้อมูล (data analysts) ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลมหัต (big data specialists) ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI machine learning specialists)  และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity professionals) ซึ่งคาดว่าจะเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 30% ภายในปี 2570 

นอกจากนี้ CBS ยังคาดว่างานทางด้านพาณิชย์ดิจิทัล (digital commerce) เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ (e-commerce specialists)  ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (digital transformation specialists) และผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัลและกลยุทธ์ (digital marketing and strategy specialists) จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านตำแหน่ง 

ทั้งนี้ นอกจากงานด้านเทคโนโลยีแล้ว ยังมีงานในอีก 3 ภาคส่วนที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในช่วงปี 2466-2570 นั่นก็คือ งานด้านความยั่งยืน งานด้านการศึกษา และงานด้านการเกษตร 

จากรายงาน CBS ระบุว่าใน 4 ปีต่อจากนี้ ‘งานด้านความยั่งยืน’ มีแนวโน้มเติบโตถึง 33% นำไปสู่การจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านตำแหน่ง ในขณะที่ ‘งานด้านการศึกษา’ มีแนวโน้มเติบโต 10% นำไปสู่งานเพิ่มขึ้น 3 ล้านตำแหน่ง และ ‘งานด้านการเกษตร’ มีแนวโน้มเติบโต 15-30% นำไปสู่งานเพิ่มขึ้น 4 ล้านตำแหน่ง

 

ทักษะด้านเทคโนโลยี-การคิดวิเคราะห์จำเป็นในอนาคต

เพื่อเอาตัวรอดในตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูงขึ้นในอนาคต ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) กล่าวว่า องค์กรต่างๆ ควรเร่งปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานโลก และกำหนดกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการสร้างทักษะใหม่ โดยให้ความสำคัญและลงทุนกับการฝึกอบรมพนักงาน

โดยทักษะที่จะมีความสำคัญมากในอนาคตก็คือ ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูลมหัต (big data) รวมไปถึงทักษะในการคิดเชิงวิเคราะห์ (analytical thinking) และการคิดเชิงสร้างสรรค์ (creative thinking) 

dddddddddddd

นอกจากนี้  ดร.วิเลิศ ยังกล่าวอีกว่า องค์กรต่างๆควรคำนึงถึงการเพิ่มความสามารถในการทำงานข้ามบทบาท การเพิ่มความพึงพอใจของพนักงาน และการเพิ่มผลผลิตของพนักงาน ในขณะที่สถาบันการศึกษาก็ควรเร่งปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเสริมทักษะองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การคิดเชิงวิเคราะห์ และการคิดเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนองค์ความรู้และประสบการณ์เพื่อรองรับอาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ให้กับนักเรียน นิสิต นักศึกษา โดยต้องไม่ทำหน้าที่เป็นเพียงสถาบันที่ให้ความรู้และประสบการณ์การเรียน แต่ต้องเป็นการบ่มเพาะความฉลาด และเสริมสร้างพรสวรรค์ (wisdom and talent incubator) โดยการเพิ่มพูนทักษะรอบด้าน เพื่อพัฒนาทั้งคุณภาพชีวิตตนเองและสร้างคุณค่าให้กับโลกในภาพรวมด้วย








advertisement

SPOTLIGHT