การเกิด Bitcoin Halving รอบก่อนหน้านี้ในปี 2020 ทำให้ตลาดคริปโทอยู่ในภาวะกระทิงจนดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาในตลาดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มาถึงปี 2024 ที่เพิ่งผ่านการ Halving ไปในเดือนเมษายน แต่ดูเหมือนว่าสภาวะแวดล้อมของตลาดจะแตกต่างไปจากช่วงปี 2020 พอสมควร เราไปดูกันว่าสองช่วงเวลามีความแตกต่างกันอย่างไร
การมาของนักลงทุนสถาบัน ช่วงปี 2020 นักลงทุนสถาบันยังมีสัดส่วนที่น้อยมากแต่มาถึงปี 2024 นักลงทุนสถาบันได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากการมาของ Bitcoin Spot ETF ที่ผ่านการอนุมัติจาก ก.ล.ต.สหรัฐฯ โดยนักลงทุนสถาบันอย่างเช่นเฮดจ์ฟันด์ กองทุนบำเหน็จบำนาญรวมถึงกองทุนประจำรัฐฯได้เข้ามาลงทุน Bitcoin ทางอ้อมผ่าน ETF แล้วแม้ว่าสัดส่วนยังน้อยมากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ดั้งเดิม แต่ถือว่าเป็นพัฒนาการที่ยิ่งใหญ่ของ Bitcoin
สถาบันการเงินเข้ามามีส่วนร่วม ปี 2024 นี้ถือเป็นการเปิดตัวสถาบันการเงินต่างๆที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับตลาดคริปโทอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบริการซื้อขาย Bitcoin ให้กับลูกค้า รวมถึงการมีส่วนร่วมกับโปรเจกต์ด้าน Real World Asset หรือการ Tokenize สินทรัพย์ในโลกการเงินเดิมเข้ามาสู่บล็อกเชน โดยเฉพาะผู้นำอย่าง Blackrock เทียบกับปี 2020 มีสถาบันการเงินจำนวนเล็กน้อยเท่านั้นที่มีส่วนร่วม
การเก็งกำไรที่หายไป ช่วงปี 2020-201 โลกคริปโทได้รู้จักกับเทคโนโลยีอย่าง DeFi GameFi Metaverse และ NFT ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ในช่วงเวลานั้นและสามารถดึงเม็ดเงินจากนักลงทุนรายย่อยเข้ามาในตลาดคริปโทได้อย่างมากด้วยผลตอบแทนที่อยู่ในระดับสูง แต่หลังจากที่ตลาดคริปโทเป็นขาลงมาต่อเนื่อง ประกอบกับฟองสบู่ที่หายไปและยังไม่มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามากระตุ้นตลาด ทำให้ถึงเวลานี้การเก็งกำไรในกลุ่มนักลงทุนรายย่อยยังไม่กลับมาอย่างเต็มตัว มีเพียงแค่กระแสของ Meme Coin แต่ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีใหม่แต่อย่างไร
การมาของภาคธุรกิจและแบรนด์ระดับโลก กระแสตื่นตัวของคริปโทในช่วงปี 2020 อาจเป็นแรงกระตุ้นให้ภาคธุรกิจต่างๆหันมาสนใจในเทคโนโลยีบล็อกเชน ไม่ว่าจะเป็นค่ายผู้ผลิตเกมส์ต่างๆที่ประกาศพัฒนาเกมส์ที่มีบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีเบื้องหลัง ล่าสุด Sony ที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นยังประกาศเปิดตัวบล็อกเชนของตัวเอง
ผู้ประกอบธุรกิจเริ่มเข้าหาการกำกับดูแล โดยเฉพาะ CEX หรือ Centralized Exchange ซึ่งในช่วงปี 2020 แม้ว่าจะเริ่มมีผู้ประกอบธุรกิจบางส่วนที่มีการขอรับใบอนุญาตทางด้านการเงินแล้วแต่ยังถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับในปัจจุบันที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงบางประเทศเริ่มที่จะออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบธุรกิจด้านคริปโทอย่างเช่น ฮ่องกง จากเดิมที่ไม่มีแนวคิดมาก่อนและ CEX เองก็เริ่มที่จะขอใบอนุญาตจากทางการมากขึ้นแม้ว่าธุรกิจหลักจะยังไม่มีการกำกับดูแล
ถ้าจะสรุปความแตกต่างของปี 2020 กับปัจจุบัน ตลาดคริปโทเริ่มที่จะมีพื้นฐานที่เข้มแข็งมากขึ้น มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะจากภาคการเงินและธุรกิจแบบดั้งเดิม แม้ว่าการเก็งกำไรจะหายไปค่อนข้างมากแต่แลกมากับความมีเสถียรภาพที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตามเรายังสามารถคาดหวังการเกิดขึ้นของ Bull Run ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ได้จากปัจจัยหนุนในเรื่องของสภาพคล่องจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะทำการปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายน โดยหลังจากที่ Bitcoin สามารถกลับมาสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้น่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้ตลาดคริปโทและ Altcoin ต่างๆกลับมาคึกคักอีกครั้ง
โดยธีมการลงทุนที่น่าจะมาแรงในขาขึ้นรอบนี้มีตั้งแต่ RWA และ AI ที่น่าจะเป็นตัวนำ ตามด้วยสายของ GameFi โดยมีม้ามืดอย่าง SocialFi หรือ DePins ที่อาจแทรกขึ้นมา ส่วน Meme Coin น่าจะยังคงเป็นกระแสต่อแต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนให้มาก
คอลัมนิสต์ : นเรศ เหล่าพรรณราย Founder Ricco,นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย