ข่าวเศรษฐกิจ

อินเดียตั้งเป้าเป็นมหาอำนาจด้านชิป มูลค่า 16.6 ล้านล้านบาท ในปี 2030

15 ก.ย. 67
อินเดียตั้งเป้าเป็นมหาอำนาจด้านชิป มูลค่า 16.6 ล้านล้านบาท ในปี 2030

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ประกาศตั้งเป้าขยายอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของอินเดีย เป็น 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 16.6 ล้านล้านบาท ภายในสิ้นทศวรรษนี้ เพื่อแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะข้อได้เปรียบของประเทศอย่าง ‘เซมิคอนดักเตอร์’ 

'อินเดีย' ตั้งเป้าเป็นมหาอำนาจด้าน 'ชิป' ด้วยมูลค่าราว 16.6 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030

ปัจจุบัน นายโมดีเผยว่า ตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขิงอินเดีย มีมูลค่าประมาณ 1.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5.14 ล้านล้านบาท โดยอินเดียกำลังพยายามดึงดูดผู้ผลิตชิปให้เข้ามาในประเทศมากขึ้น สะท้อนได้จากการที่เงินอุดหนุน ทำให้ Apple หันมาตั้งฐานผลิตเพื่อประกอบ iPhone มูลค่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4.65 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ จากงาน Semicon India ที่อินเดียปูพรมแดงต้อนรับผู้ผลิตชิประดับโลก นายโมดียังกล่าวกับผู้ผลิตด้วยว่า “นี่เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะมาอินเดีย เพราะอินเดีย จะทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อที่จะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านเซมิคอนดักเตอร์"

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานมีความสำคัญต่อการผลิตชิป โรงงานผลิตส่วนใหญ่ใช้อุปกรณ์การผลิตหลายร้อยชิ้นทำงานตลอดเวลา ซึ่งกินไฟเป็นจำนวนมาก และต้องมีเครือข่ายโลจิสติกส์ที่จัดหาวัสดุ และสารเคมีได้อย่างมั่นคง แต่อินเดียกลับมีโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและพลังงานที่อ่อนแอ และบุคลากรด้านไอทีชั้นนำที่มักไปทำงานในต่างประเทศ

รัฐบาลของโมดีจึงได้อนุมัติการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์มูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ​ หรือสูงถึงประมาณ 4.98 แสนล้านบาท เพื่อผลักดันการเติบโตเพื่อให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์พัฒนาไปได้มากกว่านี้ รวมถึงข้อเสนอของกลุ่ม Tata ที่จะสร้างโรงงานผลิตชิปรายใหญ่แห่งแรกของประเทศ

ไม่เพียงเท่านี้ Micron Technology ผู้ผลิตหน่วยความจำของสหรัฐฯ ที่จะสร้างโรงงานประกอบมูลค่า 2.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 9.13 หมื่นล้านบาท และ Tower Semiconductor จากอิสราเอล กำลังสร้างความร่วมมือกับมหาเศรษฐี Gautam Adani เพื่อสร้างโรงงานผลิตมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.32 แสนล้านบาทในอินเดียตะวันตก

เซมิคอนดักเตอร์ได้เติบโตจนกลายเป็นทรัพยากรที่สำคัญในอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อช่องว่างทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกายังคงขยายตัวมากขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าต้องการลดการพึ่งพาผู้ผลิตจากต่างประเทศในจีนและไต้หวัน

โดยในหลายประเทศอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ กำลังลงทุนอย่างจริงจังเพื่อส่งเสริมการผลิตชิปในประเทศ และมั่นใจว่า ประเทศจะมีส่วนประกอบที่จำเป็นสำหรับเทคโนโลยีต่างๆ ตั้งแต่ AI ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า

ในเวลาเดียวกัน ผู้บริหารอุตสาหกรรมชิปจากอินเดียและต่างประเทศ ได้สรุปแผนการเติบโตในประเทศ เช่น Kurt Sievers ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ NXP Semiconductors NV ผู้ผลิตชิปสัญชาติดัตช์ กล่วว่า บริษัทจะลงทุนมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.32 หมื่นล้านบาทในอินเดียในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อขยายความพยายามด้านการวิจัยและพัฒนาในภูมิภาคนี้

ที่มา Nikkei Asia, Bloomberg

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT