Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
คุมโลกร้อน 1.5°C ไม่ทันน้ำแข็งละลาย เตรียมอพยพครั้งใหญ่ศตวรรษหน้า
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

คุมโลกร้อน 1.5°C ไม่ทันน้ำแข็งละลาย เตรียมอพยพครั้งใหญ่ศตวรรษหน้า

21 พ.ค. 68
15:36 น.
แชร์

ธารน้ำแข็งบนโลกกำลังละลายอย่างรวดเร็วเกินควบคุม ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นหลายฟุต และอาจบีบให้หลายชีวิตตามแนวชายฝั่งต้องอพยพ และแม้โลกจะพยายามควบคุมอุณหภูมิให้ไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่ตอนนี้ก็สายเกินแก้แล้ว

เพราะการละลายอย่างรวดเร็วของธารน้ำแข็ง ที่เริ่มละลายด้วยอัตรารวดเร็วขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 1940 และเร็วขึ้นอีกในทศวรรษที่ 1970 (ตามการศึกษาและติดตามธารน้ำแข็ง Doomsday Glacier ในแอนตาร์กติกา) กลุ่มนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจึงรวมกันตั้ง “ขีดจำกัดความปลอดภัย” หรือจุดเซฟสำหรับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของภาวะโลกร้อนขึ้น

ขีดจำกัดดังกล่าวชี้ถึงอุณหภูมิที่จะทำให้แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกายังสามารถอยู่รอดได้ พวกเขาได้ขุดค้นงานวิจัยต่าง ๆ ที่ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม แบบจำลองสภาพภูมิอากาศ และหลักฐานจากอดีต เช่น แกนน้ำแข็ง ตะกอนในทะเลลึก และแม้แต่ดีเอ็นเอของหมึกยักษ์

การค้นพบบ่งบอกถึงลางไม่ดี

จริงอยู่ที่ว่ามีการรณรงค์ให้ประชากรโลกช่วยกันควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิเฉลี่ยโลกในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่การค้นพบชี้ว่า หากโลกเรารักษาอุณหภูมิไว้ได้อย่างนั้นจริง (ซึ่งคงต้องอาศัยปาฎิหารย์อยู่) ก็ยังไม่พอจะช่วยธารน้ำแข็งขั้วโลกอยู่ดี

เพียงแค่กรีนแลนด์และแอนตาร์กติการวมกัน ก็โอบอุ้มน้ำแข็งเอาไว้มากมายเสียจนถ้าละลายพร้อมกันหมดก็เพียงพอจะเพิ่มระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้น 213 ฟุตแล้ว

ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วขึ้นสี่เท่าจากอัตราการละลายก่อนหน้า ปัจจุบันธารน้ำแข็งละลายราว 370 ล้านตันต่อปี และการละลายของน้ำแข็งนี้เองเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น และอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลต่อปีในปัจจุบันก็มากกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนถึงเท่าตัว ข้อมูลจาก NASA ชี้ว่าระดับน้ำทะเลในปัจจุบันสูงกว่าปี 1993 ถึง 102.4 มิลลิเมตร

1.5 ไม่พออีกต่อไป

งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า เพดานอุณหภูมิที่จะเพิ่มขึ้นที่ 1.5 องศาเซลเซียสนั้นยังเรียกว่าสูงเกินไป และคงจะไม่เพียงพอยับยั้งการละลายของน้ำแข็งและผลกระทบที่น้ำแข็งละลายจะนำมาสู่โลกของเรา ทั้งยังเตือนว่า เราควรเตรียมตัวรับมือน้ำทะเลที่จะเพิ่มขึ้นหลายฟุตในศตวรรษต่อๆ ไป


การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลขนาดนั้นจะเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตมากมายตามแนวชายฝั่งทั่วโลก มีผู้คนราว 230 ล้านคนอาศัยอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลไม่ถึง 1 เมตร ฉะนั้นแม้น้ำแข็งละลายเพียงเล็กน้อย พื้นที่ริมแนวชายฝั่งจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง รายงานชี้ว่า ผลที่ตามมาจะรุนแรงเกินกว่าจะปรับตัวได้ และคนหลายร้อยล้านต้องอพยพ


เมื่อพิจารณาจากอัตราการละลายต่อปีในปัจจุบัน และแนวโน้มอุณหภูมิโลก พอถึงปลายศตวรรษที่ 21 ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มได้มากถึง 0.4 นิ้วต่อปี หรือราว 40 นิ้วต่อทศวรรษ


“เดี๋ยวคุณจะได้เห็นการอพยพภาคพื้นดินสเกลมหึมา แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในอารยธรรมสมัยใหม่” โจนาธาน แบมเบอร์ หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยและนักธารน้ำแข็งแห่งมหาวิทยาลัยบริสตอลกล่าว

ตอนนี้คงจะบอกได้ยากว่า จุดพลิกผันสถานการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อใด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้ดำเนินไปอย่างเป็นเส้นตรง และยังไม่ชัดเจนว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะกระตุ้นให้เกิดการถอยร่นอย่างรวดเร็วหรือแม้แต่การล่มสลายตอนไหน

สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ยิ่งนักวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นมากเท่าไหร่ จุดเซฟที่จะไม่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายในระดับรุนแรงก็ยิ่งลดต่ำลงมากเท่านั้น

ในขั้นต้นมีการประมาณการณ์ว่าจุดเซฟอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจากก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมคือ 3 องศาเซลเซียส ต่อมาจุดเซฟที่ว่าลดลงเท่าตัวเหลือ 1.5 องศาเซลเซียส แต่ตอนนี้ตัวเลขนี้ไม่เพียงพออีกต่อไป
ขณะนี้การหลีกเลี่ยงไม่ให้ฐานน้ำแข็งสักก้อนละลายลงมาเพิ่มปริมาณน้ำ คงเป็นการคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1 องศาเซลเซียสเท่านั้น ซึ่งการทำอย่างนั้นได้ เราต้องตัดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมาก เป็นแนวทางที่หากมองหลายๆ ประเทศ อย่างเช่นสหรัฐฯ คงทำได้ยาก

แบมเบอร์ผู้ศึกษาเรื่องธารน้ำแข็งมาอย่างต่อเนื่อง ดูเหมือนจะไม่มีหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเท่าไหร่นัก
“จากที่เราสังเกตการณ์กันมา ไม่ค่อยมีอะไรที่ช่วยให้เรามีความหวังเลย” เขากล่าว “สถานการณ์ที่ดีที่สุดคือ น้ำทะเลเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ต่อเนื่อง” เขากล่าว แต่ก็ย้ำว่าเราไม่ควรล้มเลิกเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ เพราะทุกเสี้ยวองศาที่เพิ่มขึ้น โลกเราจะพบกับผลกระทบร้ายแรง

“การคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสยังคงเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ และควรเป็นเป้าหมายของเราอย่างแน่นอน แต่ในทางใดก็ไม่อาจชะลอหรือหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและการละลายของแผ่นน้ำแข็งได้”

แหล่งที่มา: CNN

แชร์
คุมโลกร้อน 1.5°C ไม่ทันน้ำแข็งละลาย เตรียมอพยพครั้งใหญ่ศตวรรษหน้า