สำหรับผู้นำที่เคยหาเสียงด้วยคำขวัญ “America First” พร้อมด้วยนโยบายที่จะพาสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากเวทีระหว่างประเทศ การเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งใหญ่ครั้งแรกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังการดำรงตำแหน่งในวาระที่สองกำลังส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนทิศทางนโยบายต่างประเทศอย่างชัดเจน และนี่อาจจะหมายความว่า เขากำลังจะก้าวมามีบทบาทในฐานะผู้นำในเวทีโลกมากขึ้น อย่างน้อยก็เมื่อทรัมป์พิจารณาแล้วว่า สิ่งนั้นมีประโยชน์ต่อตัวเขาเอง
ในช่วงไม่กี่เดือนแรกหลังการรับตำแหน่ง ทรัมป์ได้ปรับบทบาทของสหรัฐฯ ในเวทีโลกอย่างแข็งกร้าว แต่การเดินทาง 4 วันผ่านซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในสัปดาห์นี้ กำลังตอกย้ำภาพผู้นำที่กำลังรื้อสร้างพันธมิตรดั้งเดิมใหม่ และเข้าไปมีบทบาทในความขัดแย้งระดับโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
การตัดสินใจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรซีเรีย และการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกในรอบ 25 ปีที่พบปะกับผู้นำซีเรีย นับเป็นการเคลื่อนไหวที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนความมุ่งมั่นเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีโลก ซึ่งอะไรเหล่านี้เป็นสิ่งที่แทบไม่ปรากฏในแนวคิด “MAGA” (Make America Great Again) หรือการทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง และไม่สอดคล้องกับมุมมองของพันธมิตรฝ่ายขวาที่สนับสนุนเขาอย่างเหนียวแน่น
การพบปะกับประธานาธิบดีรักษาการของซีเรีย อาเหม็ด อัล-ชารา ซึ่งเคยถูกสหรัฐฯ ตั้งค่าหัวนำจับถึง 10 ล้านดอลลาร์ แม้จะเกิดขึ้นหลังม่านประตูปิด แต่อาจกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดของการเดินทางครั้งนี้
ระหว่างทริป ทรัมป์ยังบอกเป็นนัยว่า เขาคือคนที่มีบทบาทสำคัญในการบรรเทาความตึงเครียดที่ยกระดับอย่างรวดเร็วระหว่างอินเดียและปากีสถาน พร้อมทั้งเตือนว่า การเจรจานิวเคลียร์กับอิหร่านอาจ “นำไปสู่ความรุนแรง” หากรัฐบาลอิหร่านไม่ตอบสนองอย่างจริงใจต่อการเจรจา “ด้วยมิตรไมตรี” จากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ
ทรัมป์ยังกล่าวกับทหารที่ฐานทัพอัลอูเดด การ์ตา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า สิ่งที่ผมให้ความสำคัญคือการยุติความขัดแย้ง ไม่ใช่การเริ่มต้น และเขาจะไม่ลังเลที่จะใช้พลังของอเมริกา หากจำเป็นต้องปกป้องสหรัฐอเมริกาหรือพันธมิตร
แม้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนของตนเองโดยสิ้นเชิง แต่หลายช่วงระหว่างการเดินทางก็สะท้อนมุมมองที่ดูขัดแย้งกับแนวทางเมื่อตอนดำรงตำแหน่งในสมัยแรกของเขา เพราะทรัมป์เคยออกคำสั่งห้ามชาวมุสลิมจาก 7 ประเทศเดินทางเข้าสหรัฐฯ ในปี 2017 แต่การเยือนตะวันออกกลางครั้งนี้ เขาไปมัสยิดใหญ่ Sheikh Zayed ในกรุงอาบูดาบีเมื่อวันพฤหัสบดี ขณะที่ทรัมป์ ซึ่งเคยโจมตีประเทศกาตาร์ว่ามีความเชื่อมโยงกับการก่อการร้าย กลับสวมกอดผู้นำของกาตาร์อย่างเป็นมิตรในสัปดาห์นี้
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าทรัมป์พร้อมจะละทิ้งจุดยืนดั้งเดิมของพรรครีพับลิกันและกลุ่ม MAGA ได้ หากเห็นว่าจำเป็น
บรรดาสมาชิกพรรคเดโมแครตระดับสูงยังออกมาชื่นชมทรัมป์เกี่ยวกับการพบปะกับประธานาธิบดีรักษาการของซีเรีย และการจัดการการเดินทางครั้งนี้โดยรวม และมองว่าทรัมป์รับมือกับตะวันออกกลางได้ดีเกินคาด”
ในการเยือนแต่ละประเทศ ทรัมป์วางตัวเป็นทั้งนักเจรจาต่อรองและผู้ไกล่เกลี่ย โดยทั้งสองบทบาทมีลักษณะเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะเปิดรับทัศนคติแบบนักการทูตโลกมากขึ้น แต่เป้าหมายอันทะเยอทะยานด้านนโยบายต่างประเทศหลายอย่างของเขาก็ยังต้องเผชิญกับความเป็นจริงที่ซับซ้อน
ที่น่าสังเกตคือ ตลอดการเดินทางหลายวันในตะวันออกกลาง ทรัมป์ไม่ได้แสดงความสนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนเลย ทั้งที่ผู้นำสหรัฐฯ ยุคใหม่ก่อนหน้า มักหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเสมอเมื่อลงพื้นที่ในภูมิภาค แต่ในทริปนี้ กลับไม่มีสัญญาณใดว่าเรื่องดังกล่าวจะถูกหยิบยกขึ้นอย่างเป็นทางการ
ในทางตรงกันข้าม ทรัมป์กลับใช้เวลาส่วนใหญ่ชื่นชมและแสดงมิตรภาพกับมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน พร้อมกับจับมือกันหลายครั้ง ซึ่งต่างจากการเยือนของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดนในปี 2022 ที่ประเด็นการจับมือกลายเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงทางจริยธรรมจากหลายฝ่าย