ท่ามกลางสงครามและความขัดแย้งมากมายที่เกิดขึ้นพร้อมกันในโลก สงครามกลางเมืองซูดานดูเหมือนจะไม่ปรากฏในขอบเขตความสนใจของโลกมากเท่ากับรอยเลือดและความโหดร้ายที่ประทับบนแผ่นดินซูดานตลอดระยะเวลากว่าสองปีที่ผ่านมา
ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2023 สงครามกลางเมืองซูดานปะทุขึ้นอย่างเป็นทางการ เริ่มจากการปะทะกันระหว่างสองกลุ่มติดอาวุธ คือ กองทัพซูดาน (Sudanese Armed Forces: SAF) และกองกำลังสนับสนุนด่วน (Rapid Support Forces: RSF) ซึ่งทั้งสองกลุ่มเป็นคู่แข่งกันภายในรัฐบาลทหารของประเทศซูดาน
SAF มีผู้นำคือ อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน (Abdel Fattah al-Burhan) ประธานคณะมนตรีทหารเฉพาะกาล และผู้นำสูงสุดของรัฐบาลในช่วงเปลี่ยนผ่าน หลังรัฐบาลพลเรือนล่มสลาย โดยดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2019
ในขณะที่ RSF มีผู้นำคือ โมฮัมเหม็ด ฮัมดาน ดากาโล (Mohamed Hamdan Dagalo) หรือที่รู้จักในชื่อ เฮเมดตี (Hemedti) ผู้เคยเป็นพันธมิตรของอัล-บูร์ฮาน มีความสัมพันธ์ย้อนกลับไปตั้งแต่สงครามในดาร์ฟูร์เมื่อปี 2003 และเคยร่วมกันทำรัฐประหารในปี 2019 ก่อนจะแตกหัก กลายเป็นศัตรูที่ช่วงชิงอำนาจสูงสุดของประเทศ จนแผ่นดินต้องนองเลือดอย่างไม่จบสิ้น
สงครามครั้งนี้คือมรดกของความทารุณที่สงครามกลางเมืองและความขัดแย้งก่อนหน้านี้ได้ทิ้งไว้บนประเทศนี้ ผสมผสานกับการแย่งชิงอำนาจระหว่างสองกองกำลังทหาร ความขัดแย้งในระดับภูมิภาค ความตึงเครียดระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในเขตดาร์ฟูร์ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2003 การรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก การเมืองที่ไร้เสถียรภาพ และบทบาทของต่างชาติที่มีทรัพยากรในซูดานเป็นเป้าหมาย
ไฟสงครามอันโหดร้ายที่สุดครั้งหนึ่งจึงปะทุขึ้น และไม่มีฝ่ายใดยอมดับ แม้ว่าจะมีผู้เสียชีวิตแล้วราว 150,000 คน จากข้อมูลของ Humanitarian Research Lab มหาวิทยาลัยเยล และมีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 13 ล้านคน โดยองค์กร International Rescue Committee ระบุว่านี่คือ วิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติเคยบันทึกไว้
สถานการณ์การยึดครองพื้นที่ การตีคืน ปิดล้อม โจมตี ยิงด้วยปืน ปืนใหญ่ มิสไซล์ โดรน ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากทั้งสองฝ่าย พร้อมกับการกล่าวโทษกันว่าเป็นฝีมือของอีกฝ่าย ข้อตกลงหยุดยิงที่ไม่มีใครเคารพ ผสมกับการสนับสนุนและการคว่ำบาตรจากต่างชาติที่เลือกข้างกันดำเนินมาอย่างยาวนานกว่า 2 ปีแล้ว
อาจมีหลายชีวิตและหลายเหตุการณ์ที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึง แต่ไม่มีพื้นที่ใดในซูดาน (โดยเฉพาะทางตอนใต้) ที่ไม่ถูกกระทบจากสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ที่อยู่อาศัยของพลเรือน โรงพยาบาล เขื่อน สถานีโทรทัศน์ โบสถ์ ค่ายผู้ลี้ภัย หรือแม้แต่บ้านเด็กกำพร้า ไม่มีที่ใดเลยที่รอดพ้นจากการโจมตีของกองกำลังทั้งสองฝ่าย และปราศจากผู้สูญเสีย
ต่อไปคือเหตุการณ์สำคัญและพลวัตที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 2 ปีของสงครามกลางเมืองซูดาน
2023
การปะทะกันระหว่างกองทัพซูดาน (SAF) กับกองกำลังสนับสนุนการปฏิวัติ (RSF) เริ่มต้นขึ้นอย่างรุนแรงในกรุงคาร์ทูม เมืองหลวงของซูดาน และในภูมิภาคดาร์ฟูร์ โดยมีการยิงปืนอย่างหนักและระเบิดหลายครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,800 คน และมีผู้พลัดถิ่นกว่า 1.6 ล้านคน ทั้งภายในและนอกประเทศ ผู้นำ RSF กล่าวหาว่า SAF มีแผนที่จะนำอดีตประธานาธิบดีอัล-บาชีร์กลับมาครองอำนาจอีกครั้ง
โอมาร์ อัล-บาชีร์ คืออดีตประธานาธิบดีซูดาน ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1989–2019 Ffpรัฐบาลของอัล-บาชีร์ถูกวิจารณ์ว่ามีส่วนในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชากรที่ไม่ใช่ชาวอาหรับครั้งใหญ่ในดาร์ฟูร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2–4 แสนคน เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่สงครามกองโจรที่ทำให้ชาวซูดานกว่า 2.5 ล้านคนต้องพลัดถิ่น ต่อมาเขาได้รับหมายจับจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม
สงครามดำเนินต่อเนื่องตลอดปี 2023 มีความพยายามเข้ามาไกล่เกลี่ยจากต่างชาติ ข้อตกลงหยุดยิงหลายฉบับถูกเขียนขึ้น แต่แม้จะมีลงนามซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งกองกำลัง SAF และ RSF ก็ไม่มีฝ่ายใดยอมลดอาวุธและหยุดยิงเลย มีการกบฏเปลี่ยนฝ่ายในกลุ่มทหาร มีรายงานว่า RSF การใช้ทหารรับจ้างจากต่างชาติ
สถานีโทรทัศน์ โบสถ์ โรงพยาบาล ธนาคาร หน่วยข่าวกรอง ค่ายผู้ลี้ภัย บ้านเด็กกำพร้า ตกเป็นเป้าหมายไม่มีละเว้น แม้แต่เด็กและทารกก็ถูกสังหาร ผ่านสงครามมาเพียง 4 เดือน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของซูดานรายงานว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศอยู่ใน “ภาวะล่มสลาย” โดยมีโรงพยาบาลเพียง 30% ที่ยังสามารถเปิดทำการได้
กลุ่มการเมืองหลายกลุ่มประกาศตัวเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด หลายกลุ่มเลือกข้างชัดเจน เช่นเดียวกับประเทศข้างเคียง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ชาด และหลายประเทศข้างเคียงไล่นักการทูตซูดานออกจากประเทศ เป็นการแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาลทหารซูดานและ SAF ซูดานดำเนินการอย่างเดียวกัน คือขับไล่นักการทูตประเทศที่ออกตัวสนับสนุน RSF ออกไปจากประเทศ
หลายชาติตัดความสัมพันธ์ทางการทูต นักการทูตถูกขับไล่ สถานทูตถูกปิดและปล้นสะดม วีซ่าถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือชะลอผู้อพยพจากซูดานที่หลั่งไหลเข้าไปในอียิปต์ ประเทศข้างเคียงอย่างศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เริ่มการสอบสวนอาชญากรรมสงคราม
นับจนถึงปลายปี 2023 ข้อมูลจาก (UN Office for the Coordination of Humanitarian Affairs: OCHA) เผยว่ามีคนกว่า 6.7 ล้านต้องลี้ภัยจากบ้านตนเอง และกว่า 1.3 ล้านคนข้ามชายแดนออกนอกประเทศ ส่วนใหญ่หลีกหนีไปประเทศใกล้เคียง ผู้คนในประเทศกว่า 17.7 ล้านคนเผชิญความหิวโหย และกว่า 4.9 ล้านคนในจำนวนนั้นเข้าขั้นวิกฤต เด็กกว่า 19 ล้านคนต้องหยุดการเรียน นอกจากนี้สงครามยังเป็นพิษต่อเศรษฐกิจเช่นกัน เศรษฐกิจของซูดานถดถอยตัวกว่า 12% ในปี 2023
ต้นปี 2024 UN ประกาศว่ามีคนซูดานกว่า 7.5 ล้านคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากสงคราม ทั้งสองฝ่ายโจมตีต่อเนื่อง มีการบุกยึดและทำลายสถานที่สำคัญ เช่น สนามบิน ศูนย์บัญชาการ และอื่นๆ ตลอดปีทั้งสองฝ่ายโจมตีต่อเนื่อง รวมถึงการโจมตีไม่ระบุเป้าหมาย หวังเพียงความเสียหายขนาดใหญ่เท่าที่สร้างได้ ที่นิยมอีกอย่างคือ การประกาศยึดครองพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ก่อนจะมีการโจมตี และยึดครองกลับจากอีกฝ่าย
ความรุนแรงต่อพลเมืองเกิดขึ้นต่อเนื่อง หลายครั้งต่างฝ่ายต่างออกมาโบ้ยว่าเป็นฝีมือของอีกฝ่าย แต่หลายครั้งก็เป็นการออกมากล่าวอ้างความโหดร้ายอย่างภาคภูมิใจ ไม่ใช่แค่มนุษย์ แต่สัตว์อย่างอูฐหลายร้อยตัวก็ตกเป็นเป้าการโจมตี เดือนเมษายน มีอูฐอย่างน้อย 257 ตัวตายระหว่างการโจมตีของ SAF
ผู้นำ RSF ดูเหมือนจะได้รับความนิยมจากหลายประเทศในพื้นที่ ในปี 2023 เขาได้เข้าพบผู้นำหลายประเทศ อาทิ ยูกันดา เอธิโอเปีย และแอฟริกาใต้ รวมทั้งได้รับการเชื้อเชิญเข้าร่วมการประชุมผู้นำ IGAD ที่กรุงกัมปาลา (Intergovernmental Authority on Development (IGAD) เป็นกลุ่มที่มีจำนวนสมาชิก 8 ประเทศ โดยเป็นกลุ่มประเทศบริเวณลุ่มน้ำไนล์ (ไม่รวมอียิปต์)) เป็นเหตุให้ SAF ตัดสัมพันธ์กับ IGAD โดยกล่าวหาว่าการเชิญเฮเมดตีไปเข้าร่วมนั้น เป็นการ “ละเมิดอธิปไตยประเทศ” และแบนองค์กรภาคประชาชนทั้งหมดที่จัดตั้งหลังการปฏิวัติซูดานปี 2019 นอกจากนี้รัฐบาลซูดานยังยุติความสัมพันธ์กับองค์กรอย่าง Abu Dhabi Ports และ Invictus Investment ซึ่งมีฐานอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยกล่าวหาว่าบริษัทเหล่านี้สนับสนุน RSF
ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ กลุ่มแฮกเกอร์ Anonymous Sudan ตัดอินเทอร์เน็ตซูดาน ทำให้ประชากรกว่า 60% ทั่วประเทศไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ กลุ่มออกมาประกาศว่าเป็นฝีมือกลุ่มตน และกล่าวว่าทำเพื่อประท้วงความสัมพันธ์ของประเทศกับ RSF
เมื่อถึงเดือนตุลาคม องค์กร Oxfam ระบุว่ามีคนมากกว่า 750,000 คนในซูดานกำลังเผชิญกับภาวะความอดอยาก
ในแต่ละเดือนมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นหลายร้อยครั้งโดยเฉพาะช่วงปลายปี (288 ครั้งเดือนตุลาคม 217 ครั้งเดือนพฤศจิกายน และ 199 ครั้งในเดือนธันวาคม ตามรายงานของ OCHA) ประกอบไปด้วย การโจมตีด้วยโดรน, การยิงปืนใหญ่, การปะทะด้วยอาวุธ, การลักพาตัวเด็ก, การสังหาร และความรุนแรงทางเพศ และอื่นๆ มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งถูกลักพาตัวระหว่างการโจมตีของกองกำลัง RSF อาจเป็นตัวบ่งชี้ความรุนแรงทางเพศระหว่างสงคราม
ประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐฯ คว่ำบาตรองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องและสนับสนุนกองกำลัง SAF และ RSF สหประชาชาติเรียกร้องให้มีการหยุดยิงและปิดล้อม สหภาพยุโรปคว่ำบาตร 6 หน่วยงานที่เกี่ยวกับการผลิตและจัดหาอาวุธให้กับ SAF และ RSF รัสเซียใช้สิทธิ์วีโต้ข้อเรียกร้องของสหประชาชาติให้หยุดยิงในซูดาน ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวถูกเสนอโดยเซียร์ราเลโอนและสหราชอาณาจักร
มีการประณามการใช้ทหารรับจ้างต่างชาติจากทั้งสองฝ่ายต่ออีกฝ่ายอยู่เป็นระยะ อาทิ RSF จับกุมชาวเอธิโอเปียมากกว่า 100 คน เนื่องจากเข้าร่วมต่อสู้กับกองกำลัง SAF หรือโคลอมเบียที่ออกมาขอโทษรัฐบาลซูดาน เนื่องจากคนของตนเข้าร่วมกับกองกำลัง RSF
ด้านความช่วยเหลือจากต่างชาติ รัฐบาลซูดานอนุญาตให้ข้ามพรมแดนระหว่างซูดานและชาดได้เป็นเวลาสามวัน เพื่อส่งความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน โดยสหประชาชาติรายงานว่ามีรถขนส่งความช่วยเหลือกว่า 12 คันผ่านช่องทางนี้ ไม่นานหลังจากนั้น องค์กร Médecins Sans Frontières (แพทย์ไร้พรมแดน) กล่าวหาว่า RSF ยึดรถบรรทุกเวชภัณฑ์ของตนที่กำลังจะส่งไปยังเมืองโคสตี ขณะผ่านด่านตรวจในพื้นที่ Al Shigig
ค่ายผู้ลี้ภัย Zamzam และเขต El Fasher เป็นหนึ่งในเป้าการโจมตีหลักของ RSF มีการปิดล้อม สังหาร ซ้ำไปซ้ำมาจนบอบช้ำ ขณะที่กองกำลังรัฐบาลอย่าง SAF ก็พุ่งเป้าไปที่ตลาดหลายแห่งตามเมืองต่างๆ ทำให้มีพลเมืองเสียชีวิตมากมาย ไม่เว้นแม้แต่เด็ก
เดือนพฤศจิกายน ความช่วยเหลือจากองค์การอาหารโลก (WFP) มาถึงค่ายผู้ลี้ภัย Zamzam เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการประกาศภาวะอดอยากในเดือนสิงหาคม ต่อมา รัฐบาลซูดานกล่าวหา RSF ว่าปล้นความช่วยเหลือจาก WFP ที่ถูกส่งมาให้ค่ายผู้ลี้ภัยดังกล่าว ไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังความช่วยเหลือจาก WFP มาจอดเทียบที่ซูดาน เจ้าหน้าที่ของ WFP จำนวน 3 คนถูกสังหารหลังจากการโจมตีในพื้นที่ทำงานของ WFP ที่ไม่ทราบฝ่ายผู้ก่อเหตุ
เมื่อถึงปลายปี 2024 Armed Conflict Location and Event Data (ACLED) ชี้ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็พุ่งสูงถึง 28,700 คน ในจำนวนนั้นเป็นพลเมืองถึง 7,500 คน และองค์กรยังชี้ว่า ตัวเลขนี้มีแนวโน้มจะต่ำกว่าตัวเลขจริงมาก บางหน่วยงานชี้ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจสูงถึง 150,000 คน
ต้นปีที่ผ่านมา กองกำลังร่วมดาร์ฟูร์ (Joint Darfur Force - JDF) เข้ามามีบทบาทมากขึ้น กล่าวว่าสามารถสังหารทหารของ RSF ไปมากกว่า 462 คน ซึ่งรวมถึงผู้บัญชาการ 6 นายได้ในเดือนมกราคม ทำลายพาหนะ 262 คัน และจับกุมทหาร RSF ได้ 21 คน ในการปะทะที่ตอนเหนือของดาร์ฟูร์ การปะทะดุเดือดไม่ได้ชะลอหรือลดละไปจากช่วงเวลาที่ผ่านมาเลย
สหประชาชาติประกาศว่า RSF ดำเนินการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และประกาศคว่ำบาตรเฮเมดตีเมื่อเดือนมกราคม ต่อมาเดือนมีนาคม สหประชาชาติระบุว่า RSF กักขังเจ้าหน้าที่ peacekeeper มากกว่า 60 คน และลักพาตัวเจ้าหน้าที่พลเรือน รวมทั้งยึดพาหนะ 8 คัน และน้ำมันกว่า 280,000 ลิตรจาก UNISFA
พอถึงเดือนพฤษภาคม ความช่วยเหลือจากสหประชาชาติชุดแรกถูกส่งมาถึงกรุงคาร์ทูมเสียที นับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นในเดือนเมษายน 2023 แต่การทำงานให้ความช่วยเหลือสิทธิมนุษยชนไม่ง่าย RSF ลักพาตัวเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 40 คน และพลเมือง 50 คนจากค่าย Zamzam พร้อมกับสังหารอีก 45 คนใน El Fasher ในเวลาต่อมา ค่ายลี้ภัยต่างๆ ยังคงเป็นเป้านิ่งที่กลุ่มมักปิดล้อมและโจมตี การโจมตีหลายครั้งมีผู้เสียชีวิตหลักร้อย และเกิดขึ้นแทบทุกอาทิตย์
เดือนกุมภาพันธ์ RSF, SPLM-N และพันธมิตร ลงนามในกฎบัตรจัดตั้งรัฐบาลแห่งสันติภาพและความร่วมใจ (Government of Peace and Unity) หลังการประชุมที่ไนโรบี พรรค The National Umma Party ไล่ผู้นำพรรค Fadlallah Burma Nasir ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเขาไปลงนามในกฎบัตรดังกล่าว
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ยังคงจุดยืนเอียงข้าง RSF ระบุว่าสามารถสกัดกระสุนหลายล้านนัดได้ที่สนามบิน ซึ่งมีจุดหมายเพื่อส่งให้กองทัพ SAF ซูดานยื่นฟ้องสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice - ICJ) ในข้อหาสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เนื่องจากสนับสนุนอาวุธให้กับ RSF
สถานการณ์ล่าสุดในซูดาน เดือนนี้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ไม่รับพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่กองทัพ SAF ยื่นฟ้องสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ด้านรัฐบาลซูดานตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับ UAE
วันที่ 16 พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิต 10 รายจากการปิดล้อมของ RSF ในเขต Kadugli
การปะทะระหว่างกองกำลัง โจมตีตลาดและเขตพลเมือง รวมทั้งปิดล้อมค่ายลี้ภัย ยังเกิดสลับไปมา โดยที่การไกล่เกลี่ยจากต่างชาติและคว่ำบาตรดูเหมือนจะทะลวงเข้าไปจัดการปัญหาที่ฝังรากลึกของประเทศนี้ไม่ได้ ตรงกันข้ามกับการสนับสนุนทุน อาวุธ และกองกำลังจากประเทศต่างๆ ที่ยังหล่อเลี้ยงให้สงครามยังคงฆ่าคนซูดานต่อไปได้ และอย่างรวดเร็วจนไม่มีใครนับได้ทัน นี่อาจเป็นสาเหตุที่ความสนใจส่องมาถึงประเทศบนลุ่มแม่น้ำไนล์ตอนบนแห่งนี้