วินัยและหิมานชี คู่รักชาวอินเดียที่เพิ่งเข้าพิธีแต่งงานกันไปได้ราวสัปดาห์เดียวเท่านั้น พวกเขาได้เลือก “แคชเมียร์” ดินแดนกลางหุบเขาที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “สวิตเซอร์แลนด์แห่งอินเดีย” เป็นสถานที่ฮันนีมูน พวกเขาถ่ายรูปกันสนุกสนาน และกินอาหารริมทางในเมืองพาฮัมแกม พื้นที่เล็ก ๆ ซึ่งเป็นต้นทางแสวงบุญของชาวฮินดู แต่ใครจะคาดคิดว่าเพียงอีกไม่กี่นาทีต่อมา ทั้งคู่ต้องจากกันไปตลอดกาล ทั้ง ๆ ที่ชีวิตคู่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นไม่ถึงเดือน
กลุ่มติดอาวุธ 4-5 นาย กระทำการอุกอาจ บุกเมืองพาฮัลแกมกลางวันแสก ๆ ลั่นไกปืนยิงวินัย หลังจากที่รู้ว่าเขาเป็นนักท่องเที่ยวและเป็นชาวฮินดู หิมานชีกรีดร้องขอความช่วยเหลือ แต่ผู้คนก็กำลังแตกตื่นกับเหตุโจมตีที่ไม่มีสัญญาณใด ๆ มาก่อน อีกทั้งพื้นที่นี้อยู่กลางหุบเขาที่รถยนต์เข้าไม่ถึง ต้องใช้เพียงรถลากหรือขี่ม้าเท่านั้น แม้คนร้ายจะหลบหนีเข้าป่าแล้วก็ตาม การช่วยเหลือที่จะพาคนเจ็บเข้าถึงโรงพยาบาลก็ยังคงเป็นเรื่องลำบาก ในที่สุด วินัยก็จากไปในที่เกิดเหตุ หิมานชีนั่งเหม่อลอยอยู่ข้างร่างของสามี และภาพนั้น กลายเป็นไวรัลกระตุกความรู้สึกของผู้คนทั่วโลก
วินัยเป็นเหยื่อผู้เสียชีวิตทั้งหมด 26 รายจากเหตุการณ์ดังกล่าว อินเดียออกมาประกาศในภายหลังว่า เหตุการณ์นี้นับเป็น “ก่อการร้าย” เพราะเป็นการสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ พุ่งเป้าไปที่นักท่องเที่ยว ชาวฮินดู ก่อนที่ กลุ่มต่อต้านแคชเมียร์ที่เรียกตัวเองว่า “แนวร่วมต่อต้าน” (The Resistance Front; TRF) ซึ่งไม่ค่อยมีใครรู้จักนัก ได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบผ่านข้อความทางโซเชียลมีเดีย โดยแสดงความไม่พอใจที่ “คนนอก” มากกว่า 85,000 คนได้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในแคชเมียร์ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประชากร
เหตุการณ์ดังกล่าวยกระดับความตึงเครียดของอินเดียและปากีสถาน หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง กองทัพอินเดียตามล่าตัวผู้ร้ายมาได้ส่วนหนึ่ง และประกาศกร้าวจวกปากีสถานว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีในครั้งนี้ โดยให้ที่พักพิงและแหล่งซ่องสุมของกลุ่มก่อการร้าย แน่นอนว่า ปากีสถานออกมาปฏิเสธเสียงแข็ง โต้แย้งว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของปากีสถานยังตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการสร้างฉากของฝั่งอินเดียเอง อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศก็ได้ยิงโต้ตอบกันในพื้นที่ชายแดนแคชเมียร์ ส่วนรัฐบาลก็ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันด้วย
แม้ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและปากีสถานจะกระท่อนกระแท่นมาโดยตลอด และมีการโจมตีต่อกันในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะแคว้นจัมมูและแคชเมียร์อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะนับว่าเป็นความรุนแรงและกระทบกระทั่งกันในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลกลางอินเดียไม่ต้องยื่นมือเข้ามาจัดการขนาดนั้น แต่หลังจากเกิดเหตุก่อการร้ายแคชเมียร์ข้างต้น รัฐบาลอินเดียออกมาตรการทางการทูตที่สร้างแรงกดดันให้กับปากีสถานเป็นอย่างมาก ขณะที่ปากีสถานเองก็มีมาตรการตอบโต้ที่รุนแรงไม่แพ้กัน
ล่าสุด ทั้งคู่โจมตีกันอย่างรุนแรง โดยงัดยุทโธปกรณ์อย่างขีปนาวุธออกมายั่วยุกันและกัน จนเกิดเป็นการโจมตีที่รุนแรงในวันที่ 7 พฤษภาคม นับว่าสงครามอินเดีย-ปากีสถานกลับมาปะทุอีกครั้ง หลังจากผ่านไป 50 ปี ที่เกิดสงครามครั้งล่าสุด ราวกับว่าโศกนาฏกรรมในพาฮัลแกม ได้ปลุกเสือ 2 ตัวให้ตื่นมาสู้กันอีกครั้งในรอบหลายทศวรรษ Spot On : ซีรีส์สมรภูมิร้อนโลก ชวนมาย้อนดูมาตรการที่รุนแรง มีคำสั่งใดที่เป็นสัญญานปลุกเสือตื่น
ความตึงเครียดที่กินเวลาเพียง 2 สัปดาห์ กลับลุกลามบานปลาย กลายเป็น “สงครามอินเดีย-ปากีสถาน” อย่างเป็นทางการ เมื่อกลางดึกระหว่าง 01:00 - 02:00 น. ของวันที่ 7 พฤษภาคม 2025 กองทัพอินเดียเปิดฉากโจมตีด้วยขีปนาวุธหลายลูก โดยอ้างว่าพุ่งเป้าทำลายโครงสร้างพื้นฐานกลุ่มก่อการร้ายทั้ง 9 แห่งในปากีสถาน อินเดียประกาศสั้น ๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย เรียกปฏิบัติการซินดูร์ (Operation Sindoor)
ส่วนเหตุผลที่ใช้คำว่าซินดูร์นั้น ในภาษาฮินดีหมายถึง ผงสีแดง ซึ่งผู้หญิงฮินดูที่แต่งงานแล้วจะใช้แต้มบนหน้าผากเพื่อแสดงสถานะการสมรส การโจมตีดังกล่าวจึงเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อว่าเป็นการตอบโต้ต่อเหตุก่อการร้ายแคชเมียร์ ที่ทำให้หญิงหลายคน รวมถึง หิมานชี ต้องสูญเสียสามีตลอดกาล นี่จึงเป็นการล้างแค้นและทวงคืนความยุติธรรมแก่หญิงหม้ายเหล่านั้น
กองทัพปากีสถานตอบโต้รุนแรง โดยอ้างว่าได้ยิงเครื่องบินรบของอินเดียตกอย่างน้อย 5 ลำแล้ว และยังจับทหารอินเดียเป็นเชลยศึกด้วย หลังโฆษกกองทัพปากีสถานกล่าวว่า "เราจะแก้แค้น ส่วนจะเป็นวันใดเวลาไหน เราจะเป็นคนเลือกเอง" พร้อมกล่าวประณามว่า อินเดียกำลังทำการยั่วยุอย่างชั่วร้าย และข้ออ้างที่ทำเพื่อถล่มกลุ่มก่อการร้ายในปากีสถานนั้นเป็นเรื่องโกหก
เพียงเวลาสองสัปดาห์กว่า ๆ จากก่อการร้ายในเมืองเล็ก สู่สงครามสองประเทศที่งัดขีปนาวุธมาใช่ขู่และโจมตีจริงในที่สุด เรียกได้ว่าเส้นกราฟความตึงเครียดทะยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การปะทุขึ้นของสงครามครั้งใหม่ นับเป็นการเปิดแผลเก่าที่ยังฝังแน่นในใจคนท้องถิ่นแคชเมียร์ และเปิดปมความเกลียดชังของทั้งสองประเทศที่มีต่อกันเกือบ 8 ทศวรรษ Spotlight ชวนย้อนกลับไปดูถึงจุดเริ่มต้น ตั้งแต่อินเดียและปากีสถานยังเป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้การปกครองของอาณานิคมอังกฤษ เกิดอะไรขึ้นเมื่อ 78 ปีที่แล้ว
หากจะย้อนรอยถึงจุดเริ่มต้น เชื่อกันว่าความขัดแย้งของสองประเทศเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1947 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดการปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ เกิดการแบ่งแยกประเทศเป็น “อินเดีย” ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู และ “ปากีสถาน” มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม โดยเซอร์ซีริล แรดคลิฟฟ์ ทนายความชาวอังกฤษที่ไม่เคยเดินทางมาอินเดียมาก่อน ได้รับมอบหมายให้กำหนดเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างอินเดียและปากีสถาน เส้นแบ่งเขตแดนนี้ถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 1947 สองวันหลังจากการประกาศเอกราช
ขณะนั้น มีพื้นที่ชายแดนหลายจุดถูกจัดตั้งเป็นรัฐปกครองตนเอง หนึ่งในนั้น “จัมมูและแคชเมียร์” ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนืออินเดีย ได้รับทางเลือกในการเข้าร่วมประเทศใดประเทศหนึ่ง มหาราชาแห่งแคชเมียร์ไม่ต้องการเข้าร่วมกับประเทศใดเลย และต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากทั้งสองประเทศ แต่ต่อมาทรงเลือกที่จะเข้าร่วมกับอินเดียหลังจากที่ปากีสถานรุกรานส่งผลให้เกิดสงครามครั้งแรกระหว่างปี ค.ศ. 1947-1948
ในช่วงเวลาดังกล่าว มหาราชาผู้ปกครองแคชเมียร์ ฮาริ สิงห์ พยายามจะแยกตัวเป็นอิสระไม่เข้าร่วมกับฝั่งใด หรือประมาณ 100 ปีก่อนอินเดียประกาศเอกราช แต่ในขณะนั้น ชาวแคชเมียร์ที่สนับสนุนปากีสถานได้ก่อกบฏต่อต้านการปกครองของเขา บุกโจมตีและพยายามยึดครองพื้นที่ดังกล่าว ฮารี ซิงห์ จึงร้องขอความช่วยเหลือทางทหารจากอินเดีย ด้วยการยอมลงนามในตราสารที่รวมจัมมูและแคชเมียร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย หรือ Instrument of Accession
ในวันที่ 27 ตุลาคม ปีนั้น กองทัพอินเดียจึงยกพลเข้ามาในเมืองศรีนาการ์ (Srinagar) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ ชาวแคชเมียร์ส่วนใหญ่และรัฐบาลปากีสถานถือว่าวันนี้เป็น ‘วันทมิฬ’ เพราะพวกเขาเชื่อว่าการเข้ามาของกองทัพอินเดียเป็นการ "ยึดครอง" ดินแดนอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการละเมิดสิทธิในการตัดสินใจด้วยตนเองของชาวแคชเมียร์
ปากีสถานจึงยื่นเรื่องต่อสหประชาชาติในเดือนมกราคมปีถัดมา ขอให้มีการลงประชามติของคนในพื้นที่ว่าแคชเมียร์จะเข้าร่วมกับปากีสถานหรืออินเดีย แต่เกือบ 80 ปีต่อมา ก็ยังไม่มีการลงประชามติอีกเลย ซึ่งเป็นที่มาของความไม่พอใจของชาวแคชเมียร์ ขณะที่เขตชายแดนดังกล่าวเกิดความรุนแรงในการยิงโต้ตอบกัน อย่างไรก็ตาม สงครามครั้งแรกในแคชเมียร์สิ้นสุดลงเพราะสหประชาชาติยื่นมือเข้ามาใช้มาตรการหยุดยิง ซึ่งลงนามกันที่กรุงการาจี เมืองหลวงของปากีสถานในขณะนั้น
ถัดมาในปีค.ศ. 1953 ชีคอับดุลลาห์ ผู้นำชาวแคชเมียร์ที่ยังยึดติดกับการแยกตัวเป็นเอกราช ได้ก่อตั้งการประชุมแห่งชาติจัมมูและแคชเมียร์ (JKNC) และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งระดับรัฐในแคชเมียร์ ความนิยมของเขาสะท้อนเสียงชาวพื้นเมืองที่ไม่ต้องการตกอยู่ภายใต้การปกครองของอินเดีย จนทำให้รัฐบาลอินเดียถึงกับนั่งไม่ติด และดำเนินการจับกุมเขาในเวลาต่อมา จึงเป็นรอยร้าวทวีความคับแค้นใจของคนพื้นเมืองบางส่วน ในปีค.ศ. 1965 อินเดียและปากีสถานก็ทำสงครามกันในภูมิภาคนี้อีกครั้ง ปากีสถานหวังที่จะช่วยเหลือชาวแคชเมียร์และยุยงให้เกิดการลุกฮือในพื้นที่ แต่สงครามก็สิ้นสุดลงด้วยภาวะทางตัน โดยทั้งสองฝ่ายตกลงหยุดยิงภายใต้การกำกับดูแลของสหประชาชาติอีกครั้ง
สงครามครั้งนี้มีรากฐานมาจากความขัดแย้งภายในประเทศปากีสถานเอง โดยเฉพาะความตึงเครียดระหว่างปากีสถานตะวันตกและปากีสถานตะวันออก ในฝั่งตะวันออกไม่พอใจเพราะรู้สึกเลือกปฏิบัติและไม่ได้รับการยอมรับทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมจากรัฐบาลกลางที่อยู่ในปากีสถานตะวันตก แม้ผู้นำฝั่งตะวันออกจะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ปากีสถานตะวันตกไม่ยอมรับและเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง
อินเดียก้าวเท้าเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏ Mukti Bahini ในปากีสถานตะวันออก ทั้งส่งอาวุธ ฝึกทหาร และที่พักพิงแก่ผู้นำและผู้ลี้ภัย สงครามอินเดีย-ปากีสถานจึงอีกครั้งเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม ปีค.ศ. 1971 อย่างเป็นทางการ กองทัพอินเดียและกลุ่ม Mukti Bahini สามารถปิดล้อมและเอาชนะกองทัพปากีสถานได้อย่างรวดเร็ว ทหารปากีสถานมากกว่า 90,000 นายถูกจับกุมเป็นเชลยศึก ผู้บัญชาการกองทัพปากีสถานในปากีสถานตะวันออก ได้ลงนามในเอกสารยอมจำนนในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1971 ผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุดของสงครามคือการก่อตั้งประเทศบังกลาเทศ จากปากีสถานตะวันออก
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อินเดียและปากีสถาน รวมถึงพื้นที่แคชเมียร์ยังมีความขัดแย้งเล็ก ๆ กันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่เคยเป็นสงครามที่กองกำลังทั้งสองฝ่ายมุ่งโจมตีเต็มรูปแบบ หลายฝ่ายรวมทั้งอินเดียและปากีสถานเองมองว่าทั้งสองประเทศไม่ได้มีความขัดแย้งกันมานานแล้ว การโจมตีระหว่างกันที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด เปรียบเสมือนปลุกเสือที่หลับใหลมาอย่างยาวนานให้ตื่นขึ้น สั่นสะเทือนภูมิภาคเอเชียใต้อีกครั้ง