เปิดโครงสร้างต้นทุนราคาน้ำมัน..ปัญหาอยู่ตรงไหน?

18 พ.ย. 64

 

ทำไมต้องรู้ว่าน้ำมัน 1 ลิตร มีต้นทุนอะไร ?

เพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันในประเทศไทยปัจจุบันกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าควรจะต้องทำให้ราคาถูกลงกว่าปัจจุบันหรือไม่ เพราะในปี 2564 นี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น จนทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไทยปรับขึ้นตาม โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่ขึ้นไปเฉียด 30 บาท/ลิตร เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการภาคขนส่งรถบรรทุก มีการออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพยุงราคาน้ำมันดีเซลเหลือ 25 บาท/ลิตร ขณะที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย เสนอทางรอด ให้รัฐลดภาษีสรรพสามิตรน้ำมันลง 5 บาท เพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 25 บาท/ลิตร อีกด้านก็มีข้อเสนอให้ลดการผสมไบโอดีเซล เพราะ ปาล์มราคาสูงทะลุ  9 บาท/กก. และปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ผสมไบโอดีเซลทั้ง B7 B10 และ B20 ซึ่งเป็นต้นทุนของน้ำมันดีเซลหรือไม่ ฝั่งชาวสวนผู้ปลูกปาล์ม ก็อยากให้ประเทศใช้ไบโอดีเซลต่อไป แต่อยากให้รัฐช่วยดูแลต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะปุ๋ยที่มีราคาสูงขึ้น    

 

รัฐบาลแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงอย่างไร?

วิธีการรับมือของรัฐบาลในขณะนี้คือ การใช้เงินจากกองทุนน้ำมัน ไปอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล แต่ในที่สุดก็ทำให้กองทุนน้ำมันตกอยู่ในสภาพติดลบ จนทำให้ครม.เมื่อวันที่ 16 พ.ย.64 อนุมัติให้กองทุนน้ำมันสามารถกู้เพิ่มได้  โดยขยายกรอบเพดานการกู้เงินให้เป็น 30,000 ล้านบาท ส่วนทางรัฐมนตรีคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ยืนยันว่า การดูแลราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ จะยังไม่ใช้วิธีลดภาษีสรรพสามิตร จะใช้กองทุนน้ำมันเป็นเครื่องมือหลักเท่านั้น ส่วนนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงคมนาคมจัดรถไฟและรถบขส.รับส่งสินค้าให้ และถ้ามีความจำเป็นก็จะใช้รถทหารช่วยขนส่งสินค้าด้วยหากรถบรรทุกประท้วงหยุดวิ่ง  ฟากกระทรวงพลังงาน ยืนยันที่จะไม่เลิกการการใช้สูตรผสมไบโอดีเซล เพราะมองว่่า เป็นการช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศ ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศไปได้บ้าง     

 

ต้นทุนราคาน้ำมันขายปลีก 1 ลิตรมีอะไรบ้าง?

โครงสร้างของราคาขายปลีกน้ำมัน  1 ลิตร ประกอบไปด้วยต้นทุน 8 ส่วน

1.ราคาน้ำมันสำเร็จรูป   ซึ่งคือน้ำมันดิบที่ผ่านการกลั่น ยังไม่ได้รวมภาษี เงินกองทุน อื่นใด  

2.ภาษีสรรพสามิตร   น้ำมันเป็นสินค้าที่มีการเก็บภาษีสรรพสามิตร เพราะจัดอยู่หมวดที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้  

3.ภาษีเทศบาล   เก็บเพื่อไปบำรุงพื้ที่ ปัจจุบันอยู่ในอัตราประมาณ10% ของภาษีสรรพสามิตร

4.กองทุนน้ำมัน   มีไว้เพื่อรักษาเสถียนรภาพราคาน้ำมันในประทศ

5.กองทุนอนุรักษ์พลังงาน   มีไว้เพื่อไปใช้พัฒนาพลังานทางเลือกต่าง  

***รวมต้นทุนทั้ง 5 ข้อนี้ จะได้เป็น “ราคาขายส่ง”  *****

6.ภาษีมูลค่าเพิ่ม   เก็บ 7 % ของราคาขายส่ง

7.ค่าการตลาด   คือค่าดำเนินการของผู้ค้าน้ำมันและกำไรรวมกันเป็นค่าการตลาด 

8.ภาษีมูลค่าเพิ่ม  คิด 7 % จากค่าการตลาดอีกที 

***ครบ 8 ต้นทุนนี้แล้ว  มันจึงออกมาเป็นราคาขายปลีกน้ำมันใน 1 ลิตร****

 

น้ำมันแต่ละประเภท มีต้นทุน 8 ส่วนไม่เท่ากัน!

ดูจากตารางสรุป พบว่า ต้นทุนราคาน้ำมันปลายปลีก หน้าโรงกลั่น มีสัดส่วนราว 50% ในน้ำมันเบนซินธรรมดา ที่เหลืออีกราว 50 % คือต้นทุนในกลุ่มภาษี เงินกองทุนต่างๆ ทำให้ราคาเบนซินที่ไม่ผสมแก๊สโซฮอล์เป็นน้ำมันที่มีราคาแพงสุด  ส่วนเซนซินแก๊ศโซฮฮล์ ทั้ง E10 E20 เก็บภาษีสรรพสามิตรอยู่ประมาณ 5.85 บาท/ลิตร  และกองทุนน้ำมันอุดหนุน เบนซินแก๊สโซออล์ 2 ตัว คือ E20 อุดหนุน 2.28 บาท/ลิตร และ E85 อุดหนุนสูงถึง 7.13 บาท/ลิตร

.

ส่วนกลุ่มดีเซล จะเห็นได้ว่า รัฐใช้เงินกองทุนอุดหนุนดีเซลทุกประเภท มากที่สุดคือดีเซล  B20 ถึง 4.80 บาท/ลิตร ส่วนดีเซล B10 อุดหนุน 2.56 บาท/ลิตร ขณะที่ภาษีสรรพสามิตร เก็บสูงสุดในกลุ่มดีเซล คือ  B7 เก็บอยู่  5.99 บาท /ลิตร

484281

 

บทสรุปจะจบอย่างไร?

น้ำมันเป็นสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของทุกคนทุกภาคส่วน เมื่อน้ำมันแพงก็เป็นต้นทุนให้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของผู้คนแพงขึ้นตามไปด้วย แต่อีกมุมนึงต้องยอมรับว่า ประเทศไทยพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ เมื่อตลาดโลกขึ้น ไทยก็ต้องขึ้นตาม สิ่งสำคัญ คือการบริหารจัดการโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศว่าจะบริหารจัดการอย่งไร ในอดีตไทยเคยอุดหนุนราคาน้ำมันจนกองทุนน้ำมันติดลบเป็นหมื่นล้านมาแล้ว บทเรียนครั้งนั้น ก็ทำให้การใช้กองทุนน้ำมันก็มีความระมัดระวังเช่นกัน  แต่หากปล่อยประชาชนมีต้นทุนจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้นก็กระทบต่อรัฐบาลอีกเช่นกัน...น้ำมันแพงปี2564จึงกลายเป็นเผือกร้อนที่ต้องหาทางออกต่อไป

 

 

advertisement

Powered by อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ข่าวยอดนิยม