อินไซต์เศรษฐกิจ

‘เที่ยวหลังโศกนาฏกรรม’ ราคาถูกฮวบ - ความปลอดภัยแน่น - ไพรเวทแบบสุดๆ

25 มิ.ย. 66
‘เที่ยวหลังโศกนาฏกรรม’ ราคาถูกฮวบ - ความปลอดภัยแน่น - ไพรเวทแบบสุดๆ

หลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ‘เรือดำน้ำไททัน’ และลูกเรือผู้เคราะห์ร้ายทั้ง 5 คน คงทำให้หลายคนขยาดการดำน้ำ หรือนั่งเรือลงไปชมใต้ท้องทะเลไปอีกพักใหญ่ แต่มีชายชาวสหรัฐคนหนึ่งน่าจะคิดว่า นี่คือช่วงที่น่าตามไปเที่ยวที่สุดแล้ว

 
 เรือดำน้ำ Titan

เที่ยวหลังโศกนาฏกรรม ราคาถูก - ปลอดภัย - ไพรเวทแบบสุดๆ

   

หลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ หรืออุบัติเหตุอย่างในเคสของเรือดำน้ำ Titan ก็ดี มักทำให้ผู้คนหวาดกลัว สูญเสียความเชื่อมั่น และไม่อยากตีตั๋วไปยังสถานที่นั้นๆ อีกพักใหญ่

แต่ไม่ใช่สำหรับ ‘Robert Zurgulis’ ชายชาวสหรัฐ ซึ่งเคยสร้างกระแสไวรัลเมื่อ 2 ปีก่อนจากการให้สัมภาษณ์ในรายการ Podcast but Outside ว่า ตัวเขามีกิจกรรมที่ชอบทำคือ การเดินทางไปยังประเทศที่เพิ่งเกิดการก่อการร้าย หรือภัยธรรมชาติไปหมาดๆ แม้ดูเป็นความคิดสุดเพี้ยน แต่นาย Robert ก็ชวนมองมุมกลับว่า มีข้อดีมากมายหลังจากเกิดเหตุร้าย เช่น ราคาถูกแสนถูก ไม่มีใครแย่งเที่ยว และยังได้รับความปลอดภัยขั้นพิเศษ พร้อมยกตัวอย่างประสบการณ์ทริปหลังโศกนาฏกรรมให้ฟังอีกด้วย อาทิ

 
พักโรงแรมหรูในตุรกีแบบลด 90% หลังเกิดเหตุบึ้มสนามบิน

 

-เดินทางไปยังเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี หลังเหตุการณ์ระเบิดฆ่าตัวตาย 2 ครั้งซ้อน ที่สนามบิน Ataturk : ทริปนี้ให้ความเป็นส่วนตัวกับ Robert แบบสุดๆ จากรถทัวร์ท่องเที่ยวที่ปกติรองรับผู้โดยสารได้ 50 คน เขาได้นั่งรถบัสคนเดียวทั้งคัน แถมยังได้พักราคาสุดพิเศษ ที่โรงแรมใกล้กับ ‘มหาวิหาร Hagia Sophia’ สุดยอดสถานที่ท่องเที่ยวของประเทศตุรกี จากราคาคืนละราว 300 ดอลลาร์ เหลือเพียง 30 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทย จากคืนละหมื่นกว่าบาท เหลือเพียงพันกว่าบาทเท่านั้น!

 

ได้ดีลเด็ด และความปลอดภัยแบบเหนือชั้น หลัง 2 สาวถูกฟันคอดับ

 

- เดินทางไปยังประเทศโมรอคโค หลังเหตุการณ์ที่ 2 นักท่องเที่ยวหญิงถูกโจรฟันคอขาด ดับสยอง ที่โซนตั้งแคมป์บริเวณภูเขา Toubkal ซึ่ง Robert ก็ได้เข้าพักในเส้นทางเดียวกันกับที่เกิดเหตุ แม้เขาไม่ได้ให้รายละเอียด แต่เล่ารวมๆ ว่าราคาดีมาก และความปลอดภัยเป็นเลิศ

 

ไป - กลับ สหรัฐ - เปรู ในราคาไม่ถึงหมื่น

 

- เดินทางไปยังประเทศเปรู หลังเกิดแผ่นดินไหว 8.0 ริกเตอร์ ด้วยตั๋วเครื่องบินไป - กลับ ราคาราว 280 ดอลลาร์ (9,870 บาท) จากปกติราคาเที่ยวละราว 1 - 4 หมื่นบาท ถูกลงไปกว่าครึ่ง ไปจนถึงเกือบ 90% เลย

 



นี่คงเป็นหนึ่งแนวคิดสุดพิสดาร ที่คิดมุมกลับจากคนทั่วไป เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีฝันใหญ่อยากเที่ยวรอบโลก แต่มีงบจำกัด หากพิจารณาเรื่องความปลอดภัยอย่างถี่ถ้วนดีแล้ว ‘การเที่ยวหลังโศกนาฏกรรม’ ก็ดูเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่ประหยัด ปลอดภัย และได้รับความเป็นส่วนตัวแบบสุดๆ

 

ทำไมคนถึงกลัวการไปเที่ยวหลังโศกนาฏกรรม

 


ปัจจัยที่ทำให้มนุษย์กลัวที่จะไปเยือนในสถานที่ที่เคยเกิดโศกนาฏกรรม อาทิ เหตุก่อการร้าย ฆาตกรรม น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด คือการที่เรากลัว ‘ความเสี่ยง’ ที่สถานการณ์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจแบ่งการมองออกได้เป็น 2 มุมด้วยกัน

ในมุมหนึ่ง จากมุมมองของจิตวิทยา ความเสี่ยงเหล่านี้ อาจมีโอกาสน้อยที่เกิดจะเกิดขึ้นซ้ำสอง ในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยจากงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของการก่อการร้ายต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จาก Journal of Religious Tourism and Pilgrimage เผยว่า ความเสี่ยงที่มนุษย์จะเสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายนั้น มีสถิติใกล้เคียงกับการเสียชีวิตจากการจมน้ำในอ่างอาบน้ำที่บ้าน

 

ท่องเที่ยว โศกนาฏกรรม



แม้โอกาสไม่สูง แต่มีผลต่อจิตใจอย่างมหาศาล และสื่อมวลชนเอง ก็กระพือข่าวเหล่านี้ สร้างความหวาดกลัวขึ้นในจิตใจคน ทำให้ในขั้นตอนการตัดสินใจเลือกสถานที่ท่องเที่ยว เรามักตัดสถานที่ที่เคยเกิดโศกนาฏกรรมออกไป ซึ่งเป็นไปตามหลัก ‘การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Aversion)’ ที่ว่า มนุษย์มักมองหาตัวเลือกที่มีความมั่นคง ไม่มีความเสี่ยง แม้ความเสี่ยงนั้นจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยนิดก็ตาม

และยังเป็นไปตาม ‘เหตุผลวิบัติของนักการพนัน (Gambler’s Fallacy)’ หรือความเชื่อผิดๆ ของมนุษย์ที่เชื่อว่า เมื่อเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นบ่อยกว่าปกติในช่วงหนึ่ง ก็มักจะเกิดขึ้นต่อไปอีก เหมือนอย่างที่นักพนันเชื่อว่าตัวเองกำลัง ‘มือขึ้น’ และจะจั่วได้ไพ่ดี ทั้งๆ ที่ความน่าจะเป็นของครั้งนี้ก็ยังคงเหมือนกับครั้งก่อนๆ

แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง ก็มีความเป็นไปได้ที่โศกนาฏกรรมจะเกิดขึ้นอีกครั้ง หากเป็นผลพวงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แรก เช่น พื้นที่เพิ่งเกิดแผ่นดินไหว อาจเกิดอาฟเตอร์ช็อกได้อีกครั้งหนึ่ง หรือประเทศที่อยู่ในความไม่สงบและเพิ่งเกิดเหตุก่อการร้าย ก็อาจจะมีเหตุการณ์ต่อๆ ไปเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เหล่านี้ไม่ใช่ ‘ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย’ แต่เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้จริงจากเหตุผลด้านวิทยาศาสร์ และภูมิรัฐศาสตร์
 

 
โศกนาฏกรรม ยาขมของภาคการท่องเที่ยว

 

ไม่ว่าจะเป็นการมองจากมุมมองแรก หรือมุมมองที่สอง โศกนาฏกรรมต่างๆ ก็ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ มีงานวิจัยมากมายที่พูดถึงผลกระทบจากทั้งการก่อการร้าย และภัยธรรมชาติ ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งในแง่ของตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ลดลง ความมั่นใจของนักท่องเที่ยวต่อประเทศจุดหมายปลายทางที่ลดลง รวมไปถึงภาพลักษณ์ของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ด้วย

หนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ เหตุการณ์ ‘911’ ที่เกิดขึ้นที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เหตุการณ์เหล่านั้นไม่เพียงสร้างความเสียหายจริงๆ ให้กับทรัพย์สินและชีวิตของผู้คน แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์เมืองนิวยอร์ก ความเชื่อมั่นต่อสหรัฐอเมริกาในภาพรวม และความกลัวที่จะเดินทางโดยสายการบินของผู้คนทั่วโลก จากสถิติพบว่า หลังเหตุการณ์ 911 เที่ยวบินที่มุ่งหน้าสู่สหรัฐมีผู้โดยสารลดลงทันทีราว 50% และที่พักในสหรัฐก็ถูกยกเลิกในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

 

 

ภัยพิบัติ ก่อการร้าย ท่องเที่ยว

 

 

อุบัติเหตุสะเทือนขวัญ เหตุก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ ล้วนแล้วแต่ ‘บั่นทอน’ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้กำกับดูแลไม่ว่าจะเป็นระดับธุรกิจ ระดับพื้นที่ หรือระดับประเทศ ที่จะต้องตรวจสอบความผิดปกติ สร้างมาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงกู้ภาพลักษณ์หากเกิดเหตุการณ์อันน่าสลดเกิดขึ้นแล้ว เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นเป็นแหล่งรายได้สำคัญของหลายประเทศทั่วโลก และมีประชาชนที่เกี่ยวข้องมากมายจะต้องเสียประโยชน์จากความกลัวของนักท่องเที่ยวที่เกินจริง

 

ที่มา : PodcastButOutside, Journal of Religious Tourism and Pilgrimage, Journal of Tourism Management, Investopedia

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT