Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ลูกชายสมบัติ ลูกสาวภาระ? พ่อแม่ชาวอินเดียลงทุนการศึกษาให้ลูกไม่เท่ากัน
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ลูกชายสมบัติ ลูกสาวภาระ? พ่อแม่ชาวอินเดียลงทุนการศึกษาให้ลูกไม่เท่ากัน

15 พ.ค. 68
17:20 น.
แชร์

ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศสะท้อนผ่านมุมมองต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิต อย่างหนึ่งคือโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา อินเดียคือหนึ่งในประเทศที่ปัญหานี้ฝังรากลึกอยู่ในสังคม เพราะยาวนานจากเมล็ดวัฒนธรรม รายงาน Global Gender Gap Report 2024 จาก World Economic Forum (WEF) ชี้ให้เห็นว่าอินเดียได้อันดับ 129 จาก 146 ประเทศ

อันดับของอินเดียบนแท่นความเท่าเทียมทางเพศ ตกลงมาจากปีก่อนหน้า 2 อันดับ โดยเฉพาะด้านการเข้าถึงการศึกษาระหว่างเพศ รายงานชี้ให้เห็นว่าตำแหน่งของอินเดียลดลงไปอีกในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์ด้านการเข้าถึงการศึกษาในผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเลวร้ายลง

บทความล่าสุดจาก Hindustan Times พาไปสำรวจหมู่บ้านกัมพีระ หมู่บ้านหนึ่งจาก 77 ในเขตมาลาร์นา ดูนการ์ รัฐราชสถานของอินเดีย ที่ความไม่เท่าเทียมทางเพศทางการศึกษาสะท้อนออกมาชัดเจน เป็นหมู่บ้านที่ช่องว่างการรู้หนังสือระหว่างผู้ชายและผู้หญิงแตกต่างกันมากที่สุด จากข้อมูลสำมะโนประชากรในปี 2011

ข้อมูลชี้ว่า ประชากร 60.79% ของหมู่บ้านกัมพีนะอ่านออกเขียนได้ และเมื่อแบ่งแยกตามเพศพบว่า 78.79% ของผู้ชายรู้หนังสือ  ส่วนประชากรหญิงที่อ่านออกเขียนได้มีเพียง 41.03% ความต่างของคนสองเพศคือ 37.75%

ไม่ใช่แค่หมู่บ้านกัมพีระ แต่รัฐราชสถานดูเหมือนจะเป็นผู้นำปัญหานี้ เพราะ 5 อันดับแรกของหมู่บ้านที่มีความแตกต่างด้านการอ่านเขียนของชายและหญิงมากที่สุดในอินเดีย อยู่ในรัฐราชสถาน และ 3 จาก 5 อันดับแรก อยู่ในเขตมาลาร์นา ดูนการ์ ที่ตั้งของหมู่บ้านกัมพีระนั่นเอง

ราชสถานเป็นรัฐทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย มีอาณาเขตใหญ่ที่สุดและมีประชากรมากเป็นอันดับ 7 ของประเทศ แม้ข้อมูลการรู้หนังสือจะเป็นข้อมูลเก่าจากปี 2011 แต่ข้อมูลใหม่กว่าอย่างรายงาน Educational Inequality between Genders in Rajasthan ก็บ่งชี้ข้อมูลไม่ต่างกันนัก

รายงานชี้ว่ารัฐราชสถานไม่ได้มีความพยายามรวมเอาผู้หญิงเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาและระบบเศรษฐกิจ แม้ว่ารัฐจะมีการปฏิรูปเศรษฐกิจมายาวนานกว่าสามทศวรรษ รายงานเปิดเผยจำนวนปีเฉลี่ยของผู้ชายและผู้หญิงในรัฐราชสถาน แบ่งตาม 4 ช่วงอายุ (0-14, 15-29, 30-44, 44 ขึ้นไป) และตามพื้นที่คือเขตเมืองและชนบทพบว่า ความแตกต่างในการเข้าถึงการศึกษาระหว่างชายและหญิงยิ่งห่างกันมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น และมีความแตกต่างมากกว่าในพื้นที่ชนบท

กัมเลศ มีนา พ่อที่มีลูกชายสองคน และลูกสาวสองคนชื่อซาริตาและวินิตา ชาวบ้านในหมู่บ้านกัมพีระให้สัมภาษณ์กับ Hindustan Times ว่า “ลูกชายทั้งสองคนของผมจะโตไปมีงานที่ดีและจะช่วยครอบครัวเราได้ ขณะที่ภรรยาก็มีลูกสาวสองคนคอยช่วยงานบ้าน”

ลูกสาวทั้งสองคนของกัมเลศจบมัธยมปลายสายศิลป์จากโรงเรียนรัฐบาลในท้องถิ่น และไม่เคยได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาอีกเลยตั้งแต่นั้น ขณะที่ วิโนด (อายุ 25 ปี)  ผู้เป็นลูกชายจบการศึกษาระดับมัธยมปลายสายวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนเอกชนชื่อดังในหมู่บ้านกัมพีระ กำลังเตรียมตัวสอบเพื่อเข้าทำงานราชการ ขณะที่ดีปัก (อายุ 16 ปี) ลูกชายคนเล็ก กำลังเตรียมตัวสอบ Joint Entrance Examination (JEE) ในเมืองสวาย มัธโธปูร์

มุมมองของกัมเลศสะท้อนมุมมองหลักของสังคมอินเดีย ครอบเอาไว้ด้วยบทบาททางเพศ นั่นคือลูกชายต้องมีงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวต่อไป ในขณะที่ลูกสาวจะต้องแต่งงาน ดังนั้นการศึกษาจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็น ไม่ต้องการการสนับสนุนด้านการศึกษาในระดับสูง และครอบครัวนี้ยังทำให้แน่ใจว่าลูกๆ เดินตามแบบแผนบทบาททางเพศนั้นด้วย อย่างหนึ่งคือการจัดการแต่งงานให้ลูกสาวกับคนที่พ่อแม่เลือกให้

กัมเลศกล่าวว่า ลูกสาวคนโต วินิตา (22 ปี) จะแต่งงานกับชายหนุ่มที่กำลังเตรียมสอบเข้าทำงานราชการในเดือนหน้า ขณะที่เขาก็กำลังหาคู่ที่เหมาะสมให้กับลูกสาวคนเล็ก ซาริตา (21 ปี) ด้วยเช่นกัน การแต่งงานคลุมถุงชนยังคงพบได้บ่อยในอินเดีย เห็นได้จากแบบสำรวจของ WeddingWire India ในปี 2023 ชี้ว่าคู่รักกว่า 44% ชี้ว่า การแต่งงานของพวกเขาเกิดขึ้นจากการคลุมถุงชน

“ผมอยากให้พวกเขาเรียนสูงกว่านี้นะ แต่พวกเขาไม่สนใจเรื่องเรียน เราไม่รวยพอจะส่งลูกทุกคนไปเรียนโรงเรียนเอกชนได้หมด และส่งเรียนชั้นมหาวิทยาลัยในเมือง แน่นอน โรงเรียนเอกชนดีกว่า ผมก็เลยส่งลูกชายไป พวกเขาจะได้หาเงินได้เยอะๆ แล้วภรรยาก็จะได้มีลูกสาวสองคนคอยช่วยงานในบ้าน”

โรงเรียนรัฐบาลใกล้บ้านที่ซาริตาและวินิตาเข้าเรียนมีนักเรียนหญิง 157 คน และนักเรียนชาย 86 คน กลับกันโรงเรียนเอกชนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษในตัวเมืองมีนักเรียนชาย 249 คนและนักเรียนหญิง 151 คน แต่โรงเรียนรัฐบาลนั้นไม่มีค่าเล่าเรียน ส่วนค่าเรียนในโรงเรียนเอกชนนับว่าสูงมาก ราว 40,000-50,000 รูปี (ราว 15,000-20,000 บาท) ปัปปุลาล มีนา ชาวนาอีกคนในพื้นที่ ต้องกู้เงินมาส่งเสียลูกชายวัย 8 และ 9 ขวบเรียนในโรงเรียนเอกชนแห่งนี้

“ดูเด็กในเมืองสิ เรียนกันเก่งก็เพราะเรียนในโรงเรียนมัธยมเอกชน สอนเป็นภาษาอังกฤษ แม้แต่โรงเรียนรัฐบาลในเมืองก็ยังดีกว่าโรงเรียนที่บ้านนอกนี่ ถ้าอยากให้ลูกชายได้ดีก็ต้องเอาให้แน่ว่าได้เรียนในโรงเรียนดีๆ กัน” ปัปปุลาลกล่าว

ปัปปุลาลยังมีลูกสาวคนโตอายุ 17 ปีอีกคน ที่เขาวางแผนจะส่งไปเรียนที่วิทยาลัยรัฐบาลสวาย มัธโธปูร์หลังจากสอบปลายภาคเสร็จ และจะให้เธอแต่งงานก่อนอายุครบ 20 ปี

“ถ้าอยากทำงานต่อก็ดี แต่ที่หมู่บ้านนี้ผู้หญิงเขาแต่งงานกันตอนอายุ 20” เขากล่าว

รายงานสถานะการศึกษาประจำปี (ASER) ปี 2024 ซึ่งครอบคลุม 26 รัฐ และ 2 ดินแดนสหภาพของอินเดีย รวม 605 เขตชนบท 17,997 หมู่บ้าน และนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่จำนวน 649,491 คน ระบุว่า เด็กผู้หญิงในทุกระดับชั้น (ประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย) มีสัดส่วนการลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนรัฐบาลมากกว่าเด็กผู้ชาย ขณะที่ในโรงเรียนเอกชนกลับเป็นตรงกันข้าม

“โรงเรียนรัฐก็ไม่แย่นะ เราก็เรียนกันมาหมดตอนเด็กๆ ผมยังอยากให้ลูกสาวเรียนให้จบอยู่ดี แต่ผมส่งลูกทุกคนไปเรียนโรงเรียนเอกชนหมดไม่ไหว แล้วลูกก็ไม่ได้สนใจเรียนวิทยาศาสตร์ที่เขาบังคับด้วย” ปัปปุลาลกล่าว

การเรียนวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่หาได้ยากในเขตชนบท บางโรงเรียนในหมู่บ้านปัญจายัตภายใต้เขตมาลาร์นา ดูนการ์ โรงเรียนบางแห่งยังใช้ครูสายศิลป์สอนวิทยาศาสตร์ขั้นต้นให้กับนักเรียนในโรงเรียนรัฐบาล ทำให้เด็กหญิงมีโอกาสเข้าถึงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์น้อยกว่า แต่ถึงลูกสาวทั้งหลายจะสนใจเรียนคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ ผลลัพธ์ก็อาจไม่ต่างไป

“หนูชอบเรียนคณิตศาสตร์ที่สุดเลยค่ะ แต่ที่โรงเรียนไม่มีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ พ่อแม่ไม่ส่งหนูไปเรียนโรงเรียนเอกชน พ่อแม่บอกว่าเป็นผู้หญิงเดินทางไปไกลๆ ทุกวันไม่ปลอดภัย” เซมา เด็กหญิงอายุ 14 ปีกล่าว เธอเรียนอยู่ในโรงเรียนรัฐบาลในหมู่บ้านโจลันดา อีกหมู่บ้านในเขตมาลาร์นา ดูนการ์ รัฐราชสถาน โรงเรียนนี้มีนักเรียนหญิง 130 คนและนักเรียนชาย 87 คน

การศึกษาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตเด็กหญิงหลายคน มีการสังเกตกันว่า เด็กหญิงที่ได้รับการศึกษาที่ดีและได้รับการศึกษาสูงมีแนวโน้มแต่งงานในวัยเยาว์น้อยกว่า และมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจมากกว่า และการศึกษายังเป็นใบอนุญาตที่เอื้อให้ผู้หญิงมีอิสรภาพทางการเงินจากคู่ครองอีกด้วย

ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายรัฐบาลโจลันดา พราภู ลาล มีนา กล่าวถึงความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาระหว่างเพศ

“ความท้าทายนี้เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็กหญิง ทำให้มีช่องว่างใหญ่มากระหว่างโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน ชาวบ้านยังมองว่าลูกสาวเป็นภาระของครอบครัว จึงไม่อยากเสียเงินไปกับการศึกษาของพวกเธอนัก จบด้วยการส่งลูกสาวเรียนที่โรงเรียนรัฐบาลที่มีการศึกษาฟรี ขณะที่ลูกชายถูกมองเป็นทรัพย์สมบัติ เลยถูกส่งไปเรียนโรงเรียนเอกชนที่มีค่าเทอมราคาแพง เป็นเรื่องจริงที่นักเรียนหญิงส่วนใหญ่มักไม่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยหลังเรียนจบมัธยมแล้ว แต่แต่งงานไม่กี่ปีหลังเรียนจบมากกว่า”

มูฮัมเหม็ด ซากีร์ หัวหน้าสำนักงานการศึกษาของมาลาร์นา ดูนการ์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการดังกล่าวว่า “ความนิยมแบบนี้มีมาในพื้นที่นี้ตลอด 7-10 ปีที่ผ่านมา ที่พ่อแม่มักส่งลูกชายเรียนเอกชน แต่พวกเขาต้องเข้าใจว่า โรงเรียนเอกชนเน้นเฉพาะด้านวิชาการ ในขณะที่โรงเรียนรัฐบาลให้การศึกษาที่รอบด้าน เนื่องจากมีนักเรียนหญิงเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลมากกว่า เราจึงจัดโครงการหลายอย่างที่มุ่งเป้าไปที่เด็กผู้หญิง เช่น คลาสป้องกันตัวที่สถานีตำรวจ การจัดตั้งห้องสมุดในระดับปัญจายัต และกิจกรรมสนทนาเกี่ยวกับหนังสือทุกสองสัปดาห์”

ถึงอย่างนั้นซากีร์ก็ยอมรับว่าโรงเรียนรัฐบาลยังขาดแคลนบุคลากรและอุปกรณ์การเรียน ซึ่งนำมาสู่การเข้าถึงการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงและชาย


แชร์
ลูกชายสมบัติ ลูกสาวภาระ? พ่อแม่ชาวอินเดียลงทุนการศึกษาให้ลูกไม่เท่ากัน