ท่ามกลางสงครามและความขัดแย้งมากมาย สงครามกลางเมืองซูดานดูเหมือนจะไม่อยู่ในขอบเขตความสนใจของโลกมากเท่าไหร่ ยิ่งเทียบกับกว่า 2 หมื่น 8 พันชีวิตที่สูญเสียให้สงครามครั้งนี้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นสงครามที่นองเลือดมากที่สุดครั้งหนึ่ง และยังไม่มี่วี่แววจะจบลง โดยความขัดแย้งครั้งล่าสุดนี้ เกิดจากการปะทะกันระหว่างกองทัพซูดาน และ กองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว สองกองทหารคู่แข่งภายในรัฐบาลทหารซูดานที่คอยแย่งชิงอำนาจมายาวนาน
นับตั้งแต่ซูดานได้รับเอกราชในปี 1955 จากอังกฤษ สงครามก็ปะทุขึ้นมาโดยตลอด โดยสาเหตุเกิดจากความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ ซูดานจึงเจอกับสงครามกลางเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน
สงครามกลางเมืองครั้งแรก เกิดขึ้นระหว่างปี 1955-1972 ระหว่างรัฐบาลซูดานกับกลุ่มกบฏ และสงครามกลางเมืองครั้งที่สอง ระหว่างปี 1983-2005 เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลซูดานกับกองทัพปลดปล่อยประชาชนซูดาน (SPLA/M). สงครามครั้งนี้ส่งผลให้เกิดการแยกประเทศซูดานใต้ในปี 2011
ดินแดนทางตอนใต้ของซูดานประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม รัฐเกิดใหม่แห่งนี้มีชื่อว่า ซูดานใต้ โดยมีนครจูบาเป็นเมืองหลวง
ขณะที่กรุงคาร์ทูม เมืองหลวงของสาธารณรัฐซูดาน กลับต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองครั้งที่ 3 ที่เริ่มปะทุขึ้นในปี 2023
กลางเดือนเมษายนปี 2023 ท้องฟ้าของกรุงคาทูม เมืองหลวงซูดาน ถูกปกคลุมไปด้วยควันสีดำ เสียงดังของปืน ระเบิด และเครื่องบินรบ ดัสลับกันไปมา ขณะที่การสู้รบระหว่างกองทัพซูดานกับกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว หรือ RSF รอบใหม่ปะทุขึ้นอย่างดุเดือด
บ้านเรือนชาวบ้านได้รับความเสียหาย ณ เวลานั้น ผู้คนอพยพออกจากเมืองหลวงไปยังที่ปลอดภัย จากสงครามที่ณวันนั้นไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะยืดเยื้อยาวนาน ใครเลยจะรู้ ผ่านมาแล้ว 2 ปี เสียงปืนยังคงดังเช่นเคย และพื้นที่ความขัดแย้งค่อยๆ ขยายวงกว้างออกเรื่อยๆจนกระทั่งวันนี้ แทบจะไม่มีพื้นใดในซูดานปลอดภัยอีกแล้ว
บนผืนดินที่เต็มไปด้วยฝุ่นและทราย นอกเมืองทาวีลา เมืองเกษตรกรรมเล็ก ๆ ทางตะวันตกของรัฐดาร์ฟูร์ ครอบครัวชาวซูดานผู้พลัดถิ่นหลายร้อยชีวิตยืนต่อแถวเพื่อรอรับอาหาร ในมือถือกะละมังหรืออุปกรณ์ใดๆก็ตามที่พอจะหาได้ เพื่อมารับข้าว เนื้อสัตว์ และผัก ไปประทังชีวิตอีกหนึ่งมื้อ หรือบางครอบครัวอาจจะประกอบอาหารอย่างง่ายๆเท่าที่พอจะหาได้ น้ำก็เช่นกัน แต่ละบ้านต้องนำถังมารอรับ เพื่อนำไปใช้และดื่มกิน
ชาวบ้านเหล่านี้หนีออกมาจากค่ายซัมซัม ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในค่ายผู้พลัดถิ่นที่ใหญ่ที่สุดของซูดาน แต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้คนกว่า 400,000 ชีวิตต้องหนีตายออกมา หลังจากกองกำลัง RSF เปิดฉากโจมตีภาคพื้นดินอย่างรุนแรง
เมืองทาวีลาแห่งนี้ จึงมีผู้พลัดถิ่นหลั่งไหลเข้ามาใหม่เกือบ 300,000 คน จนพื้นที่ที่รองรับผู้หนีภัยเดิมอยู่แล้วก็แทบจะล้นทะลักเกินขีดจำกัด
ทาวีลาเคยเป็นเมืองที่โอบล้อมด้วยเนินเขาเตี้ยและทุ่งนา วันนี้ โรงเรียน มัสยิด อาคารสาธารณะ และตลาด ถูกใช้เป็นที่พักพิงชั่วคราว ผู้คนต้องนอนเบียดกันบนพื้น ด้านใต้ต้นไม้ หรือในเพิงพักที่สร้างอย่างเร่งด่วน ภายใต้อุณหภูมิที่พุ่งสูงถึง 40 องศาเซลเซียส
ความจริงแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวบ้านซูดานต้องหลบหนี พวกเขาต้องหนีตายกันนับครั้งไม่ถ้วนตั้งแต่สงครามปะทุขึ้น ครั้งแรกคือการหลบหนีออกจากบ้านเรือนที่เคยอยู่อาศัยหรือเคยเป็นเจ้าของ หลังจากนั้นแต่ละคนก็หัวซุกหัวซุนเอาตัวรอด
สงครามผลักดันให้ผู้คนกว่า 13 ล้านชีวิตต้องละทิ้งบ้านเกิด โดยในจำนวนนี้ 5.6 ล้านคนอยู่ในรัฐดาร์ฟูร์แห่งนี้ การมีชีวิตอยู่ว่ายากลำบากแล้ว การตายลำบากกว่า
สงครามซึ่งยืดเยื้อมาถึงปีที่สาม ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 2 หมื่น 8 พันราย ในจำนวนศพเหล่านั้น มีมากมายที่ไม่ได้รับการเผา ฝั่ง หรือประกอบพิธีอย่างถูกต้องตามความเชื่อทางศาสนา
ทั้งกองทัพซูดานและกองกำลัง RSF ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงคราม และพุ่งเป้าไปที่พลเรือน ทิ้งระเบิดใส่ย่านชุมชน และโรงพยาบาล