การเงิน

แก้หนี้นอกระบบต้องจบแบบไหน

11 ก.พ. 65
แก้หนี้นอกระบบต้องจบแบบไหน

แก้หนี้นอกระบบต้องจบแบบไหน


โดย ขวัญชนก วุฒิกุล

 

 

ช่วงที่ผ่านมาได้รับคำถามเรื่องการแก้หนี้นอกระบบเยอะมาก จริงๆไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะดูเหมือน 'ปัญหาหนี้นอกระบบ' กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยไปแล้ว แต่ที่น่าตกใจคือ ลูกหนี้หลายๆ คนยอมจ่ายดอกเบี้ยที่สูงร้อยละ 20 ต่อวัน ! ย้ำว่า ต่อวัน !!  นึกสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมถึงยอมเอาตัวเองเข้าไปติดกับดักหนี้ขนาดนั้น แต่คำตอบก็ดูจะคล้ายๆ กันว่า “ต้องหาทางเอาตัวรอดไปก่อน
ที่เหลือค่อยไปว่ากันข้างหน้า”


ดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อวัน แปลว่า เงินกู้ 10,000 บาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยวันละ 2,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยแค่ 6
วันก็เกินจำนวนเงินต้นแล้ว วันไหนไม่จ่าย เจ้าหนี้ก็มีวิธีการคิดทบต้นทบดอกไปเรื่อยๆ กลายเป็น “หนี้ท่วมหัว
เอาตัวไม่รอด” ของจริง

 

istock-1323085571

 

สำหรับคนที่ยังไม่ได้เข้าสู่วงการ “หนี้นอกระบบ” แต่ไม่แน่ใจว่า ตัวเองมีโอกาสเข้าสู่วงโคจรนี้หรือไม่
มีสัญญาณอันตราย 8 เรื่องที่ต้องคอยหมั่นสังเกตสังกาตัวเองค่ะ


สัญญาณแรก  คือ เราจะไม่รู้แล้วว่า มีเงินเข้าหรือมีรายได้เท่าไหร่ หลังจากนั้น เราจะไม่รู้ว่า
เรามีภาระค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ซึ่งทั้งสองเรื่องถือเป็นเรื่อง “พื้นฐาน” เพราะถ้าไม่รู้ว่าในแต่ละเดือน
เรามีเงินเข้าเท่าไหร่ มีเงินออกเท่าไหร่ เราจะไม่สามารถวางแผนทางการเงินได้เลย

สัญญาณที่สอง เมื่อวางแผนทางการเงินไม่ได้ เราก็จะเริ่มใช้ไปเรื่อยๆ จนสุดท้าย เราจะใช้ “มากกว่า” ที่หาได้
เมื่อถึงจุดนั้น

สัญญาณที่ 3 จะปรากฏ นั่นคือ เราจะเริ่มถอนเงินออมออกมาใช้จ่ายซึ่งบ่งบอกว่าสุขภาพทางการเงินของเราเริ่มมีปัญหาแล้ว (อันนี้ต้องขยายความว่า  ในภาวะปกติที่ไม่ใช่ภาวะวิกฤติโควิด-19 ที่คนจำนวนไม่น้อยต้องดึงเงินออมเงินเก็บออกมาใช้จ่าย
เพราะภาวะรายได้ชะงักงันหรือ Income Shock ที่ทำให้รายได้กับรายจ่ายไม่สัมพันธ์กัน)พ้นจากตรงนี้ไปเราจะเผชิญกับ

สัญญาณที่ 4  ภาระหนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ

สัญญาณที่ 5  อันตราย จะตามมาติดๆ เมื่อเราจะเริ่มจ่ายหนี้ได้ไม่เต็มจำนวน เริ่มจ่ายขั้นต่ำหรือจ่ายแต่ดอก หยุดพักเงินต้น

สัญญาณที่ 6 นั่นคือ การเริ่มกดเงินสดจากบัตรเครดิต หรือพึ่งพาเงินกู้ส่วนบุคคล

สัญญาณที่ 7 เราจะเริ่มแก้ปัญหาด้วยการกู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า วนไปเรื่อยๆ จนจบที่สัญญาณอันตรายสุดท้าย คือ

สัญญาณที่ 8  การกู้เงินนอกระบบ ที่สะท้อนว่า ชีวิตด้านการเงินมาสุดทางแล้ว

แม้ว่า สถานภาพทางการเงินจะย่ำแย่แค่ไหน เราก็ควรหยุดตัวเองไว้ที่สัญญาณที่ 7 อย่าปล่อยให้ถลำมาสู่สัญญาณที่ 8 เพราะแก้ไขได้ยากจริงๆ ค่ะ

 

istock-1095421738

 

คำแนะนำที่มีให้ (แต่จะทำได้จริงแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง) สำหรับคนที่เข้าสู่วังวน “หนี้นอกระบบ” มีอยู่ 3 หนทาง

 

หนึ่ง  หาเงินมาปิดหนี้เอง ซึ่งหมายถึงการหาเงินที่มาจากการทำงาน เป็นรายได้ที่ได้มาโดยสุจริต หรือถ้าพอมีทรัพย์สินอะไรที่ขายได้ก็จำเป็นต้องขายเพื่อนำเงินมาปิดหนี้นอกระบบก้อนนี้ให้ได้ก่อน  สิ่งที่ต้องระวังคือ อย่าแก้ปัญหาเก่าด้วยการสร้างปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม เช่น การหาเงินจากช่องทางที่ไม่สุจริต ด้วยการเล่นพนันออนไลน์เพราะคิดว่าจะได้เงินก้อนใหญ่ หรือทำอะไรที่มีความสุ่มเสี่ยง เช่น การเล่นแชร์ในไลน์ในเฟซบุ๊ค เพราะเสี่ยงกับการถูกโกง รวมถึงไม่ควรกู้นอกระบบจากที่ใหม่มาโปะที่เก่า เพราะเท่ากับต้องแบกดอกเบี้ยนอกระบบเพิ่ม


การหาเงินมาปิดหนี้เอง ต้องมาจากความสามารถในการทำงาน หรือความสามารถด้านอื่นๆหลายคนอาจจะรังเกียจรายการประกวดร้องเพลงหรือแม้แต่รายการที่ช่วยล้างหนี้ให้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีลูกค้าหลายคนที่พ้นจากปัญหาหนี้เหล่านี้ได้ด้วยความช่วยเหลือของรายการเหล่านี้


สอง  ถ้าหารายได้เองไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีกู้จากสถาบันการเงินในระบบซึ่งมีดอกเบี้ยต่ำกว่าและมีโอกาสเจรจาผ่อนผันหรือปรับโครงสร้างได้มากกว่าเจ้าหนี้นอกระบบ หลักการเป็นแบบนี้ แต่วิธีปฏิบัติบอกเลยว่า ยาก เพราะหลักพิจารณาของสถาบันการเงินจะดูที่ความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลัก ซึ่งลูกหนี้ที่ผ่านการกู้นอกระบบมาแล้ว สะท้อนถึงความไม่มีวินัยทางการเงิน
ความน่าเชื่อถือความไว้วางใจจะต่ำมาก และมีโอกาสที่จะเบี้ยวหนี้สูง

 

ขณะเดียวกันลูกหนี้กลุ่มนี้ยังขาดหลักประกัน แต่ลูกหนี้ก็ต้องลองให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกโดยอาจจะขอกู้จากผู้ให้บริการสินเชื่อบุคคลหรือสินเชื่อเงินสด แต่ลูกหนี้ต้องมั่นใจว่า เมื่อกู้มาปิดหนี้นอกระบบได้แล้ว จะไม่กู้หนี้นอกระบบซ้ำ และจะไม่ผิดนัดชำระหนี้ก้อนนี้อีก ซึ่งเรื่องนี้ “วินัยทางการเงิน” สำคัญมากๆ


สาม  ถ้าไม่สามารถทำได้ทั้งข้อ 1 และ 2 ลูกหนี้ก็ต้องพึ่งพากลไกรัฐ ที่เปิดช่องทางสำหรับข้อคำปรึกษาและร้องเรียนเรื่องหนี้นอกระบบได้ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร.1359 หรือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ โทร.1567 และศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โทร.02 575 3344 (ที่มา :ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย) แต่ต้องยอมรับว่า การร้องเรียนคือจุดแตกหักกับเจ้าหนี้ ที่เมื่อก่อนอาจจะเคยพึ่งพากันมาก่อนซึ่งลูกหนี้ต้องประเมินเองว่า จะไม่กลับไปพึ่งพาเจ้าหนี้อีกแน่ๆ แล้ว


สุดท้าย อยากฝากเป็นกำลังใจให้กับคนที่เป็นหนี้นอกระบบว่า ถึงแม้จะ “จบยาก” แต่ที่ผ่านมา มีหลายๆคนที่จบปัญหาหนี้นอกระบบได้ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงๆ และเมื่อแก้จบแล้วต้องสร้างวินัยทางการเงินให้ตัวเองอย่างเข้มแข็ง ต้องไม่กลับไปเป็นหนี้นอกระบบอีกจะได้กลับมาใช้ชีวิตในเส้นทางปกติกันค่ะ

 

ขวัญชนก วุฒิกุล

ขวัญชนก วุฒิกุล

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ

advertisement

SPOTLIGHT