ท่ามกลางระบบการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งบางครั้งยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหลายประเด็น โครงการห้องเรียนข้ามขอบถูกจุดประกายขึ้นมา เพื่อพัฒนา ‘นวัตกรรมทางการศึกษารูปแบบใหม่’ ที่มุ่งสร้างระบบนิเวศการเรียนและการศึกษาที่ยืดหยุ่น เพื่อให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น
ต้องยอมรับว่า ในแต่ละปี มีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยตัวเลขระบุว่า ในปีการศึกษา 2566 เด็กไทย 1.02 ล้านคน หลุดออกจากระบบการศึกษา
ทั้งนี้ มีปัจจัยมากมายที่ทำให้เด็ก ๆ หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไม่ได้แยกขาดจากกันเสียทีเดียวหากแต่เชื่อมโยงกัน และมีผลกระทบสืบเนื่องต่อกันและกันแบบทบทวี บางคนมีปัญหาทั้งเรื่องครอบครัว ปัญหาส่วนตัวและปัญหาการเงินส่งผลให้เด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่งต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา
โครงการ “ห้องเรียนข้ามขอบ” (Classroom and Beyond) เป็นความร่วมมือระหว่างโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นักวิจัย ชุมชน และโรงเรียนในพื้นที่ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการสร้าง “ระบบการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของผู้เรียน” โดยเน้นบทบาทของผู้เรียนในการออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ของตนเอง และส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างแท้จริง
ในปีแรกของการดำเนินงาน โครงการได้พัฒนาพื้นที่นำร่อง 2 แห่ง ได้แก่
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 โครงการ “ห้องเรียนข้ามขอบ” จัดเวทีเสวนาวิชาการ “จินตนาการใหม่ที่เป็นไปได้ เพื่อการเรียนรู้ของทุกคน” เพื่อถอดบทเรียนจากการทำงานในพื้นที่จริง และเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น เชื่อมโยงกับชีวิต และส่งต่อข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการศึกษาไทยที่ไร้รอยต่อ
งานวิจัยในพื้นที่ชี้ให้เห็นว่า เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยเผชิญประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก (Adverse Childhood Experiences – ACEs) และระบบการศึกษาแบบเดิมไม่สามารถรองรับความหลากหลายของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง โครงการจึงนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายที่มุ่งเปลี่ยนโครงสร้างการศึกษาให้ยืดหยุ่นและเท่าเทียมมากขึ้น เช่น การรับรองผลการเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตจริง การสร้างธนาคารหน่วยกิตที่ยืดหยุ่น การพัฒนาระบบเทียบโอนผลลัพธ์ที่ไม่จำกัดเฉพาะในโรงเรียน และการส่งเสริมบทบาทใหม่ของครูให้เป็น “โค้ช” ที่อยู่เคียงข้างผู้เรียนอย่างเข้าใจและเชื่อมั่นในศักยภาพ
ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยประจำพื้นที่เชียงดาว จากโครงการ ห้องเรียนข้ามขอบ มองว่า "ข้ามขอบ" ในที่นี้ หมายถึงการที่เด็กสามารถเรียนรู้จากที่ใดก็ได้ และได้รับวุฒิการศึกษาที่เหมาะสม เพื่อนำไปต่อยอดในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของเชียงดาว — และอาจรวมถึงภาพรวมระดับประเทศ — พบว่าหลายครัวเรือนมีผู้สูงอายุจำนวนมาก และยังมีฐานะยากจน ประกอบกับภาวะหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในขั้นวิกฤต ส่งผลให้เด็ก 7 ใน 10 คน เติบโตในครอบครัวรายได้น้อย
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการย้ายถิ่นตามผู้ปกครอง เนื่องจากงานที่มีรายได้ดีมักอยู่ในเมืองใหญ่ แต่การย้ายถิ่นบางครั้งไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมหน้าทั้งครอบครัว จึงเกิดปัญหาต่อเนื่องตามมา เช่น ผู้ปกครองหย่าร้าง เช่น เด็ก 17 ใน 20 คน ต้องอาศัยอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกัน ซึ่งเป็นผลพวงจากปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เด็กเหล่านี้จึงอยู่ในภาวะที่ต้องได้รับการดูแล ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นผู้ดูแลสมาชิกคนอื่นในครอบครัวด้วย
ณิชายังเล่าถึงกรณีของเด็กบางคนที่มีผลการเรียนดี แต่เนื่องจากข้อจำกัดของเวลาเรียนในระบบ ทำให้สุดท้ายต้องเปลี่ยนไปเรียนผ่าน กศน. แทน
ปัจจัยที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามีทั้งแรงผลักและแรงดัน ระบบการศึกษาที่มีกฎเกณฑ์บางอย่างเป็นตัวผลักเด็กให้ออกไป ส่วนปัญหาทางเศรษฐกิจก็เป็นแรงดันให้เด็กต้องออกจากโรงเรียนเพื่อไปทำงาน
แม้ประเทศไทยจะมีระบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่สามารถโอนหน่วยกิตได้ แต่ในทางปฏิบัติ โรงเรียนหลายแห่งยังไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจระเบียบนี้อย่างชัดเจน และการบังคับใช้ก็ยังไม่แพร่หลาย
สุพินันท์ กันทะวงศ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาหวาย อำเภอเชียงดาว เปิดเผยว่า สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. อย่างเช่นโรงเรียนบ้านนาหวาย เดิมทีเคยเชื่อว่า “ห้องเรียนที่ดี คือห้องเรียนที่เงียบ” แต่หลังจากได้นำแนวทางของ ห้องเรียนข้ามขอบ ที่เน้นการจัดการศึกษาตามแนวทาง "หนึ่งโรงเรียน สามรูปแบบ" ซึ่งมุ่งตอบโจทย์ชีวิตนักเรียนมาปรับใช้ กลับพบว่า เด็กมีความสุขในการเรียนรู้มากขึ้น และยังเรียนรู้ที่จะรักและหวงแหนวัฒนธรรม รวมถึงองค์ความรู้ในท้องถิ่นด้วย
ศิรพัชร์ ขันทสีมา ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. เชียงดาว กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการห้องเรียนข้ามขอบได้นำนักเรียนนักศึกษากลุ่มเสี่ยงที่อาจไม่จบการศึกษา — โดยการคัดเลือกจากพฤติกรรมหรือปัญหาครอบครัว — เข้าร่วมกิจกรรมตามความพร้อม เด็ก ๆ จะสลับกันเข้าร่วม จนครบกระบวนการและจบหลักสูตร
จากเดิมที่ครูต้องติดตามนักเรียนไปสอบ ตอนนี้เด็กมีวินัย มีความรับผิดชอบ และที่สำคัญคือ พวกเขามีความฝัน มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนและดีขึ้น
เวทีวิชาการครั้งนี้ได้รับเกียรติจากบุคคลสำคัญในแวดวงการศึกษาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดอย่างเข้มข้น อาทิ
พร้อมด้วยกลุ่มครู ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเยาวชนจากพื้นที่จริงที่มีบทบาทเป็นผู้ร่วมสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง
เวทีนี้จึงไม่ใช่เพียงการถ่ายทอดผลการดำเนินงาน แต่คือการร่วมกัน “จินตนาการใหม่” ถึงระบบการศึกษาที่เปิดกว้างต่อความหลากหลายของชีวิต เป็นระบบที่ไม่ผูกติดกับกรอบของห้องเรียนหรือเนื้อหาหนังสือเรียนเท่านั้น หากแต่เชื่อว่า “การเรียนรู้คุณภาพ ไม่จำเป็นต้องเกิดในห้องเรียนเท่านั้น” และ “อนาคตของการศึกษาไทย ต้องออกแบบจากชีวิตจริงของผู้เรียนเอง”