ความยั่งยืน

บางกอกแอร์เวย์ส จับมือ OR ผลักดันเที่ยวบินคาร์บอนต่ำจากเชื้อเพลิงยั่งยืน นำร่องเส้นกทม.-สมุย

12 มิ.ย. 67
บางกอกแอร์เวย์ส จับมือ OR ผลักดันเที่ยวบินคาร์บอนต่ำจากเชื้อเพลิงยั่งยืน นำร่องเส้นกทม.-สมุย

สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (Bangkok Airways) ร่วมมือกับ OR ผลักดันโครงการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ในเครื่องบิน นำร่องในเที่ยวบินสมุย-กรุงเทพฯ หวังจับกลุ่มลูกค้ายุโรปที่มีความต้องการใช้บริการเที่ยวบินคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าใช้ SAF ถึง 1% ของเชื้อเพลิงทั้งหมดในปี 2026

ปัจจุบัน เป็นที่รู้กันดีว่าอุตสาหกรรมคมนาคมและขนส่งทางอากาศเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูงมากเป็นอันดับต้นๆ จากการใช้นํ้ามันเครื่องบินไอพ่นพาณิชย์ (Jet A-1) ซึ่งทำมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

โดยข้อมูลของ Our World in Data ในปี 2019 ระบุว่า ก่อนเกิดการระบาดของโควิด อุตสาหกรรมการบินปล่อยคาร์บอนทั้งหมด 2.5% ของคาร์บอนในปีนั้น และในช่วงปี 1995-ปัจจุบัน อุตสาหกรรมนี้ปล่อยคาร์บอนเฉลี่ยประมาณ 2-2.5% ของปริมาณคาร์บอน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ปี 2010 ที่คนนิยมเดินทางทางอากาศมากขึ้น

ดังนั้น อุตสาหกรรมการบินจึงได้มีการริเริ่มนำเชื้อเพลิงทางเลือกที่มีความยั่งยืนและปล่อยคาร์บอนน้อยกว่ามาใช้ เช่น เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ที่ผลิตโดยการนำน้ำมันพืชเหลือใช้มาผ่านกระบวนการ ทำให้มีคุณสมบัติคล้ายน้ำมัน Jet A-1 ทำให้ผู้ผลิตเครื่องบินไม่จำเป็นต้องพัฒนาเครื่องบินใหม่เพื่อใช้ SAFและเป็นการนำวัตถุดิบเหลือใช้มาใช้ใหม่ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนประมาณ 80% เมื่อเทียบกับการใช้เชื้อเพลิง Jet A-1 ปกติ

บางกอกแอร์เวย์ส จับมือ OR ผลักดันเส้นทางบินคาร์บอนต่ำ

เพื่อผลักดันสายการบินไทยสู่ความยั่งยืน บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ได้ร่วมมือกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR  เพื่อเดินหน้าโครงการ “Low Carbon Skies by Bangkok Airways” และนำร่องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF ในเที่ยวบินของบางกอกแอร์เวย์สเส้นทางสมุย-กรุงเทพ พร้อมเผยถึงแผนและแนวทางการพัฒนาสนามบินภายใต้การบริหารสู่ความยั่งยืนในอนาคต

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สายการบินบางกอกแอร์เวย์สได้ริเริ่มโครงการ “Low Carbon Skies by Bangkok Airways” เพื่อมุ่งลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินธุรกิจทั้งระบบ โดยเฉพาะในส่วนปฏิบัติการด้านการบิน (Airlines) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากที่สุด 

โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา บางกอกแอร์เวย์ส สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 สู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับ 11,321 ตัน หรือมากกว่า 200 กิโลกรัม/เที่ยวบิน และการเติมน้ำมัน SAF ซึ่งนำเข้าและสนับสนุนโดย OR ในเที่ยวบินนำร่องในครั้งนี้ จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ได้โดยประมาณ 1,346 กิโลกรัมต่อเที่ยวบิน

s__29974941

 

ตั้งเป้าใช้ SAF 1% ในปี 2026 คาดกระทบราคาตั๋วไม่มาก

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า บางกอกแอร์เวย์ส ตัดสินใจนำร่องการใช้เชื้อเพลิง SAF ในเที่ยวบินสมุย-กรุงเทพฯ เพราะในอนาคตบางกอกแอร์เวย์สต้องการที่จะเริ่มนำ SAF มาใช้มากขึ้นในสนามบินสมุย เพราะเส้นทางบินสมุยเป็นเส้นทางบินหลักที่สร้างรายได้ให้บางกอกแอร์เวย์สถึงประมาณ 50% และลูกค้าถึง 80% ของบางกอกแอร์เวย์สและสนามบินสมุยเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งมีกำลังซื้อ และมีความต้องการใช้บริการที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ การดำเนินตามแนวทางดังกล่าวยังเป็นการดำเนินการที่สอดรับกับความตั้งใจของทุกภาคส่วนทั่วโลกที่ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นศูนย์ในปี 2050 (Net Zero Carbon Emission 2050) และตามมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) รวมถึงสมาคมการบินระหว่างประเทศ (IATA) ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าสายการบินสมาชิกจะต้องใช้ SAF เป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 1% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการดำเนินงาน ภายในปี 2026

สำหรับผลกระทบที่จะมีต่อราคาตั๋วนั้น นายพุฒิพงศ์ เผยว่า แม้ปัจจุบัน SAF จะราคาสูงกว่าน้ำมัน Jet A-1 ปกติประมาณ 3 เท่า การศึกษาชี้ว่า การนำ SAF มาใช้ในสัดส่วนเพียง 1% จะยังไม่ส่งผลกับราคาตั๋วของบางกอกแอร์เวย์สมากนัก เพราะปัจจัยที่ทำให้ราคาตั๋วสูงขึ้นนั้นมีหลายปัจจัย ทั้งค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเครื่องบิน และค่าอะไหล่

นอกจากนี้ ในอนาคต บางกอกแอร์เวย์สก็จะมีการศึกษาดูผลกระทบของการนำ SAF มาใช้ในการดำเนินงานต่อไป โดยคาดว่าจะมีการปรับตัว และนำ SAF มาใช้ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในอนาคตก็อาจจะมีราคาถูกลงได้ เพราะพันธมิตรอย่าง OR ก็เริ่มศึกษาเพื่อผลิต SAF ภายในประเทศแล้ว
s__29974782

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT