การเงิน

หุ้นไทยต่ำสุดในรอบ 3 ปี 7 เดือน สัปดาห์นี้ จับตาการเมืองและเงินทุนต่างชาติ

17 มิ.ย. 67
หุ้นไทยต่ำสุดในรอบ 3 ปี 7 เดือน สัปดาห์นี้ จับตาการเมืองและเงินทุนต่างชาติ

 

ดัชนี้หุ้นไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ร่วงลงอีก คิดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 แตะจุดต่ำสุดใหม่ในรอบกว่า 3 ปี 7 เดือน เกิดการเทขายของนักลงทุนต่างชาติ มาจากสาเหตุอะไรกันแน่? และทิศทางในสัปดาห์นี้จะเป็นอย่างไร? ปัจจัยอะไรที่ต้องจับตาบ้าง?

โดยหุ้นไทยร่วงลงแรงช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาคท่ามกลางความกังวลว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าตลาดคาด ประกอบกับนักลงทุนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นการเมืองในประเทศ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวกระตุ้นแรงเทขายทำกำไรในหุ้นหลายกลุ่มอุตสาหกรรม นำโดย ไฟแนนซ์ อสังหาริมทรัพย์และพลังงาน 

ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบในเวลาต่อมาก่อนจะทยอยปรับตัวลงอีกครั้งหลังการประชุมเฟด เนื่องจากเฟดส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ประกอบกับนักลงทุนมีความระมัดระวังในการลงทุนระหว่างรอติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศ 

โดยหุ้นไทยแตะจุดต่ำสุดครั้งใหม่ในรอบ 3 ปี 7 เดือนที่ 1,304.31 จุดในช่วงปลายสัปดาห์ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อย ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงมีสถานะขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง (17 วันทำการ) จากสัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มแบงก์ (มีแรงหนุนจากประเด็นกนง.มีมติคงดอกเบี้ยในการประชุมรอบล่าสุด) และเทคโนโลยี (มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว) ปรับตัวขึ้นสวนทางหุ้นในกลุ่มอื่นๆ 

เมื่อศุกร์ที่ 14 มิ.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,306.56 จุด ลดลง 1.96% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 41,458.19 ล้านบาท ลดลง 2.77% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.31% มาปิดที่ระดับ 355.91 จุด

หุ้นไทยต่ำสุดในรอบ 3 ปี 7 เดือน สัปดาห์นี้ จับตาการเมืองและเงินทุนต่างชาติ

บล.กสิกรไทยคาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ กรอบ 1,285-1,325 จุด

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า หุ้นไทยในสัปดาห์นี้ ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,300 และ 1,285 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,315 และ 1,325 จุด 

สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตานั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ประเด็นการเมืองในประเทศและทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ค. ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนมิ.ย. 

รวมทั้ง จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนมิ.ย. ของยูโรโซน อังกฤษและญี่ปุ่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนมิ.ย. และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร 





advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT