เมื่อเรามีอายุมากขึ้น นอกจากร่างกายจะถดถอยแล้ว ความสามารถในการคิดก็เป็นอีกส่วนที่วันเวลาทำให้เสื่อมสภาพไปไม่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม การทำกิจกรรมง่ายๆ ที่ทำได้ที่บ้าน และเป็นที่นิยมในหมู่ผู้สูงวัยอย่างหนึ่งอย่างการทำสวน ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ดีต่อการป้องกันและรักษาโรคสมองเสื่อม
สมองเสื่อม คือภาวะที่ความสามารถทางสติปัญญาลดลง มักพบในผู้สูงอายุ และเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน ขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เนื้องอกสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว ขาดวิตามิน หรือจากโรคติดเชื้อบางชนิด
ผู้มีภาวะสมองเสื่อมหลายคนมีปัญหาเรื่องการจดจำและการคิด มีอาการหลงลืม การใช้ภาษาผิดปกติ การตัดสินใจแย่ลง และอาจส่งผลต่อพฤติกรรมและอารมณ์ อาการเริ่มแรกคือการหลงลืมเรื่องราวที่เพิ่งจำได้ไม่นาน ในขณะที่ยังจดจำเรื่องราวเก่าๆ ได้อยู่
ในปี 2024 มีคนกว่า 55 ล้านคนทั่วโลกเผชิญกับโรคสมองเสื่อม และในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ใน 100 คน มี 5 คนมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อม และมีความถี่เพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น เมื่ออายุ 80 ปี จาก 100 คน จะมีคนที่มีความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมถึง 20 คน
ปี 2015 นอร์เวย์ได้เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ตั้ง แผนดูแลโรคสมองเสื่อมระดับชาติ ซึ่งมีบริการดูแลผู้ป่วยช่วงกลางวันหลายรูปแบบ อย่างหนึ่งเรียกว่า Inn på tunet หรือที่แปลว่า “ไปสวน” คือการเปิดศูนย์ดูแลผู้ป่วยที่เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ทำสวนนั่นเอง
เมลิซซา เลม แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประจำอยู่ที่แวนคูเวอร์ และนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา กล่าวถึงผลดีของการใช้ธรรมชาติในกระบวนการรักษาสุขภาพ
“ใบสั่งยาจากธรรมชาติใบนี้สามารถเพิ่มการทำกิจกรรมทางกายภาพได้ และยังเพิ่มการเชื่อมโยงทางสังคม ทั้งยังลดความเครียดในเวลาเดียวกัน การทำสวนมีผลทางอ้อมในทางดีต่อความดัน ระดับน้ำตาลในเลือด และน้ำหนักตัวที่ดี ลดความเสี่ยงการเกิดโรคที่จะนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อม” เลมกล่าว
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ Gardening and cognitive ageing: Longitudinal findings from the Lothian Birth Cohort of 1921 ที่ชี้ถึงความเกี่ยวโยงระหว่างการทำสวนและระดับสติปัญญาอีกด้วย
งานวิจัยดังกล่าวศึกษาหญิงและชาย 550 คนในภูมิภาคเอดินบะระและโลเธียนส์ของประเทศสกอตแลนด์ ที่เกิดในปี 1921 และทำการทดสอบระดับสติปัญญาของหญิงชายเหล่านั้นในปี 1932 และปี 1999–2000 เมื่อมีอายุ 11 ปีและ 79 ปี เพื่อหาความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของพวกเขา
รายงานชี้ว่า คนที่ทำสวนมากกว่า มีการพัฒนาในกระบวนการคิดดีกว่าคนที่ไม่เคยทำสวนหรือทำสวนน้อย เจนี่ คอร์ลีย์ ผู้นำการวิจัยรายงานชิ้นนี้กล่าวถึงความสำคัญของการทำสวนว่า
“การทำสวน เรียนรู้เรื่องพืชหรือการทำสวนขั้นพื้นฐานเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางปัญญาที่ซับซ้อน อย่างการจดจำและทักษะด้านการบริหาร”
คอร์ลีย์ชี้ว่า ความสามารถด้านปัญญาในผู้สูงอายุจะดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าเราใช้มันมากแค่ไหน ถ้าไม่ใช้ก็เสื่อม เธอกล่าว และอธิบายว่าหากเราเมินไม่ใช้งานหรือกระตุ้นสมองบางส่วนของเรา ส่วนนั้นก็จะค่อยๆ เสื่อมความสามารถลง
มีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่สนับสนุนข้อมูลชุดเดียวกันเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายภาพที่กระตุ้นการทำงานของสมอง งานวิจัยปี 2002 จากสหรัฐฯ ฉบับหนึ่งศึกษาแม่ชีกว่า 800 คน พบว่า ผู้เข้าร่วมที่ทำกิจกรรมกระตุ้นการทำงานของสมองบ่อย จะมีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ต่ำกว่า
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยปี 2024 จากญี่ปุ่นที่ชี้ว่า การทำกิจกรรมที่มีคุณค่าสำหรับผู้เข้าร่วม ช่วยป้องกันไม่ให้ความสามารถในการจดจำเสื่อมลง
การทำสวนนั้นดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมกระตุ้นการทำงานของสมองที่มีประสิทธิภาพเป็นพิเศษ เพราะคนที่ทำสวนเป็นประจำ มีระดับโปรตีนที่ชื่อว่า BDNF (brain-derived neurotrophic factor) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตและการอยู่รอดของเซลล์ประสาทสูงกว่าปกติ และยังได้รับการกระตุ้นในโปรตีน VEGF (vascular endothelial growth factor) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการทำงานด้านการรับรู้ให้ดีขึ้นอีกด้วย
งานวิจัยปี 2006 จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ติดตามชีวิตหญิงและชายสูงอายุชาวออสเตรเลีย อายุระหว่าง 60–69 ปี พบว่า คนที่ทำสวนเป็นประจำมีความเสี่ยงเกิดโรคสมองเสื่อมน้อยกว่าคนที่ไม่ทำสวนเลยถึง 36% และพบว่าการทำสวนช่วยส่งเสริมสมาธิ ลดความเครียด และลดอาการดื้อยาได้อีกด้วย
ประโยชน์เหล่านี้ หลายอย่างเกิดเพียงเพราะเรา ห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาติ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่าการสัมผัสธรรมชาติเชื่อมโยงกับการลดความเครียด และ โรเจอร์ อุลริช ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการออกแบบระบบสุขภาพ และศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมแห่งมหาวิทยาลัยชาลเมอร์สในประเทศสวีเดน เป็นหนึ่งในคนแรกๆ ที่พูดเรื่องนี้
ในช่วงทศวรรษ 1980–1990 เขาผลิตงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่า เพียงมองต้นไม้ผ่านหน้าต่าง ก็ช่วยลดความเจ็บปวด เสริมสร้างอารมณ์ที่ดี และเพิ่มความสามารถในการจดจ่อแล้ว เขาชี้ว่าความเชื่อมโยงนี้เกิดขึ้นจากวิวัฒนาการ เพราะความสามารถในการรักษาตนจากความเครียดเป็นหนึ่งในหนทางเอาชีวิตรอด สมองเราถูกตั้งค่าไว้ให้ดึงดูดกับสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เพราะสมดุลต่อการอยู่รอด สิ่งนี้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นครั้งแล้วครั้งเล่า ธรรมชาติเพียงเล็กน้อยจึงเปรียบเสมือนยาวิเศษสำหรับมนุษย์
นอกจากการได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การทำสวนดีต่อสมองก็คือ การทำสวนเอื้อต่อพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ อย่างการได้ออกแรง
งานวิจัยปี 1999 ชี้ว่าคนที่ทำสวนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง มีความเสี่ยงหัวใจหยุดเต้นน้อยกว่าคนที่ไม่ทำถึง 66% และยังมีงานวิจัยอีกชิ้นในปี 2002 ที่ชี้ว่าการทำสวนช่วยให้มีความหนาแน่นของกระดูกในทางบวก ช่วยพัฒนาความคล่องแคล่วของมือ มวลกล้ามเนื้อ และความสามารถในการเคลื่อนไหว
หากเป็นโรคสมองเสื่อมไปแล้ว รายงานชี้ว่า การทำสวนยังส่งผลดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะการทำสวนช่วยพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ และความสามารถในการสื่อสาร มากกว่ากิจกรรมอื่นๆ ทั่วไป
ปัจจุบันศูนย์ดูแลด้วยการทำสวนสำหรับผู้มีภาวะสมองเสื่อมจึงเริ่มเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วยุโรป และในสหราชอาณาจักร
ที่มา: BBC
อ้างอิงเพิ่มเติม:
Effect of gardening physical activity on neuroplasticity and cognitive function
Participation in Cognitively Stimulating Activities and Risk of Incident Alzheimer Disease
Leisure-time physical activity and the risk of primary cardiac arrest