สินทรัพย์ดิจิทัล

Bitcoin ETF สร้างแรงกระเพื่อมไปยังหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก

18 ม.ค. 67
Bitcoin ETF สร้างแรงกระเพื่อมไปยังหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก

Bitcoin ETF สร้างแรงกระเพื่อมไปยังหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก..แต่มันเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น

การอนุมัติ Bitcoin ETF ของ ก.ล.ต. สหรัฐฯนอกเหนือจากสร้างแรงกระเพื่อมไปยังนักลงทุนทั่วโลกแล้วยังมี After Shock ต่อเนื่องไปจนถึงหน่วยงานกำกับดูแลการเงินทั่วโลกด้วยเช่นกันถึงประเด็นที่จะจัดการอย่างไรต่อไปกับ Bitcoin ที่ตอนนี้กลายเป็นสินทรัพย์ที่คนทั้งโลกสามารถเข้าถึงได้แล้ว

หน่วยงานกำกับดูแลบางแห่งมีปฎิกิริยาในเชิงบวก อย่างเช่นฮ่องกงที่มีแผนจะเปิดตัว Bitcoin ETF ด้วยเช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้เพิ่งจะเปิดให้มาขอใบอนุญาติศูนย์ซื้อขายหรือ Exchange

อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งสหรัฐฯซึ่งเป็นผู้อนุมัติเองก็มีปฎิกิริยาในเชิงลบ อย่าง Gerry Glenser ประธานของ ก.ล.ต. สหรัฐฯที่ออกแถลงการณ์ไม่ได้ยอมรับใน Bitcoin แต่ทำเพราะคำสั่งศาล หรือ Alizabeth Warren ส.ว. สหรัฐฯที่ออกมาเรียกร้องให้มีกฎหมายกำกับดูแลคริปโตอย่างจริงจัง

ทางด้าน ก.ล.ต. ไทย ได้มีแถลงออกมาว่ายังต้องจับตาพัฒนาการของ Bitcoin หลังจากนี้ต่อไป แม้ว่าจะได้รับการจัดตั้งเป็น ETF ได้แล้วก็ตาม โดยมองว่ายังไม่อยู่ในบริบทที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยในเวลานี้ ตามมาด้วยการจำกัดการลงทุนใน Bitcoin ETF ของคนไทยจะต้องมีพอร์ตลงทุนระดับ 50 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น

ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีปฎิกิริยาในเชิงบวกหรือลบ แต่ที่แน่ๆคือการมี Bitcoin ETF ยังเป็นเพียงแค่ก้าวแรกเท่านั้นของการที่ Bitcoin จะพิสูจน์ตัวเองในฐานะสินทรัพย์การลงทุนที่มีคุณภาพรวมถึงคุณลักษณะการเป็น Store Of Value ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องของโอกาสที่จะควบคุมราคา (Manipulate) ได้หากมีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามา รวมถึงความผันผวนของราคา

ถ้าหาก Bitcoin ผ่านบททดสอบนี้ ก็มีโอกาสที่จะค่อยๆได้รับการยอมรับจากหน่วยงานกำกับดูแลหรือนักลงทุนที่มีอิทธิพลสูง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทในตลาดหุ้นรวมถึงสถาบันการศึกษาที่ต้องการกระจายพอร์ตลงทุน ไปจนถึงกองทุนบำเหน็จบำนาญระดับโลกที่มีนโยบายลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ

Bitcoin ETF
ภาพจาก AFP : 11 มกราคม 2567 Samara Cohen ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ ETF และ Index Investments ที่ Blackrock (C) ส่งเสียงระฆังเปิด ในขณะที่ Bitcoin Spot ETF เปิดตัวใน Nasdaq Exchange 

หากนักลงทุนกลุ่มนี้เริ่มลงทุนใน Bitcoin แล้วไม่มีปัญหาอะไรอาจเป็นไปได้ว่านักลงทุนสถาบันรายใหญ่ที่มีหมวกของภาครัฐสวมอยู่อย่างเช่นกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติหรือแม้แต่ธนาคารกลางก็อาจจะพิจารณาการลงทุนใน Bitcoin ได้ด้วยเช่นกัน

จริงๆแล้วตอนนี้หน่วยงานกำกับดูแลการเงินทั่วโลกต่างเปิดรับเทคโนโลยีบล็อกเชนมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เพียงแต่ยังเลือกที่จะส่งเสริมหรือกำกับดูแลในบริบทที่มีความเหมาะสมกับแต่ละประเทศ อย่างเ่นสิงคโปร์ไม่ส่งเสริมในมุมการลงทุนแต่ส่งเสริมในเชิง Use Case แต่ฮ่องกงไปส่งเสริมเชิงการลงทุนด้วยการจะให้มี  Bitcoin ETF เหมือนกัน

ด้าน ก.ล.ต ไทย ตอนนี้กำลังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการระดมทุนด้วยดิจิทัลโทเคน ซึ่งสำนักงานน่าจะมองว่าเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยในปัจจุบันมากกว่า แต่จะจับตามองพัฒนาการของ Bitcoin ETF อย่างต่อเนื่อง

แม้ Bitcoin จะเดินทางมาไกลกว่า 15 ปี จากเด็กวัยรุ่นเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ที่มีความมั่นคงมากขึ้น แต่ปีนี้เพิ่งจะเป็นก้าวแรกเท่านั้นในการจะพิสูจน์ความเป็นผู้ใหญ่ของ Bitcoin ถ้าหากสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ อนาคต หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกจะให้การยอมรับมากขึ้นก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน

นเรศ เหล่าพรรณราย

นเรศ เหล่าพรรณราย

Director Crypto City Connext และ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย

advertisement

SPOTLIGHT