21 พฤษภาคม 2568 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ พบประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ซีริล รามาโฟซา (Cyril Ramaphosa) ที่ทำเนียบขาว ทบทวนความสัมพันธ์สองประเทศที่ตึงเครียดตั้งแต่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง ตัดงบประมาณช่วยเหลือแอฟริกา และกล่าวหาว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนขาว
ซีริล รามาโฟซา เดินทางมาที่ทำเนียบขาวเพื่อเจรจากับโดนัลด์ ทรัมป์ หวังแก้ไขความสัมพันธ์ของสองประเทศที่ทรุดลงหลังการกลับมาดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ของทรัมป์ โดยเฉพาะกรณีการเหยียดเชื้อชาติและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนผิวขาวในแอฟริกาใต้ หรือคนอาฟรีกาเนอร์
ทรัมป์กล่าวถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนขาวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 วิจารณ์กฎหมายเวนคืนที่ดินและกฎหมายโควตาแรงงานว่าให้ประโยชน์กับคนผิวดำ และเพ่งเล็งยึดผลประโยชน์คนอาฟรีกาเนอร์ กล่าวว่าคนผิวขาวเป็น “กลุ่มเปราะบาง”
นอกจากจะวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลแอฟริกาใต้อย่างต่อเนื่อง ทรัมป์เพิ่มภาษีตอบโต้ต่อแอฟริกาใต้ 30% พร้อมทั้งตัดงบประมาณช่วยเหลือทั้งหมดจากสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ งบประมาณส่วนใหญ่เป็นงบประมาณช่วยเหลือโครงการทำงานด้าน AIDS และ HIV และเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทรัมป์ต้อนรับชาวอาฟรีกาเนอร์ 59 คนให้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐฯ และเตรียมต้อนรับคนอาฟรีกาเนอร์เพิ่มในเดือนต่อ ๆ ไป
ในห้องทำงานรูปไข่ ทรัมป์เปิดฉากด้วยการไล่เรียงรายการสิ่งน่ากังวลที่เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อคนขาวหรือคนอาฟรีกาเนอร์ ด้วยเคยถูกกล่าวหาว่าคำอ้างของตนไม่มีหลักฐาน ครั้งนี้ทรัมป์หรี่ไฟในห้องทำงานรูปไข่ลงเพื่อฉายวิดีโอหลักฐาน พร้อมกางเอกสารทั้งหลายที่พิมพ์มา
ตลอดการพบกันของสองประธานาธิบดี อีลอน มัสก์นั่งสังเกตการณ์อย่างสงบนิ่งที่มุมหนึ่งของห้อง
วิดีโอที่ทรัมป์ฉายบนโทรทัศน์ ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ได้ตั้งอยู่ในห้องทำงานรูปไข่แต่ถูกยกเข้ามาเพื่อการนี้ ฉายภาพไม้กางเขนสีขาวหลายไม้ ที่ทรัมป์กล่าวว่าเป็นหลุมศพของชาวอาฟรีกาเนอร์ที่ถูกฆาตกรรม วิดีโอดังกล่าวถูกบันทึกในเดือนกันยายน ปี 2020 ฉายภาพการประท้วงกรณีการสังหารชาวไร่คนผิวขาว
นอกจากนี้ ยังมีภาพผู้นำฝ่ายค้านกล่าวสุนทรพจน์ปลุกระดม ทรัมป์เสนอว่าหนึ่งในนั้น คือ จูเลียส มาเลมา ซึ่งทรัมป์กล่าวว่าควรถูกจับกุม มีภาพนักการเมืองหัวรุนแรงของแอฟริกาใต้ร้องเพลง “Shoot the Boer”
ไม้กางเขนในวิดีโอไม่ได้แสดงถึงหลุมศพจริง แต่เป็นสัญลักษณ์แทนเกษตรกรที่ถูกสังหารตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทรัมป์มีท่าทีพอใจขณะฉายวิดีโอเหล่านั้น และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าไม้กางเขนสีขาวที่เป็นหลุมศพของชาวอาฟรีกาเนอร์นั้นอยู่ที่ใด ทรัมป์ตอบเพียงแต่ “แอฟริกาใต้”
“เรามีผู้คนจำนวนมากที่รู้สึกว่าพวกเขาถูกข่มเหง และพวกเขาเดินทางมาสหรัฐฯ [...] เราพามาจาก…หลายที่ ที่เรารู้สึกว่ามีการข่มเหงรังแก หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น” ทรัมป์กล่าว พูดถึงเกษตรกรคนอาฟรีกาเนอร์
“คนพวกนี้ลี้ภัยออกมาจากแอฟริกาใต้เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ที่ดินพวกเขากำลังถูกยึด แล้วหลายครั้งพวกเขาก็ถูกฆาตกรรม” ทรัมป์กล่าวต่อ
ตลอดการฉายภาพหลักฐานของทรัมป์ ประธานาธิบดีรามาโฟซายังคงสงบนิ่ง ไม่แสดงอารมณ์ และกล่าวว่าไม่เคยเห็นวิดีโอที่ทรัมป์แสดงให้ดูมาก่อน เขายืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหาของทรัมป์
“หากมีคนอาฟรีกาเนอร์ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผมพนันกับคุณได้เลย สุภาพบุรุษทั้งสามท่านนี้คงไม่ได้นั่งอยู่ที่นี่” รามาโฟซากล่าว กล่าวถึงนักกอล์ฟ เออร์นี่ เอลส์ และ เรทีฟ กูสเซ่น รวมถึงมหาเศรษฐี โยฮัน รูเพิร์ต ซึ่งล้วนเป็นชาวผิวขาว และอยู่ในห้องในขณะนั้น
คำตอบของประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ทำให้ทรัมป์ไม่สบอารมณ์เท่าไหร่ และยืนยันคำอ้างเดิมของตน
“เรามีเรื่องเล่าเป็นพันจะเล่าได้ เรามีเอกสาร เรามีข่าว เรื่องพวกนี้ต้องมีคำตอบ” ทรัมป์กล่าว ก่อนหยิบเอกสารที่พิมพ์มาเพื่อสมทบคำอ้างของเขา เอกสารเหล่านั้น เขากล่าวว่าเป็นสำเนาของบทความ ที่แสดงให้เห็นว่ามีคนผิวขาวถูกฆาตกรรม เขาพลิกกระดาษไปมาพร้อมพูดว่า “ตาย ตาย” และส่งให้รามาโฟซา
รามาโฟซากล่าวว่า มีการฆาตกรรมและอาชญากรรมจำนวนมากในแอฟริกาใต้ แต่เหยื่อส่วนใหญ่เป็นคนดำ
ทรัมป์ขัดจังหวะคู่สนทนาและกล่าวว่า “เกษตรกรไม่ใช่คนดำ”
รามาโฟซาตอบกลับว่า “นั่นเป็นความกังวลที่เรายินดีจะคุยกัน”
รามาโฟซาไม่แสดงท่าทีหุนหันเหมือนกับประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ที่เข้าพบทรัมป์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์และจบลงด้วยการโต้เถียง และออกจากห้องประชุมก่อนเวลา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ยังกล่าวชมการตกแต่งห้องทำงาน ก่อนที่นักธุรกิจชาวอาฟรีกาเนอร์ รูเพิร์ต จะกล่าวสนับสนุนรามาโฟซาในตอนจบ กล่าวว่าการฆาตกรรมเกิดขึ้นมากในแอฟริกาใต้ แต่คนผิวดำก็ตกเป็นเหยื่อเช่นกัน
ทรัมป์และอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเชื้อสายอาฟรีกาเนอร์ ยึดทฤษฎีสมคบคิดเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนขาวและใช้เป็นข้อโต้แย้งโจมตีแอฟริกาใต้อย่างต่อเนื่อง ทฤษฎีนี้เป็นที่แพร่หลายในกลุ่มขวาจัดมานานกว่าทศวรรษ
แม้จะมีการแบ่งแยกระหว่างคนผิวดำซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และคนผิวขาวซึ่งเป็นประชากรที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากกว่า แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าไม่มีหลักฐานรองรับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และชี้ว่าการฆาตกรรมคนขาวถือว่าเป็นส่วนน้อยเทียบกับจำนวนคดีอาชญากรรมทั้งหมดของประเทศ ในปี 2023 มีคดีการโจมตีชาวไร่ผิวขาวเพียง 49 คน จากจำนวนคดีฆาตกรรมทั่วประเทศราว 27,000 ราย และในปี 2024 มีคนผิวขาวถูกฆาตกรรม 44 คน จากจำนวนคนถูกฆาตกรรมราว 26,000 ราย
ทุกการฆาตกรรมเป็นเรื่องน่าเศร้า และไม่สมควรเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกการฆาตกรรมจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ตัวเลขผู้ถูกฆาตกรรมคนขาว เทียบกับคนดำ หากเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรคนขาว และคนดำในแอฟริกาใต้ จะพบว่าจำนวนคนขาวถูกฆาตกรรมมีสัดส่วนน้อยกว่าสัดส่วนประชากรคนขาวมาก อ้างอิงข้อมูลจาก South African Population
ส่วนกฎหมายเวนคืนที่ดินที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่พอใจนั้น ให้อำนาจแก่รัฐบาลแอฟริกาใต้ในการเวนคืนที่ดินจากภาคเอกชน แต่จะทำได้เฉพาะเมื่อเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะและอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางประการเท่านั้น และแม้ว่าจะไม่มีการกล่าวถึงสีผิวในกฎหมายเลย กลุ่มคนผิวขาวในแอฟริกาใต้กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มุ่งเป้าโจมตีพวกเขาเป็นหลัก
นอกจากนี้เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม มีการปรับปรุงกฎหมายแรงงาน รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานแอฟริกาใต้สามารถกำหนดเป้าหมายการจ้างงานของคนผิวดำ ผู้หญิง และผู้พิการ ในภาคการทำงานที่รัฐบาลกำหนด และหากไม่สามารถสร้างงานให้กลุ่มเปราะบางเหล่านี้ได้ตามที่รัฐบาลกำหนด บริษัทจะต้องจ่ายค่าปรับ พรรค Democratic Alliance ซึ่งเป็นพรรคของคนผิวขาวในแอฟริกาใต้ชี้ว่าแนวทางดังกล่าวเป็นเผด็จการ
ระหว่างการสนทนา ทรัมป์กล่าวว่า “ผมขอบอกว่า ยุคแบ่งแยกสีผิวนั้นเลวร้าย นี่ก็ตรงข้ามกับยุคแบ่งแยกสีผิว” ทรัมป์กล่าวถึงยุคหนึ่งในแอฟริกาใต้ที่มีการแบ่งแยกระหว่างคนดำและคนขาวอย่างถูกกฎหมาย
ยุคแบ่งแยกสีผิว กินเวลาตั้งแต่ปี 1948–1994 เกิดขึ้นจากการจัดกลุ่มประชากรโดยรัฐบาลคนผิวขาวหรือชาวอาฟรีกาน โดยใช้สีผิวเป็นเกณฑ์ แบ่งเป็นคนผิวขาว คนผิวดำ คนผิวสี และคนอินเดีย (สองกลุ่มหลังยังมีการแบ่งแยกย่อยลงไปอีก)
การแบ่งแยกดังกล่าวมีผลกับการดำเนินชีวิตประจำวันทุกย่างก้าว เช่น การแบ่งแยกที่อยู่อาศัย โอกาสในการทำงาน การแบ่งแยกการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แม้แต่การห้ามแต่งงานหรือมีปฏิสัมพันธ์ข้ามเชื้อชาติ
ระหว่างปี 1960–1983 คนผิวดำราว 3.5 ล้านคนถูกบีบให้ต้องย้ายออกจากบ้านของตนไปอยู่ในย่านที่อยู่อาศัยของคนผิวดำ เนื่องจากกฎหมายแบ่งแยกที่พักระหว่างคนต่างเชื้อชาติ และแน่นอนว่าคนผิวขาวคือผู้ที่อยู่สูงสุดในระบบนี้
ยุคแห่งการแบ่งแยกยุติลง หลังการเจรจาทวิภาคีและพหุภาคีช่วงปี 1990–1993 ซึ่งนำไปสู่การรับรองรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในปี 1993 และการเลือกตั้งทั่วไปแบบไม่มีการแบ่งแยกสีผิวในปี 1994 โดยผู้ชนะคือ เนลสัน แมนเดลา ประธานาธิบดีคนดำคนแรกในประเทศที่ประชากรมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นคนผิวดำ และพรรค African National Congress ชนะการเลือกตั้งต่อเนื่องมาตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน