กว่าสองปีแล้วที่ทรูและดีแทค สองค่ายมือถือขนาดใหญ่ในประเทศไทยควบรวมกิจการกันเป็นบริษัทใหม่บริษัทเดียวคือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทว่าตั้งแต่ก่อนที่การควบรวมจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 การควบรวมครั้งนี้ได้รับการคัดค้านมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 เนื่องจากการควบรวมดังกล่าวทำให้ประเทศไทยเหลือตัวเลือกผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์น้อยลง ขณะนี้ หากไม่นับค่ายสีเขียวอย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ก็จะเหลือเพียงทรู คอร์ปอเรชั่นเท่านั้น
แล้วการที่ประเทศไทยมีตัวเลือกผู้ให้บริการค่ายมือถือน้อยลงส่งผลอย่างไร? วันนี้ Spotlight ไม่ได้มาทำนายอนาคต แต่จะพาย้อนอดีตไปดูกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในยุโรป เมื่อค่ายมือถือขนาดใหญ่ในหลายประเทศควบรวมกิจการกัน
ในช่วงปี 2012–2016 ยุโรปเผชิญกับกระแสการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ลดจำนวนผู้ให้บริการในแต่ละประเทศจากสี่รายเหลือสามรายในหลายประเทศ ทำให้เกิดความกังวลด้านราคาค่าบริการและการแข่งขัน ว่าจำนวนผู้ให้บริการที่ลดลงจะนำไปสู่การแข่งขันที่น้อยลงในตลาดโทรคมนาคม และทางเลือกของลูกค้าก็จะลดลงตามไปด้วย
ความกังวลดังกล่าวทำให้การควบรวมกิจการในเดนมาร์กเมื่อปี 2015 ไม่เกิดขึ้น และในสหราชอาณาจักรก็มีคำสั่งระงับการควบรวมในปี 2016 ถือเป็นการควบรวมที่ล้มเหลว และเป็นจุดสิ้นสุดของคลื่นการควบรวมในช่วงปี 2012–2016 เป็นสัญญาณว่า คณะกรรมาธิการยุโรปเปิดรับแนวคิดการควบรวมน้อยลง อย่างไรก็ดี การควบรวมยังเกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย ไอร์แลนด์ และเยอรมนี ส่งผลมากพอจนเรียกได้ว่า เปลี่ยนภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในหลายประเทศไปเลย
จากมุมมองของผู้ให้บริการเครือข่าย เหตุผลหนึ่งที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในยุโรปใช้เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจควบรวมกิจการก็คือ รายได้ของพวกเขายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อในขณะนั้นมีการแข่งขันจากบริษัทอินเทอร์เน็ตระดับโลกอย่าง Skype และ WhatsApp ที่ให้บริการทางเลือกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผู้ให้บริการชี้ว่า การรวมทรัพยากรจะช่วยให้พวกเขาสามารถลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ (เช่น 4G) ได้ดีขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน และยังระบุว่าพวกเขาลงทุนเงินจำนวนมหาศาลในโครงข่ายบรอดแบนด์เพื่อรองรับความต้องการด้านการรับส่งข้อมูล การควบรวมจึงเป็นความพยายามที่จะรักษาความสามารถในการทำกำไรและเดินหน้าลงทุนต่อไปได้
ด้านมุมมองคณะกรรมาธิการยุโรป การควบรวมกิจการเป็นหนึ่งในบทสนทนาหลัก เพราะการทำให้ตลาดดิจิทัลรวมเป็นหนึ่งเดียว (Digital Single Market) เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญสูงสุดของคณะกรรมาธิการยุโรป การแก้ปัญหา “การกระจายตัว” ของตลาด และขนาดการดำเนินงานที่เล็กเกินไปของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ถือเป็นรากฐานของยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งการกระจายตัวถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้บริษัทโทรคมนาคมของยุโรปมีผลประกอบการแย่กว่าคู่แข่งในสหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม แต่ละฝ่ายก็มีมุมมองต่อคำว่า “การกระจายตัว” แตกต่างกัน สำหรับคณะกรรมาธิการ คำนี้หมายถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการและราคาในแต่ละประเทศในยุโรป ที่ตลาดโทรคมนาคมยังคงถูกจำกัดด้วยพรมแดนของแต่ละประเทศ
กลับกัน ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือกลับมองว่า ในยุโรปมีผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือประมาณ 40 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินงานอยู่ในเพียงหนึ่งหรือสองประเทศ เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่มีผู้ให้บริการรายใหญ่ระดับประเทศเพียงสี่ราย ได้แก่ AT&T, Verizon, Sprint และ T-Mobile แม้ว่าคณะกรรมาธิการอาจจะเปิดทางให้กับการควบรวมกิจการข้ามประเทศ แต่ผู้ให้บริการดูจะให้ความสนใจกับการควบรวมภายในประเทศมากกว่า
จากกรณีศึกษาปี 2017 อ้างอิงจากบทความปี 2017 ชื่อ Evaluating market consolidation in mobile communications พบว่า หากเกิดการควบรวมกิจการจากผู้เล่น 4 รายเหลือ 3 ราย ราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16.3% ขณะที่การลงทุนของผู้ให้บริการแต่ละรายจะเพิ่มขึ้น 19.3% แต่ในกรณีที่สมจริงมากขึ้น เช่น การควบรวมระหว่างบริษัทเล็ก ๆ ในยุโรป การเพิ่มขึ้นของบิลจะอยู่ที่ 4–7% และการลงทุนจะเพิ่มขึ้น 7.5–14%
ไม่พ้นจากความจริงไปนัก การควบรวมทำให้การแข่งขันลดลงและอัตราค่าบริการเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ ทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปและหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศต่าง ๆ มีความระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับการลดตัวเลือกผู้บริโภค เช่น เดนมาร์ก และสหราชอาณาจักร
งานวิจัยดังกล่าวชี้ถึงความเป็นไปได้เชิงบวกด้วยเช่นกัน คือในสหภาพยุโรป การควบรวมหมายถึงแนวโน้มการลงทุนมากขึ้นจากผู้ให้บริการ มีเงินทุนและความสามารถในการลงทุนในโครงข่าย 4G/5G ได้มากขึ้น และกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม นี่เป็นกรณีที่ปัจจัยอื่น ๆ คงที่ แต่เมื่อมองความเป็นจริง กลับมีหลักฐานเชิงประจักษ์ไม่ชัดเจน บางกรณีการลงทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย บางกรณีก็ไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ผู้เล่นรายใหม่ก็ยังลงทุนได้จำกัด แม้จะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการเยียวยา
หลังคลื่นการควบรวมกิจการมือถือจาก 4 รายเหลือ 3 รายเมื่อ 8 ปีก่อน คลื่นนี้ย้อนกลับมาที่สหภาพยุโรปอีกครั้งในปีก่อน โดยเฉพาะในสเปน โปรตุเกส อิตาลี และสหราชอาณาจักร ผู้ให้บริการอ้างถึงผลประกอบการที่อ่อนแอ ขนาดของบริษัทไม่ใหญ่เพียงพอจะแข่งขันกับผู้ให้บริการระดับโลกได้ และความจำเป็นในการลงทุนในโครงข่าย 5G
สาเหตุหลักอีกประการหนึ่งคือ ผู้ให้บริการเห็นว่า การควบรวมจะช่วยให้ภูมิภาคสามารถแข่งขันกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในด้านเทคโนโลยีสำคัญ เช่น 5G และปัญญาประดิษฐ์ (AI)
โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระหว่างการจัดแสดงสินค้า Mobile World Congress (MWC) ที่เมืองบาร์เซโลนา ซีอีโอของบริษัทโทรคมนาคมหลายแห่งได้เรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลผ่อนคลายข้อจำกัด เพื่อให้พวกเขาสามารถควบรวมกิจการกับบริษัทอื่นได้ง่ายขึ้น และลดจำนวนผู้ให้บริการโทรคมนาคมโดยรวมในทวีปยุโรปลง
อ้างอิง: cepr, cnbc, copenhageneconomics