Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
แรงงานต่างชาติหนาว อังกฤษทุ่ม งบ 3,000 ล้านปอนด์ ดันแรงงานในประเทศ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

แรงงานต่างชาติหนาว อังกฤษทุ่ม งบ 3,000 ล้านปอนด์ ดันแรงงานในประเทศ

27 พ.ค. 68
17:27 น.
แชร์

26 พฤษภาคม 2568 รัฐบาลอังกฤษเปิดเผยว่า ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 3,000 ล้านปอนด์ หรือราว 133,017 ล้านบาทกับโครงการฝึกฝีมือแรงงานอังกฤษเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานจากต่างชาติ ขณะเดียวกันก็ชี้ถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของอังกฤษ บริดเจ็ต ฟิลลิปสันประกาศแผน "ปฏิวัติทักษะ" ของรัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของพรรคแรงงาน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แผนการดังกล่าวมุ่งเพิ่มทักษะให้แก่แรงงานชาวอังกฤษกว่า 120,000 คนในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ การก่อสร้าง วิศวกรรม สังคมสงเคราะห์ นอกจากนี้ ยังเพิ่มจำนวนตำแหน่งฝึกงานใหม่กว่า 30,000 ตำแหน่งภายในวาระการดำรงตำแหน่งของรัฐสภาชุดนี้

แผนการชุดนี้คือส่วนหนึ่งของความพยายามลดแรงงานต่างชาติในอังกฤษ และยังวางแผนปรับเพิ่มค่าธรรมเนียม Immigration Skills Charge ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากนายจ้างที่จ้างแรงงานจากต่างประเทศ ขึ้นอีก 32 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างโอกาสฝึกอบรมเพิ่มเติมได้ 45,000 ตำแหน่ง เพื่อเพิ่มทักษะแรงงานในประเทศ และลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ

ลงทุนหนัก แก้ปัญหาคนอังกฤษไร้งาน

รัฐบาลระบุว่า ขณะนี้ชาวอังกฤษวัยทำงานกว่า 1 ใน 5 อยู่ในสถานะว่างงานแต่กำลังหางานอยู่ ส่วน 1 ใน 8 ของเยาวชนอายุระหว่าง 16-24 ปี ในอังกฤษไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรม การลงทุนครั้งนี้ของรัฐบาลอังกฤษ จึงมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นให้กับแรงงานในประเทศ เพิ่มผลิตภาพ และวางรากฐานสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาวที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน

การลงทุนครั้งนี้ รัฐบาลคาดหวังว่าจะช่วยสร้างโอกาสในการฝึกอบรมเพิ่มเติมอีก 45,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการขาดแคลนแรงงานหลังเบร็กซิต รัฐมนตรีฟิลลิปสันกล่าวว่านี่คือการมอบโอกาสให้เยาวชนอังกฤษ

“เราสนับสนุนคนรุ่นต่อไป ด้วยการมอบโอกาสเรียนรู้เรื่องการค้าขาย การได้รับค่าจ้าง และการเติบโตให้กับเยาวชน [...] แรงงานมีฝีมือที่จะเป็นกุญแจสำคัญไปสู่เศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้นในอนาคต”

แผนครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทาง “แผนเพื่อเปลี่ยนแปลง” (Plan for Change) ของรัฐบาลอังกฤษ มีองค์กร Skills England ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านทักษะแห่งชาติ จะประสานงานร่วมกับนายจ้างและผู้นำท้องถิ่นเพื่อกำหนดแนวทางการฝึกอบรมในอนาคต ซึ่งจะครอบคลุมการฝึกทักษะตั้งแต่ขั้นตอนการฝึกงานเป็นผู้ช่วยจนถึงค่ายฝึกฝีมือ มีขั้นตอนดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบฝึกงาน ลดการสนับสนุนหลักสูตรระดับปริญญาโท (ระดับ 7) เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2026 เพื่อให้ความสำคัญกับหลักสูตรระดับต่ำกว่า
  • เปิดตัวหลักสูตรก่อสร้างระดับ 2 ใหม่จำนวน 13 หลักสูตร ภายใต้โครงการ Free Courses for Jobs
  • งบ 14 ล้านปอนด์ สำหรับฝึกอบรมทักษะผู้ใหญ่ในสาขาก่อสร้าง ซึ่งอยู่ภายใต้การจัดสรรอำนาจให้ท้องถิ่น คาดว่าจะรองรับผู้เรียนผู้ใหญ่ได้ 5,000 คน
  • งบ 136 ล้านปอนด์ในปีงบประมาณ 2025-26 สำหรับ Skills Bootcamps เพื่อฝึกอบรมผู้เรียนกว่า 40,000 คน
  • งบ 100 ล้านปอนด์ในระยะเวลา 4 ปี เพื่อขยายโครงการ Construction Skills Bootcamps
  • วิทยาลัยเทคนิคความเป็นเลิศด้านก่อสร้าง 10 แห่ง เตรียมเปิดดำเนินการในเดือนกันยายน 2025

เร่งลดแรงงานต่างชาติ

อีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้รัฐบาลอังกฤษเปิดตัวโครงการฝึกอาชีพครั้งนี้คือ ความต้องการลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ข้อมูลจาก Migration Observatory ชี้ว่า ในปี 2024 แรงงานกว่า 21% ในอังกฤษคือแรงงานคนต่างชาติ ซึ่งมีจำนวนราว 6.8 ล้านคน

อุตสาหกรรมที่นิยมจ้างแรงงานต่างชาติคือ การโรงแรม การขนส่ง การสื่อสาร ไอที และร้านค้าปลีก นอกจากนี้ยังพบว่าแรงงานจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกาใต้สะฮาราถูกจ้างงานในภาคสาธารณสุขมากกว่าภูมิภาคอื่น

ข้อมูลจากปี 2021 ชี้ว่าแรงงานต่างชาติอันดับหนึ่งในสหราชอาณาจักรคือชาวอินเดีย มีจำนวนมากถึง 965,000 คน ตามมาด้วยโปแลนด์ 841,000 คน ปากีสถาน 654,000 คน โรมาเนีย 558,000 คน และไอร์แลนด์ 357,000 คน ส่วนประเทศไทย ข้อมูลจาก Joshua Project Report ระบุว่ามีคนไทยอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรราว 54,000 คน และข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศเมื่อปี 2565 ชี้ว่ามีคนไทยอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรอย่างถูกกฎหมาย 51,733 คน


แชร์
แรงงานต่างชาติหนาว อังกฤษทุ่ม งบ 3,000 ล้านปอนด์ ดันแรงงานในประเทศ