Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ไทยเจอเงินเฟ้อติดลบครั้งแรกในรอบ13 เดือนแต่ทำไมยังไม่ถือว่าเป็นเงินฝืด
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ไทยเจอเงินเฟ้อติดลบครั้งแรกในรอบ13 เดือนแต่ทำไมยังไม่ถือว่าเป็นเงินฝืด

7 พ.ค. 68
17:08 น.
แชร์

เดือนเมษายน 2568 ประเทศไทยเผชิญกับปรากฏการณ์ “เงินเฟ้อติดลบ” หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ลดลง - 0.22% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน แต่กระทรวงพาณิชย์ยังยืนยันว่า “ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด” แล้วอะไรคือเหตุผล?

เงินเฟ้อติดลบ เพราะอะไร?

ก่อนอื่นมาดูสาเหตุของการลดลงของอัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีข้อมูลว่า มีสาเหตุหลักจาก

  • ราคาพลังงานลดลง เช่น น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และค่าไฟฟ้า ตามราคาน้ำมันดิบโลก
  • มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล เช่น การลดค่าไฟฟ้าในช่วงสงกรานต์
  • ราคาผักสดและไข่ไก่ลดลงจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต
  • กลุ่มสินค้าหมวดอื่น ๆ เช่น แชมพู สบู่ น้ำยาทำความสะอาด เสื้อผ้า และเครื่องใช้ส่วนบุคคลราคาลดลงเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าสินค้าทุกอย่างจะถูกลง ในทางกลับกันยังมีสินค้าบางกลุ่มที่ราคาสูงขึ้น เช่น

  • เนื้อสัตว์ โดยเฉพาะราคาเนื้อหมู  อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุง น้ำมันพืช
  • กาแฟ น้ำอัดลม ขนมหวาน
เงินเฟ้อเมษายน ติดลบ

ทำไม “เงินเฟ้อติดลบ” ยังไม่เท่ากับ “เงินฝืด”?

แม้เงินเฟ้อจะติดลบ แต่กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า ยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด (Deflation) ด้วยเหตุผลคือ 

  1. เงินเฟ้อติดลบเป็นเพียงระยะสั้น เกิดจากราคาน้ำมันและมาตรการรัฐ ไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจถดถอย
  2. อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งไม่รวมอาหารสดและพลังงาน ยังอยู่ในแดนบวก +0.98% (YoY) และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
  3. เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 4 เดือนแรกปี 2568 ยังอยู่ในแดนบวกที่ +0.75% สะท้อนว่าราคาโดยรวมยังไม่ลดต่อเนื่องในวงกว้าง
  4. ไม่มีพฤติกรรมผู้บริโภคชะลอซื้อของเพื่อรอราคาลดลง ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของเงินฝืด
เงินเฟ้อติดลบ

คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2568 เป็นอย่างไร?

แม้เมษายนจะเงินเฟ้อติดลบ แต่ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2568 เฉลี่ยอยู่ที่ +0.8% โดยมีปัจจัยหนุนและเสี่ยง ดังนี้

ปัจจัยกดดันเงินเฟ้อลดลง

  • ราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกลดลงชัดเจน
  • การลดค่าไฟฟ้ารอบใหม่ (พ.ค.–ส.ค. 68)
  • ราคาผักสดในปีก่อนสูงเพราะภัยพิบัติ แต่ปีนี้ผลผลิตดี
  • กิจกรรมส่งเสริมการตลาดของเอกชน

ปัจจัยเสี่ยงดันเงินเฟ้อสูงขึ้น

  • ราคาดีเซลยังสูงกว่าปีก่อน
  • สินค้าเกษตรบางรายการเริ่มขยับขึ้น เช่น มะพร้าว มะขามเปียก น้ำมันพืช และเนื้อสุกร

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2568 คาดว่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกับเดือนเมษายน 2568 และ มีแนวโน้มจะติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 

เงินเฟ้อเดือนเมษายน ติดลบ


ส่วนมุมมองของหลายสำนักคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2568 ไว้ใกล้เคียงกัน ตั้งแต่ 0.5 -1.0% 

  • กระทรวงพาณิชย์ - 0.8%
  • กระทรวงการคลัง - 0.8%
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย - 0.5% (อาจต่ำสุดที่ 0.2%)
  • SCB EIC, KResearch - 0.5%
  • ศูนย์วิจัยกรุงศรี - 1.0%

แม้ตัวเลขจะสะท้อนว่า “ราคาสินค้าโดยรวมลดลง” แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่แสดงอาการที่เป็น “เงินฝืด” อย่างแท้จริง เช่น ความต้องการบริโภคลดลงเป็นวงกว้าง การเลิกจ้าง หรือการชะลอจับจ่ายใช้สอยจากประชาชน

ในระยะสั้น ผู้บริโภคอาจได้ประโยชน์จากราคาสินค้าบางกลุ่มที่ลดลง แต่ในระยะยาว หากราคาสินค้าต่ำเกินไป อาจกระทบรายได้ของผู้ผลิตและภาคธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลและนักวิเคราะห์ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่เศรษฐกิจไทยอาจถูกกระทบหนักจากสงครามการค้า หากการเจรจาการค้าแล้วภาษีไม่ลดลง ภาคการส่งออก การจ้างงาน หากกระทบหนักคงต้องมาประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

ที่มา: สำนักงานนโยบายยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

แชร์
ไทยเจอเงินเฟ้อติดลบครั้งแรกในรอบ13 เดือนแต่ทำไมยังไม่ถือว่าเป็นเงินฝืด