ธุรกิจการตลาด

OpenAI เปิดตัวแอป ChatGPT ในไอโฟน-ไอแพด ประเดิมที่แรกในสหรัฐฯ

19 พ.ค. 66
OpenAI เปิดตัวแอป ChatGPT ในไอโฟน-ไอแพด ประเดิมที่แรกในสหรัฐฯ

OpenAI เปิดตัวแอปพลิเคชั่นแชทบอทอัจฉริยะ ChatGPT ให้ผู้ใช้ระบบ iOS บนทั้งไอโฟนและไอแพดในสหรัฐฯ ใช้แล้ววันนี้ โดยมีแผนจะปล่อยตัวแอพในประเทศอื่น และระบบ Android ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

ในนาทีนี้ ใครที่ใช้อินเทอร์เน็ตคงไม่มีใครไม่รู้จัก ChatGPT แชทบอทจากบริษัท OpenAI ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Microsoft ด้วยความสามารถในการตอบคำถามและเขียนงานตามคำสั่ง จนกลายเป็นแอปพลิเคชั่นที่มีจำนวนผู้ใช้เติบโตรวดเร็วที่สุด โดยสามารถดึงดูดผู้ใช้ได้มากกว่า 100 ล้านคนต่อเดือนในเดือนมกราคม ในระยะเวลาเพียง 2 เดือนหลังจากมีการปล่อยตัวแชทบอทให้ได่ใช้กันบนเว็บไซต์ของ OpenAI

ด้วยความนิยมในระดับนี้ จึงไม่แปลกใจที่ OpenAI เร่งโหมกระแสต่อด้วยการปล่อยตัวแอปพลิเคชั่น ChatGPT ออกมาให้ใช้กันฟรีๆ ใน App Store ต่อ เพราะแอปพลิเคชั่นนี้จะทำให้ผู้ใช้เข้าถึงตัวแชทบอทได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ไม่ต้องเข้าเว็บไซต์ของ ChatGPT หรือใช้แชทบอทใน Bing หรือ บราวเซอร์ Edge ของไมโครซอฟต์

โดยจากการรายงานของ The Verge แอปพลิเคชั่นนี่จะเชื่อมต่อกับประวัติการท่องเว็บในบราวเซอร์ มีฟีเจอร์เสียง ซัพพอร์ตโดยโปรแกรมจับและแปลความเสียงที่เรียกว่า Whisper ทำให้ผู้ใช้สามารถคุยกับแชทบอทด้วยเสียงได้โดยตรง ไม่ต้องพิมพ์อีกต่อไป

การปล่อยแอปพลิเคชั่น ChatGPT ในครั้งนี้นับเป็นการเร่งรุกตลาดของ OpenAI ที่ยังถือว่าเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมพัฒนา AI เพราะถึงแม้ตอนแรกจะไม่มีใครคาดว่า AI จะสามารถทำเงินได้รวดเร็วขนาดนี้ในช่วงแรก การที่มีคนเอา ChatGPT ไปใช้ในการทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนอีเมล์ เขียนบทความ โค้ด หรือแม้แต่เลือกหุ้นและกองทุนในการลงทุน ก็ชี้ช่องให้เห็นแล้วว่า ‘AI มีศักยภาพในการทำเงินอย่างมหาศาล’  และใครที่สามารถพัฒนา AI ที่มีความสามารถตรงใจผู้ใช้ออกมาได้ก่อนก็จะได้ครองตลาดที่กำลังเติบโตนี้ไป

โดยนอกจากฟีเจอร์ที่เปิดให้ใช้ฟรีๆ แล้ว บนแอปพลิเคชั่นยังมีแพคเกจ ChatGPT Plus หรือ ChatGPT แบบพรีเมียมที่รันโดย GPT-4 โมเดลภาษารุ่นล่าสุดของ OpenAI มูลค่า 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนให้ผู้สนใจลองใช้กันด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้แอปพลิเคชั่นนี้จะออกมาจากมีการปล่อยแชทบอทตัวนี้บนเว็บไซต์มาแล้วหลายเดือน ChatGPT ตัวนี้ยังคงมีปัญหาในเรื่องความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล เพราะมันยังอาจเอาข้อมูลต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตมาผสมกันมั่วจนให้คำตอบผิดๆ กับผู้ใช้ได้เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นผู้ใช้ควรตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งอื่นก่อนนำไปใช้จริงด้วย

 

ที่มา: The Verge, CNBC



advertisement

SPOTLIGHT