เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้เปิดเผยผลสำรวจของอิปซอสส์ (IPSOS) บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก ประจำปีนี้ พบว่า “ประเทศไทยติดอันดับ 7 ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก” เพราะรัฐบาลไทยเดินหน้าเต็มที่พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน
แต่หลังเปิดเผยผลสำรวจไม่นาน ชาวเน็ตต่างตั้งข้อสงสัย และได้ตั้งคำถามถึงการสำรวจครั้งนี้ ว่าสำรวจใคร? หรือ เราอยู่ประเทศเดียวกันหรือเปล่า เนื่องจากปัจจุบันคนไทยส่วนมากมีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนสูง พุ่งสูงถึง 16 ล้านล้านบาท
ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (BIS) ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับที่ ‘น่ากังวล’เพราะสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับใกล้ 90% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศตลาดเกิดใหม่เกือบ 2 เท่า
ส่วนในเรื่องของ SME ไทย ก็เจอปัญหาสินค้าจีนทะลัก หรือทัวร์จีน 0 เหรียญที่สร้างความยากลำบากให้แก่ผู้ประกอบการไทยเป็นส่วนใหญ่
ในมุมของภาครัฐฯ นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุถึงการสำรวจของอิปซอสส์ ว่า ประเทศไทยติดอันดับ 7 ของประเทศที่ประชากรมีความสุขมากที่สุด โดยมีการสำรวจประชากรจำนวน 23,765 คน ใน 30 ประเทศ เป็นผู้มีอายุต่ำกว่า 75 ปี ช่วงระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2024 – 3 มกราคม 2025
ซึ่งในผลสำรวจมีการแบ่งระดับความสุขออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ มีความสุขมาก ค่อนข้างมีความสุข ไม่มีความสุข และไม่มีความสุขเลย โดยพบว่า มีคนไทยเพียงร้อยละ 2 ที่ระบุว่า “ไม่มีความสุขเลย” สะท้อนถึงคุณภาพชีวิตและสภาพจิตใจของคนไทยในภาพรวมที่ยังคงอยู่ในระดับดี
ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียที่ทำการสำรวจ 7 ประเทศ พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ของประเทศที่ประชากรมีความสุขมากที่สุด รองจากอินเดีย (อันดับ 1) และอินโดนีเซีย (อันดับ 2)
โดยผลสำรวจของประเทศไทย พบว่า ประชากรร้อยละ 18 ระบุว่ามีความสุขมาก ร้อยละ 61 ค่อนข้างมีความสุข ร้อยละ 19 ไม่มีความสุข และมีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่ระบุว่าไม่มีความสุขเลย โดยประเทศที่มีระดับความสุขใกล้เคียงกับไทย ได้แก่ มาเลเซีย ซึ่งอยู่ในอันดับเท่ากัน ตามมาด้วยสิงคโปร์และญี่ปุ่นในอันดับที่ 4 และเกาหลีใต้อยู่ในอันดับที่ 5
นายอนุกูล กล่าวว่า ผลสำรวจยังระบุถึงปัจจัยหลักที่ส่งเสริมความสุขของประชาชน 3 ประการ ได้แก่
ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่ส่งผลให้ระดับความสุขลดลง ได้แก่ ปัญหาทางการเงิน ปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาด้านสุขภาพโดยรวม และในด้านกลุ่มอายุ พบว่า ผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มที่มีระดับความสุขมากที่สุด นอกจากนี้ ผลวิจัยยังพบว่า ในกลุ่มเจเนอเรชัน Z (Gen Z) เพศชายมีระดับความสุขสูงกว่าเพศหญิงในช่วงวัยเดียวกัน
นอกจากนี้ นายอนุกูล ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า “รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกมิติ พร้อมเดินหน้ายกระดับบริการด้านสาธารณสุข การสร้างความมั่นคงทางรายได้ และการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อให้คนไทยมีความสุขในการดำรงชีวิต รวมถึงผลักดันนโยบายเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรวัยทำงานและผู้สูงอายุ”
อ้างอิง : รัฐบาลไทย