สินทรัพย์ดิจิทัล

เมื่อสกุลเงินที่เราถือครอง อาจไม่ตอบโจทย์ ‘บิทคอยน์’ อาจตอบโจทย์กว่า?

19 ก.ย. 67
เมื่อสกุลเงินที่เราถือครอง อาจไม่ตอบโจทย์ ‘บิทคอยน์’ อาจตอบโจทย์กว่า?

ครั้งหนึ่ง ‘American Dream’ แนวคิดทางสังคมในสหรัฐอเมริกาที่เชื่อว่า ทุกคนสามารถบรรลุความสำเร็จ ความสุข และความมั่งคั่งได้ หากพยายามทำงานหนักและใช้โอกาสที่มี ซึ่งมักถูกอธิบายด้วยภาพลักษณ์ของครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อทำงานหาเงิน ส่วนแม่ดูแลบ้านและลูก โดยมีบ้านหลังหนึ่งเป็นของตัวเอง และมีชีวิตที่มั่นคง

เมื่อสกุลเงินที่เราถือครอง อาจไม่ตอบโจทย์ ‘บิทคอยน์’ อาจตอบโจทย์กว่า?

สำหรับประเทศไทย ก็เคยมี ‘Thailand Dream’ เช่นกัน โดยสังคมไทยในยุคปี 2515 ครอบครัวสามารถซื้อบ้านได้ และใช้ชีวิตแบบมีความสุข ซึ่งตรงกันข้ามกับปัจจุบัน หลังมีงานวิจัยพบว่า การซื้อบ้านในกรุงเทพฯ กลายเป็นเรื่องยาก ต้องใช้รายได้จากคนทำงานสูงถึง 21 ปี เพื่อจะเป็นเจ้าของบ้านสักหลัง หรือพูดง่ายๆ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในการซื้อบ้านสูงถึง 9-10% แต่เงินเดือนของมนุษย์ออฟฟิศกลับเพิ่มขึ้นเพียง 1-2%

‘มนุษย์เงินเดือน’ ต้องต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมของระบบเศรษฐกิจ ทำงานอย่างหนักมากเพื่อประทังชีวิตรอดไปวันๆ หลายคนเริ่มตระหนักได้ว่า ‘เงิน’ ‘ร่างกาย’ และ ‘สังคม’ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างแน่นแฟ้น เมื่อเศรษฐกิจทรุด ความไม่เท่าเทียมในการกระจายรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างมาก

จากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ มีคนกลุ่มหนึ่งเริ่มมองว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นจากระบบสกุลเงินที่ไม่แข็งแรง และอาจถึงเวลาแล้วที่สังคม ต้องเปลี่ยนแปลงของระบบเงินที่ใช้อยู่ทุกวัน กล่าวคือ หรือ ‘บิทคอยน์’ จะเป็นรูปแบบการแลกเปลี่ยนที่อาจตอบโจทย์มากกว่าหรือไม่?

SPOTLIGHT ได้มีโอกาสร่วมงาน ‘Thailand Bitcoin Conference 2024’ เพื่อรับฟังหัวข้อ ‘Sick Money, Sick Body, Sick Society’ ผ่านมุมมองของ ‘ทพ.กฤตภพ วชาติมานนท์’ หรือ ‘หมอเอก’ ในประเด็นของความเชื่อมโยงระหว่างเงิน ร่างกาย และสังคม รวมทั้งปัญหาเงิน Fiat ที่กำลังเฟ้ออยู่ในตอนนี้

ความแตกต่างระหว่างเงิน Fiat กับ Bitcoin

‘เงิน Fiat’ คือ เงินที่ออกและควบคุมโดยรัฐบาลหรือธนาคารกลางของแต่ละประเทศ เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ (USD), ยูโร (EUR), หรือบาทไทย (THB) พูดง่ายๆ คือ เงินสดที่เราถือกันอยู่ทุกวันนี้ ปัจจุบัน เงิน Fiat เป็นที่ยอมรับในระดับโลก และสามารถใช้ในการทำธุรกรรมต่าง ทั้งในรูปแบบเงินสด และเงินที่ฝากในธนาคาร ซึ่งสามารถพิมพ์เงินเพิ่ม หรือลดจำนวนเงินที่หมุนเวียนในระบบได้ตามต้องการ

ในขณะที่ ‘บิทคอยน์’ (Bitcoin) เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ไม่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลหรือธนาคารกลาง โดยทำงานบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นระบบที่ทำงานแบบกระจายศูนย์ ทำให้การสร้างบิทคอยน์ใหม่ถูกจำกัด และมีการควบคุมอย่างเข้มงวด ด้วยอัลกอริธึมที่โปรแกรมไว้ในซอฟต์แวร์ และออกแบบให้มีปริมาณรวมที่จำกัด คือ 21 ล้านบิทคอยน์

หมอเอกเผยว่า มูลค่าของบิทคอยน์มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่มูลค่าเงิน Fiat กำลังเสื่อมลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่อัตราเงินเฟ้อทำให้การใช้ชีวิตยากขึ้น เปรียบเทียบง่ายๆ ในอดีต บิตคอยน์ 1 เหรียญ กับเงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ อาจซื้อสินค้าชิ้นเดียวกันได้ แต่ปัจจุบัน บิทคอยน์ 1 เหรียญสามารถซื้อรถได้หนึ่งคัน ในขณะที่เงินสดมูลค่า 20 ดอลลาร์ฯ อาจแทบจะซื้ออะไรไม่ได้เลย

เมื่อค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นจนเกินควบคุม

การเปลี่ยนแปลงของมูลค่าเงินเหล่านี้ รวมกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกปี สะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมค่าของระบบเงิน Fiat ที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา ภาวะเงินเฟ้อโดยรวมตั้งแต่ปี 2000 ถึงกลางปี 2022 เติบโตขึ้นทะลุ 74.4% โดยค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นมากถึง 200% รวมถึงค่าการศึกษาระดับปริญญาที่เพิ่มขิ้นเกิน 170% เช่นกัน

นอกจากนั้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาที่เพิ่มขึ้น ดันเติบโตเกินกว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกากว่า 80% ต้องเป็นหนี้สินจากการใช้บริการเกินวงเงินประกัน แม้ว่าผู้ป่วยจะมีประกันก็ตาม หมอเอกจึงมองว่า นี่เป็นผลมาจากการถือครองสกุลเงินที่ด้อยมูลค่า และการเฟ้อของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาของระบบเงินที่ถือครอง

ไม่เพียงเทานี้ การดูแลสุขภาพไม่ได้ขึ้นอยู่แค่กับเงินเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม การใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อม และปัจจัยทางจิตใจ แต่สิ่งที่หลายคนมองข้าม คือ การเงินที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ ทุกวันนี้แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีประกันสุขภาพ แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น มูลค่าของประกันสุขภาพก็แพงขึ้นเช่นกัน

หมอเอกจึงตั้งคำถามสำคัญที่สะท้อนถึงปัญหานี้ว่า “อัตราเงินเดือนที่เราได้รับ จากการถือครองเงิน Fiat สามารถครอบคลุมการดูแลสุขภาพที่ดีได้หรือไม่?”

‘บิทคอยน์’ ทางออกในโลกที่ไม่แน่นอน

หมอเอกมองว่า ในสังคมที่เงิน Fiat กำลังเสื่อมมูลค่า การมองหาเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่ถูกควบคุมอย่าง ‘บิทคอยน์’ อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ตามแนวคิดหลัก ‘Don't trust, verify’ ไม่เชื่อในสิ่งที่เห็น แต่ต้องตรวจสอบก่อนเสมอ เช่นเดียวกับระบบเงิน Fiat ในปัจจุบัน บ่อยครั้งผู้ใช้งานถูกหลอกลวงโดยข้อมูลที่ผิดพลาด หากไม่ตรวจสอบความจริง ก็อาจต้องติดอยู่ในวงจรที่ไม่ยุติธรรมต่อไป

“เมื่อเรามองดูโลกในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าปัญหาทางการเงินส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมอย่างชัดเจน การเผชิญหน้ากับอัตราเงินเฟ้อที่สูง การรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น และความไม่เท่าเทียมในการกระจายรายได้ ทำให้เราต้องหันกลับมาถามตัวเองว่า สิ่งที่เราถือครองอยู่มีค่าเพียงพอหรือไม่? การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอาจเป็นทางออกเดียวที่เราสามารถสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น” หมอเอก ปิดท้าย

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT