ไลฟ์สไตล์

จาก The Great Resignation ถึง Quiet Quitting รวมฮิตศัพท์วัยทำงานปี2022

29 ธ.ค. 65
จาก The Great Resignation ถึง Quiet Quitting รวมฮิตศัพท์วัยทำงานปี2022
ไฮไลท์ Highlight
โดยหลังจากการระบาดของโควิดทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2021 ชาวอเมริกันถึงประมาณ 4 ล้านคนตัดสินใจลาออกจากงานในแต่ละเดือน ทำให้ตัวเลขตำแหน่งงานว่างในสหรัฐฯ พุ่งจาก 7 ล้านตำแหน่งในเดือนมกราคม 2019 ไปเป็น 11.26 ล้านตำแหน่งในเดือนมกราคมปี 2020 และคงอยู่ที่ 11.5 ล้านตำแหน่งในเดือนมีนาคม 2022 ก่อนจะลงมาอยู่ที่ 10.3 ล้านตำแหน่งในเดือนตุลาคม ซึ่งก็ยังมากกว่าตัวเลขก่อนการระบาดของโควิด สะท้อนเทรนด์การลาออกจากงานที่ลากยาวมาตลอดเวลา 3 ปี 

ปี 2022 เป็นปีแรกที่หลายๆ อย่างในโลกเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งรวมไปถึง ‘ชีวิตการทำงาน’ ที่เริ่มต้องกลับมาทำงานในออฟฟิศกันด้วย หลังอยู่กับโควิด 19 มานาน แต่แน่นอนว่าชีวิตหลังโควิด คือ The New Normal ของคนทั่วโลกและมุมมองในการใช้ชีวิต การทำงานของแต่ละคนย่อมเปลี่ยนไปด้วย

istock-1392049389

สะท้อนอย่างชัดเจนในการเกิด ‘คำฮิตติดปาก’ หรือ buzzwords ที่เข้ามาอธิบายทัศนคติและเทรนด์การทำงานของคนยุคหลังโควิด ที่เหมือนจะออกมาอยู่บนเฮดไลน์ข่าวได้ทุกเดือน ไม่ว่าจะเป็นศัพท์พวก “The Great ___” หรือ “Quiet ___” คำเหล่านี้บ่งบอกว่าตลาดแรงงานและพฤติกรรมการทำงานของคนทั้งโลกมีความแปะปรวนสูงมากในปีนี้

ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนทุกคนมาทบทวนกันว่าทั้งปีนี้ภาพรวมตลาดแรงงานโลกเป็นอย่างไรบ้างเล่าผ่านคำศัพท์ฮิตเกี่ยวกับทำงาน และชวนมองไปข้างหน้าว่าในปี 2023 เทรนด์การทำงานของโลกกำลังจะดำเนินไปในทิศทางไหนในอนาคต

artboard1copy2_1

 

เริ่มที่ “ลาออก” จบที่ “เลย์ออฟ” รวมคลื่นการเปลี่ยนแปลงครั้ง ‘ยิ่งใหญ่’ ตลอดปี 2022

คำศัพท์กลุ่มแรกที่เริ่มขึ้นมาพร้อมๆ กับการเกิดการระบาดของโควิด-19 อย่างหนักในปี 2021 ก็คือคำศัพท์จำพวกที่ขึ้นต้นด้วย “The Great ___” ที่เข้ามาอธิบายคลื่นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของตลาดแรงงานในช่วง 2021-2022 โดยเฉพาะแรงงานในสหรัฐอเมริกาที่คำเหล่านี้กำเนิดขึ้นมา

คำแรกที่จะถูกพูดถึงในบทความนี้ ก็คือ “The Great Resignation” หรือ “การลาออกครั้งใหญ่” ที่เปรียบเสมือนเป็นจุดกำเนิดและต้นขบวนของ buzzwords ที่จะตามมาเป็นพรวนหลังจากนั้น

istock-1193929682

The Great Resignation เป็นคำที่ Anthony Klotz รองศาสตราจารย์ด้านการจัดการของ Texas A&M University ตั้งขึ้นมาในปี 2021 เพื่ออธิบายปรากฎการณ์การแห่ลาออกจากงานของชาวอเมริกันครั้งใหญ่ในช่วงปี 2019-2022 ซึ่งคาดว่าเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิ

  1. การที่คนไม่พอใจสภาพการทำงานในช่วงโควิดที่ยากลำบาก จนเกิดอาการ ‘หมดไฟ’ หรือ burnout โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับภาระหนักในการดูแลผู้ป่วยจนตัดสินใจลาออก
  2. แรงงานบางส่วน โดยเฉพาะผู้หญิง ที่ต้องออกจากงานมาดูแลครอบครัวในช่วงที่มีการกักตัว
  3. สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและเวลาที่มากขึ้นทำให้ผู้คนหันกลับมาทบทวนกับตัวเองว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต จนตัดสินใจลาออกจากงานที่ไม่ชอบแต่ทนทำมานาน

ดยหลังจากการระบาดของโควิดทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2021 ชาวอเมริกันถึงประมาณ 4 ล้านคนตัดสินใจลาออกจากงานในแต่ละเดือน ทำให้ตัวเลขตำแหน่งงานว่างในสหรัฐฯ พุ่งจาก 7 ล้านตำแหน่งในเดือนมกราคม 2019 ไปเป็น 11.26 ล้านตำแหน่งในเดือนมกราคมปี 2020 และคงอยู่ที่ 11.5 ล้านตำแหน่งในเดือนมีนาคม 2022 ก่อนจะลงมาอยู่ที่ 10.3 ล้านตำแหน่งในเดือนตุลาคม ซึ่งก็ยังมากกว่าตัวเลขก่อนการระบาดของโควิด สะท้อนเทรนด์การลาออกจากงานที่ลากยาวมาตลอดเวลา 3 ปี 

นอกจากนี้ เทรนด์นี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นภายในสหรัฐฯ เท่านั้น เพราะจากการสำรวจของ PwC ที่สอบถามความคิดเห็นของแรงงานถึง 52,000 คนจาก 44 ประเทศทั่วโลก พนักงานถึง 20% กล่าวว่าพวกเขาจะลาออกจากงานในปีหน้า สะท้อนว่ายุคหลังโควิดทำให้คนตัดสินใจลาออกจากงานที่ไม่ชอบ หรือตอบสนองความต้องการของชีวิตกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การตัดสินใจลาออกจากงานที่ไม่ชอบจะเป็นสิ่งที่อาจทำให้ชีวิตของแรงงานเหล่านั้นดีขึ้น เพราะมันอาจนำพวกเขาไปสู่งานที่ให้เงินเหมาะสมหรือเหมาะกับความชอบของพวกเขามากกว่า ทุกคนที่ลาออกในช่วง The Great Resignation ก็ไม่ได้โชคดีแบบนั้นเสมอไป เพราะบางคนเมื่อลาออกไปแล้วกลับพบว่างานใหม่ไม่ได้ดีอย่างที่คิด หรือร้ายกว่านั้นคือหางานใหม่ไม่ได้เลย จนเกิดคำว่า “The Great Regret” และ “The Great Remorse” ขึ้น หรือจะแปลว่าการเสียดายครั้งใหญ๋ก็คงไม่ผิด

istock-1211324335

โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี Joblist เว็บไซต์หางานของสหรัฐอเมริกาได้ออกมารายงานว่าจากการสำรวจแรงงานที่กำลังหางานถึง 15,000 คน 28% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าพวกเขาเสียดายที่ออกจากงานเก่า โดย 40% ของคนที่ลาออกจากงานเสียใจเพราะออกมาแล้วพบว่างานใหม่หายากกว่าที่คิด ในขณะที่ 42% ของคนที่หางานใหม่ได้อยากออกเพราะว่างานใหม่ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองตามหา

และในปลายปี 2022 หลังจากนายจ้างเป็นฝั่งที่ต้องตามหาลูกจ้างมาทำงานให้มานาน ก็ถึงคราวที่ลูกจ้างบางส่วนต้องเป็นฝ่ายร่อนใบสมัครหางานใหม่บ้างแล้ว เมื่อเกิด “The Great Layoff” หรือ “การเลิกจ้างครั้งใหญ่” ขึ้นในหมู่บริษัทเทคโนโลยีทั้งเล็กทั้งใหญ่ เช่น Meta, Twitter, Netflix หรือ Robinhood ที่ต้องลดจำนวนพนักงานลงเพราะรายได้ลดลงมากจากช่วงโควิด 

อย่างไรก็ตาม การเลย์ออฟก็ไม่ได้เกิดขึ้นในหมู่บริษัทเทคโนโลยีเท่านั้น เพราะในภาคส่วนอื่น เช่น การเงินก็เริ่มมีการเลย์ออฟบ้างแล้ว เช่น Goldman Sachs ที่กำลังจะเลิกจ้างลูกจ้างถึง 8% หรือราว 4,000 คนในเดือนมกราคมที่จะถึง เพื่อรัดเข็มขัดเตรียมพร้อมเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า

 

2022 ปีที่นายจ้างและลูกจ้างไม่คุยกัน เน้นไม่พอใจแล้วกดดัน ‘เงียบๆ’

คำฮิตติดปากอีกกลุ่มหนึ่งที่เกิดขึ้นมาในปีนี้ก็คือคำที่ใช้อธิบายพฤติกรรมที่เหล่านายจ้างและลูกจ้างใช้คานอำนาจกันอย่าง ‘เงียบๆ’ ในที่ทำงาน

สำหรับคำกลุ่มนี้ คำแรกที่ทุกคนน่าจะรู้จักดีที่สุด โดยเฉพาะเหล่าพนักงานในกลุ่ม Gen Z และ Millennials ก็คือ “Quiet Quitting” หรือ “การลาออกเงียบๆ” ที่หมายถึงการทำงานเท่าที่ได้รับมอบหมาย ไม่ทะเยอทะยานทำงานเกินหน้าที่เพื่อให้เจ้านายเห็นความสามารถ ไม่สนใจก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เพราะมองว่าทุ่มเททำไปก็ไร้ประโยชน์

istock-1400074893 

เทรนด์การลาออกจากงานแบบเงียบๆ นี้เกิดขึ้นจากคลิป TikTok คลิปหนึ่งที่กลายเป็นไวรัลขึ้นมาในเดือนกรกฎาคม 2022 ทำให้คำๆ นี้กลายเป็นคำติดปากที่อธิบายเทรนด์การทำงานของเหล่าคนอายุน้อยที่เหนื่อยหน่ายกับการตั้งใจทำงานเกินหน้าที่แบบไม่ได้ผลตอบแทนในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 

แต่ถ้าฝั่งลูกจ้างมี Quiet Quitting มาประท้วงสภาพการทำงานในช่วงหลังโควิด ฝั่งนายจ้างก็มีวิธีโต้กลับของตัวเองเช่นกัน ด้วยการทำ “Quiet Firing” และ “Quiet Hiring” เพื่อมากดดันให้ลูกจ้างที่ไม่ยอมทำงานเต็มที่ลาออก และให้รางวัลกับผู้ที่ยอมทุ่มเทกายใจให้กับบริษัท

โดยจากการรายงานของ BBC คำว่า Quiet Firing หรือ “การไล่ออกเงียบๆ” หมายถึงการที่นายจ้างตั้งใจบีบให้พนักงานรู้สึกไม่ดีจนลาออกไปเองด้วยการ ‘เมิน’ โดยอาจจะไม่สอนงาน ไม่ให้คำแนะนำ ไม่ให้เข้าร่วมทำงานในโปรเจคดีๆ หรือปฏิเสธไม่ขึ้นเงินเดือนให้ ซึ่งจะทำให้พนักงานคนนั้นๆ รู้สึกไม่ดี รู้สึกไม่มีค่า จนตัดสินใจหนีออกจากสภานการณ์ดังกล่าว 

โดยกลยุทธ์ Quiet Firing นี้จะมาคู่กับมาตรการอีกอย่างคือ “Quiet Hiring” ซึ่งหมายถึงการที่นายจ้างจงใจขึ้นเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง ย้ายตำแหน่ง หรือจ้างงานพนักงานที่มีประวัติทุ่มสุดตัวให้กับที่ทำงานโดยเฉพาะ โดยนายจ้างที่ต้องการทำแบบนี้มักจะขอจดหมายแนะนำจากนายจ้างคนก่อนหน้า หรือตรวจสอบประวัติการทำงานของพนักงานทุกคนอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าตัวเองจะได้คนที่ ‘บ้างาน’ และ ‘ทะเยอทะยาน’ ที่สุดมาเป็นลูกจ้าง รวมไปถึงกดดันให้เหล่าพนักงานที่แอบเป็น Quiet Quitters รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง แล้วกลับมาตั้งใจทำงาน หรือลาออกไปให้สิ้นเรื่อง

 

ปี 2023 ‘นายจ้าง’ หรือ ‘ลูกจ้าง’ ฝั่งไหนจะมาวิน

จากการรายงานของ BBC สิ่งหนึ่งที่น่าจะเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานปีหน้าก็คืออำนาจระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่น่าจะกลับมาอยู่ในจุดที่ ‘สมดุล’ กัน เพราะถึงแม้ก่อนหน้านี้นายจ้างต้องหาคนมาทำงาน ภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอยที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2023 น่าจะกดดันให้ลูกจ้างหลายๆ คนที่ออกจากงานหางาน และยอมเข้าทำงานที่ตัวเองอาจไม่ต้องการมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างจะยังคงมีอำนาจในการต่อรองพอสมควร เพราะพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนไปหลังช่วงโควิด โดยเฉพาะเทรนด์การทำงานนอกออฟฟิศบริษัท โดยนายจ้างอาจจะต้องยอมให้พนักงานทำงานจากบ้านหรือทางไกลกันต่อไป และล้มเลิกความคิดที่จะบังคับให้พนักงานกลับเข้ามานั่งโต๊ะในสำนักงาน เพราะแรงงานส่วนมากทั่วโลกไม่ยอมกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศทุกวันกันเหมือนเดิมแล้ว 

นอกจากนี้ เทรนด์หนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ เทรนด์การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ โดยในปัจจุบัน บริษัทในหลายๆ ประเทศเช่น อังกฤษ เบลเยี่ยม สวีเดน และไอซ์แลนด์ได้มีการทดลองให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์กันบ้างแล้ว และจากข้อมูลของ Linkedin ในปีหน้า บริษัทในอีกหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สก็อตแลนด์ แคนาดา และนิวซีแลนด์ก็น่าจะกระโดดเข้ามาร่วมเทรนด์นี้ด้วย เพราะผลจากการทดลองชี้ว่าการทำงาน 4 วันทำให้พนักงานมีกำลังใจทำงาน และตั้งใจทำงานมากขึ้น เพราะมีเวลาพักผ่อนเต็มที่

 

ที่มา: BBC(1), BBC(2), Forbes, Linkedin

advertisement

SPOTLIGHT