ข่าวเศรษฐกิจ

เมื่อกนง.คงดอกเบี้ย บรรดากูรูยังมองปีนี้ลดแน่ 2 ครั้ง เหลือ 2.00%

11 เม.ย. 67
เมื่อกนง.คงดอกเบี้ย บรรดากูรูยังมองปีนี้ลดแน่ 2 ครั้ง เหลือ 2.00%

เมื่อกนง.มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% ไม่เป็นไปตามที่หลายฝ่ายอยากเห็น ถือเป็นการประชุมกนง.นัดสำคัญเลยทีเดียว เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าฝากของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ถูกกดดันอย่างหนักให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากฝากฝั่งของรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน จนทำให้กูรูหลายคนต่างลังเลใจ และมองว่า กนง.อาจปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้เลยก็ได้

แต่การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ด้วยเหตุผลว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน พร้อมระบุความกังวลหนี้ครัวเรือนสูง และให้ความสำคัญของกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (Debt deleveraging) ที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเปราะบางของเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว 

โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นซึ่งได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ 2.6% และ 3.0% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 นั้น

บทความนี้ SPOTLIGHT จะพามาดูมุมมองของบรรดากูรู นักเศรษฐศาสตร์ต่างๆ มีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

นักเศรษฐศาสตร์อิสระมองกนง.ควรลดดอกเบี้ย เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักเศรษฐศาสตร์อิสระ เปิดเผยกับ SPOTLIGHT ว่า นโยบายการเงิน ณ เวลานี้ ควรที่จะเอื้อให้กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ ที่ระดับ 2.6% ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสมแล้วกับประเทศแล้วใช่หรือไม่? 

โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้มีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจไทยค่อนข้างดีจากที่เคยคาดการณ์ปีนี้ โตได้ถึง 4.4% ขณะนี้ปรับลงมาเหลือ 2.6% ถือว่าเป็นระดับที่ดีแล้วใช่หรือไม่ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่สูงเกินไปก็จะไม่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

“ คำถาม คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ระดับนี้หรือไม่ ในเมื่อแบงก์ชาติเองก็มีการปรับประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงมาอีก ส่งออกเองก็ยังมีปัญหา การที่ไม่ลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ เพราะแบงก์ชาติถูกกดดันหรือเปล่า? และการขยายตัวทางเศรษฐกิจระดับ 2.6-3.0% และอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 1% ถือว่าเหมาะสมแล้วใช่ไหม? เชื่อว่าถ้าจีดีพีไทยยังอยู่ระดับนี้ ไม่เกิน 3 ปี ประเทศไทยถูกเวียดนามแซงหน้าแน่นอน” ดร.จิติพลเผย 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอาจไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเห็นได้ชัด แต่ก็ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ต้องได้รับการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 

กนง.

กรุงไทยลังเล 60 : 40 ระหว่างลดดอกเบี้ยเหลือ 2.0% กับไม่ปรับขึ้นเลยในปีนี้

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวกับ SPOTLIGHT ว่า มติกนง.คงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ถือว่าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เพราะจากข้อมูลที่ธปท.แถลงออกมานั้น เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจดูดีขึ้น จากภาคของการท่องเที่ยวและการบริโภค ซึ่งมองว่า การที่กนง.ยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ น่าจะรอดูปัจจัยเรื่องของการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐก่อน คาดว่าธปท.ยังมีความกังวลในเรื่องนี้อยู่ 

นอกจากนี้ กนง.ได้มีการมองภาวะเศรษฐกิจไทยในระยะกลาง คือ มองยาวกว่าปีนี้ ปีหน้าว่าเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร ซึ่งธปท.ได้พยายามส่งสัญญาณว่า ลดอัตราดอกเบี้ยจะดีในระยะสั้น แต่ระยะยาวไม่ดี 

อย่างไรก็ตาม จากถ้อยแถลงเมื่อวานนี้ทำให้มีมุมมองไปใน 2 ทาง คือ กนง.มีโอกาสปรับลดลงได้ 2 ครั้งๆ ละ 0.25% ทำให้ปีนี้อยู่ที่ระดับ 2.0% กับปีนี้อาจยังไม่เห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเลย ซึ่งให้น้ำหนักอยู่ที่ 60 : 40 

โดย  Krungthai COMPASS คาด กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้สู่ระดับ 2.0% ต่อปี จากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยได้กระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการผลิต อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่ปัจจัยกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวสูงกว่ากรอบเป้าหมายมีแนวโน้มผ่อนคลายลง 

SCB EIC มองกนง.ลดดอกเบี้ยตั้งแต่มิ.ย.นี้ 2 ครั้ง

scbeic

SCB EIC ยังคาดว่า กนง. จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ แม้รอบการประชุมนี้ กนง. จะยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% แต่การมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ติดต่อกันอีกครั้งหนึ่งยังเป็นการส่งสัญญาณการเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า หากพิจารณาผลการประชุมในอดีตพบว่า กนง. มักจะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ต่อเนื่องหลายครั้งเพื่อส่งสัญญาณต่อตลาดการเงินก่อนจะเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ย 

โดยในการประชุมครั้งนี้ กนง. ยังสื่อสารเน้นปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำลง โดยเฉพาะภาคการส่งออกและภาคการผลิตที่เผชิญความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงและภาวะสินค้าล้นตลาด ประกอบกับกรรมการเสียงส่วนน้อยเห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างดังกล่าวและจะช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้ด้วย ทำให้ประเมินว่า กนง. จะยังมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ 2 ครั้งตามที่ประเมินไว้รอบก่อน เพื่อรักษาสถานะความเป็นกลางของนโยบายการเงิน โดยจะเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมครั้งต่อไปในเดือน มิ.ย. และต่อเนื่องในเดือน ส.ค. สู่ระดับ 2%

กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ มองกนง.จะตรึงดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดไว้ 

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มองว่า จากท่าทีของ กนง. ในการประชุมรอบนี้ มีแนวโน้มที่จะตรึงดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดไว้ คณะกรรมการส่วนใหญ่มีความเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันเอื้อต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน และมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาโครงสร้าง แม้ว่ายังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของการส่งออก การเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นทางการคลัง 

อย่างไรก็ตาม กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ยังคงมองว่ามีความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายราวสองครั้งภายในปีนี้ โดยประเมินว่าอัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปีอาจอยู่ที่ 2.00% แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่กระทบแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT