วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2568 รัฐบาลสหรัฐฯ ต้อนรับชาวแอฟริกาใต้ผิวขาว 59 คนที่เดินทางถึงสหรัฐฯ ในฐานะผู้ลี้ภัย ทรัมป์กล่าวว่า พวกเขาคือเหยื่อการเลือกปฏิบัติและการเหยียดเชื้อชาติอย่างแท้จริง
ท่าทีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีต่อผู้อพยพแข็งกร้าวมาเสมอตั้งแต่สมัยหาเสียงเลือกประธานาธิบดี และยังได้ดำเนินการหลายประการเพื่อผลักดันให้ผู้อพยพบางกลุ่มเดินทางออกจากสหรัฐฯ ตามนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน”
ผู้อพยพส่วนใหญ่ที่ทรัมป์ผลักออกจากประเทศมักไม่ใช่คนผิวขาว แต่พุ่งเป้าไปที่คนผิวสี อย่างคนจากประเทศละตินอเมริกา หรือผู้อพยพจากแอฟริกา อย่างไรก็ดีในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทรัมป์เสนอให้คน “อาฟรีกาเนอร์” มาตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐฯ
คริสโตเฟอร์ แลนเดา (Christopher Landau) รองเลขาธิการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้การต้อนรับผู้ลี้ภัยทั้ง 59 คนที่ท่าอากาศยานนานาชาติวอชิงตัน ดัลเลส เขากล่าวว่า ชาวอาฟรีกาเนอร์ส่วนมากเป็นครอบครัวเกษตรกรรมที่กำลังถูกท้าทายข่มเหงจากกฎหมายเวียนคืนที่ดินและความรุนแรง
อาฟรีกาเนอร์ คือกลุ่มประชากรชาวแอฟริกาใต้ที่เป็นคนผิวขาว ส่วนใหญ่รวมตัวเป็นชุมชนเกษตรกรรมในประเทศ มีต้นกำเนิดจากชาวดัตช์ที่เดินทางมาถึงแอฟริกาใต้ในปี 1600 อย่างไรก็ตาม เพราะประเทศแอฟริกาใต้ตกเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรในศตวรรษที่ 17 และ 18 ทำให้พลวัตด้านเชื้อชาติมีคนผิวขาวอยู่เหนือคนผิวดำมาแทบจะตลอดระยะเวลา 400 ปีหลัง
การแบ่งแยกลากยาวต่อเนื่องมาถึงยุคแบ่งแยกสีผิว (Apartheid) ระหว่างปี 1948–1994 ที่ทำให้คนผิวขาวอยู่เหนือคนผิวดำอย่าง “ถูกต้องตามกฎหมาย” และแม้ยุคแบ่งแยกนี้จะจบไปแล้ว ก็ยังทิ้งมรดกรอยแยกระหว่างคนสองสีผิวอยู่จนถึงปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวถามประธานาธิบดีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า เหตุใดจึงให้ความสำคัญกับคนผิวขาวกลุ่มนี้ก่อนเหยื่อภาวะขาดแคลนอาหารและสงครามในพื้นที่อื่นของแอฟริกา ทรัมป์ตอบโดยไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ชาวอาฟรีกาเนอร์ถูกฆ่า
“มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น” ทรัมป์ตอบผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาว และกล่าวว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนอาฟรีกาเนอร์เพราะพวกเขาเป็นคนขาว และกล่าวว่า “เชื้อชาติไม่มีผลกับผม”
ไม่มีหลักฐานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาฟรีกาเนอร์ในแอฟริกาใต้อย่างที่ประธานาธิบดีทรัมป์ และมหาเศรษฐีอาฟรีกาเนอร์ อีลอน มัสก์ กล่าว แต่ทั้งสองผู้นำก็จริงจังกับการจัดการปัญหาในแอฟริกาใต้มาก
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทรัมป์วิจารณ์กฎหมายเวียนคืนที่ดินของรัฐบาลแอฟริกาใต้ ซึ่งนำโดยพรรคคนผิวดำ The African National Congress ว่า เป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวขาว และสัญญาว่า จะลงโทษแอฟริกาใต้ด้วยการตัดงบประมาณช่วยเหลือทั้งหมดจากสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ
กฎหมายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเวียนคืนที่ดินเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ ไม่มีการระบุเชื้อชาติเจ้าของที่ดินในตัวบทกฎหมาย และถึงปัจจุบันยังไม่มีการยึดที่ดินผืนใด
โบสถ์อีปิสโคปอล (The Episcopal Church) ขอยุติการทำงานกับรัฐบาลกลางด้านผู้อพยพหลังรัฐบาลขอให้โบสถ์ช่วยจัดการเรื่องการตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐฯ ให้ชาวอาฟรีกาเนอร์
“ช่างเจ็บปวดเหลือเกินที่ต้องเห็นผู้อพยพกลุ่มหนึ่ง ได้รับการคัดเลือกด้วยวิธีพิเศษอย่างยิ่ง ได้รับการปฏิบัติพิเศษเหนือกลุ่มอื่น ผู้ที่ทนรอในค่ายผู้ลี้ภัยหรือสภาวะอันตรายนานหลายปี” ฌอน โรว์ บิชอป ผู้ดำรงตำแหน่งประธานโบสถ์ เขียนในจดหมายถึงผู้ติดตามคริสตจักร
ด้านวุฒิสมาชิก จีน ชะฮีน (Jeanne Shaheen) สมาชิกพรรคเดโมแครตที่อาวุโสที่สุดในคณะกรรมาธิการต่างประเทศกล่าวถึงการเคลื่อนไหวครั้งนี้ของทรัมป์ว่า “น่าสับสน”
“การตัดสินใจครั้งนี้ของรัฐบาลนี้ ที่วางคนกลุ่มหนึ่งไว้แถวหน้าสุดมีแรงจูงใจทางการเมืองอย่างชัดเจน และเป็นความพยายามจะเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่” เธอกล่าวในแถลงการณ์วันจันทร์ที่ผ่านมา
ชาร์ล ไคลน์เฮาส์ วัย 46 ปี คือหนึ่งในผู้ลี้ภัยจากแอฟริกาใต้ที่เดินทางมาถึงเมื่อวานนี้ เขาและครอบครัวจะตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก เขากล่าวว่าถูกข่มขู่และมีคนพยายามจะอ้างสิทธิในที่ดินของเขา
“เราไม่คิดเลยว่ากฎหมายเวียนคืนที่ดินจะไปถึงขั้นนี้” ชาร์ลกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่าชาวอาฟรีกาเนอร์บางส่วนจะเดินทางไปตั้งถิ่นฐานที่รัฐมินนิโซตา รัฐฐานเสียงของพรรคเดโมแครตที่มีชื่อเสียงเรื่องการยอมรับการตั้งถิ่นฐานของผู้อพยพ ขณะที่ผู้ลี้ภัยอีกหลายคนวางแผนจะไปตั้งถิ่นฐานที่ไอดาโฮ และอลาบามา
แทมมี บรูซ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า สหรัฐฯ เตรียมต้อนรับผู้อพยพอาฟรีกาเนอร์ คนผิวขาวจากแอฟริกาใต้เพิ่มในเดือนหน้า