การเงิน

นายกฯ ไม่ก้าวก่ายแบงก์ชาติ เปิดกำไรแบงก์ปี 66

10 ม.ค. 67
นายกฯ ไม่ก้าวก่ายแบงก์ชาติ  เปิดกำไรแบงก์ปี 66

ช่วงนี้กระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีกำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปี 2023 ที่สูงถึงกว่า 2.3 แสนล้านบาท จากการที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(Net Interest Margin : NIM) ของกลุ่มธนาคารสูงขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทย และประชาชนคนไทยยังอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ในขณะนี้

ขณะที่นายกรัฐมนตรี “นายเศรษฐา ทวีสิน” เองก็มีการเรียกผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้าพบในช่วงบ่ายวันนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล 

โดยก่อนหน้านี้ภายหลังจากที่ได้โพสต์ในแอคเคาท์ X (ทวิตเตอร์) ส่วนตัวของตัวเองว่า “การที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ  ที่เงินเฟ้อติดลบกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อยและ SME อีกด้วย” พร้อมทั้งออกคำแนะนำให้ “กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อ”

นับเป็นการกดดันการทำงานของธปท.ที่เป็นองค์กรอิสระในการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน ว่าควรเข้ามาดูแลในเรื่องนี้

บทความของ SPOTLIGHT จะพามาดูมุมมองของภาคเอกชนมีต่อเรื่องนี้อย่างไร และตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์จาก InnovestX และภาพของการหารือของนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าแบงก์ชาติในช่วงบ่ายที่ผ่านมา

นายกยันไม่ก้าวก่ายแบงก์ชาติเรื่อง“ดอกเบี้ย” 

img_4149

ล่าสุด วันนี้ (10 ม.ค.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า เรื่องดอกเบี้ยผมไม่มีอำนาจในการไปก้าวก่าย ท่าน ธปท.ต้องมีความเป็นอิสระ ตนเองก็แค่มีการอธิบายเหตุผลให้ฟัง ไม่ได้ไปสั่ง โดยให้เหตุผลว่าในเรื่องเศรษฐกิจโดยรวม  เรื่องเศรษฐกิจต่างประเทศ และเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ตนก็เพียงแต่บอกว่าในสถานการณ์ของตลาดในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง รวมทั้งเรื่องของเศรษฐกิจของภาวะประชาชน

“ ผมไม่มีอำนาจไปก้าวก่าย “แบงก์ชาติ” เรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ย ผมเคารพความเป็นอิสระแบงก์ชาติ และพร้อมนัดคุยทุกสัปดาห์ ส่วนผู้ว่าฯ แบงก์ชาติบอกว่าจะเร่งรัดการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว”

กกร.ชี้หากเฟดลดดอกเบี้ยแบงก์ชาติควรลดดอกเบี้ยทันที

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ว่า อัตราเบี้ยนโยบายของไทยระดับที่สูง หวังว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ถ้าเฟดมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงควรจะทำทันที ภายในไตรมาสที่ 2 ควรปรับลดดอกเบี้ยลงให้มีความเหมาะสม 

โดยประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2024 เติบโต 2.8-3.3% เนื่องจากมีมาตรการ Easy E-Receipt  ที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจโตได้ 0.18% รวมถึงการฟื้นตัวท่องเที่ยวน่าจะดี คาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวปีนี้น่าจะเพิ่มเป็น 33-34 ล้านคน จากปีก่อน 28 ล้ล้านคน

รวมถึง แรงกดดันเงินเฟ้อมีการปรับตัวให้เงินเฟ้อลงไป และคาดว่าปีนี้ส่งออกเป็น +2-3% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 0.7-1.2% ซึ่งยังไม่ได้รวมมาตรการดิจิทัล วอลเล็ต 

“แม้เศรษฐกิจจะจะดูฟื้นตัวความน่าท้าทาย จำเป็นต้องให้รัฐบาลใช้มาตรการเสริมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ต้องรองบประมาณใหม่ งบค้างท่อได้มีการหารือกับภาครัฐ องค์กรส่ส่วนท้องถิ่นให้ออกมาใช้ให้เร็วที่สุดเตรียมทำแผนตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนสินเชื่อในการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อช่วยเหลือ SME“ 

สมาคมธ.ไทยชี้แบงก์กำไร 2 แสนล้านบาท แต่ ROA เพียง 1% ต่ำกว่าปท.อื่นมาก

นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการ สมาคมธนาคารไทย ชี้แจงถึงกลุ่มธนาคารพาณิชย์กำไรระดับ 2 แสนล้านบาทว่า กำไรที่ระดับนี้เป็นกำไรที่ยังไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนทางการเงิน การลงทุน การบริหารจัดการ การวางระบบเทคโนโลยี และการบริหารจัดการหนี้ ซึ่งต้องมีการใช้ทรัพยากรค่อนข้างสูง 

โดยให้ข้อสังเกตว่า ธนาคารพาณิชย์ต้องมีการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดูแลลูกค้า โดยเฉพาะระบบที่ให้บริการทางการเงินที่ไม่ได้มีการคิดค่าธรรมเนียมอย่างระบบพร้อมเพย์ ซึ่งธนาคารต้องใช้เงินลงทุนกับเทคโนโลยีจำนวนมาก 

รวมถึง การพิจารณาจากตัวเลข  อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ หรือ Return on Asset (ROA) 

ที่ปัจจุบันกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ระดับต่ำมาก คือ 1% ขณะที่เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศที่มี ROA สูงกว่าไทยที่ 2-4%

ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงไปหรือไม่นั้น เนื่องจากระบบธนาคารพาณิชย์ใช้ทรัพยากรสูงอยากพิจารณาที่ตัวเลขของอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่สูงถึง 8.5 เท่า ขณะที่บริษัททั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 2.5 เท่า

จากที่มีธนาคารของรัฐได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไปช่วงที่ผ่านมานั้น มองว่า เป็นการใช้ทรัพยากรและกลไกที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ส่วนธนาคารพาณิชย์เอกชนนั้น คงต้องพิจารณาหลายๆ ปัจจัยทั้งทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด

อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์เองก็ได้มีการเข้าไปดูแลช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง โดยเข้าไปช่วยเหลือลดภาระต้นทุนทางการเงินให้กับลูกค้าอีกกว่า 3.4 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 6.1 ล้านบัญชี  ซึ่งตั้งแต่สถานการณ์โควิดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนทางเครดิตที่เกิดขึ้นในระบบธนาคารพาณิชย์มูลค่ารวมกว่า 6 แสนล้านบาท หรือราว 6% ของสินเชื่อ รวมถึงความท้าทายในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอีกด้วย

“ดร.กอบศักดิ์” FETCO มองดอกเบี้ยไทยทิศทางเดียวกับเงินเฟ้อ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย มองว่า “อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในทิศทางเดียวกับอัตราเเงินเฟ้อ เพราะถ้าดูเงินเฟ้อพื้นฐานทรงๆ ถึงบวกเล็กน้อย แต่เงินเฟ้อทั่วไปติดลบ หลักๆ มาจากราคาน้ำมันโลกปรับลดลง และสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดในไทยมาก เลยทำให้ราคาสินค้าถูกลง น่าจะเป็นสาเหตุให้เงินเฟ้อทั่วไปติดลบ ดังนั้น เงินเฟ้อระดับนี้ไม่ได้สะท้อนว่าเศรษฐกิจแย่ เพราะมีกำลังซื้ออยู่ และการท่องเที่ยวก็ยังดี บวกกับส่งออกยังไปได้ อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันก็ถือว่าไม่ได้สูงจนกระทบเศรษฐกิจหรือกระทบความสามารถการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน”

อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ไม่ได้กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจ คาดปีนี้จีดีพีโต 3-4% และบริษัทจดทะเบียนยังสามารถทำกำไรได้ เนื่องจากกว่าปีที่ผ่านมา ไทยขึ้นดอกเบี้ยไม่มากเท่ากับประเทศอื่นๆ ที่ขึ้นมามาก เช่น สหรัฐฯ ขึ้นมา 5 เท่า ขณะที่ไทย 2 เท่ากว่าๆ เนื่องจากไทยไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยมาเพื่อจัดการเงินเฟ้อ 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงนี้ที่ติดลบมาต่อเนื่อง 3 เดือน ในเดือนธ.ค.ปี 66 ติดลบ 0.83% ถ้าไปดูในรายละเอียดจะพบว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง ปัจจุบันอยู่ที่ 72 ดอลลาร์/บาร์เรลต่ำในรอบหลายปี 

ขณะที่เศรษฐกิจจีนไม่ค่อยดีและมีเงินเฟ้อติดลบและดัชนีราคาผู้ผลิต(PPI) จีนติดลบ 5% ทำให้สินค้าจีนไม่มีที่ขาย สินค้าจีนเลยเข้ามาขายในประเทศไทยมากขึ้นและขายในราคาที่ต่ำลง แถมเงินหยวนยังอ่อนค่าลงด้วย สินค้าจีนที่ส่งออกมาขายในตลาดโลกจึงถูกลง 10-15%  ส่งผลให้ราคาสินค้าไทยปรับขึ้นไม่มาก เป็นอีกความท้าทายของผู้ประกอบการไทยที่ต้องต่อสู้และขึ้นราคาไม่ได้

แต่ภาพเงินเฟ้อทั่วไปไทยที่ติดลบไม่ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่แย่นัก เพราะเศรษฐกิจปี 66 จากคาดการณ์สภาพัฒน์ฯ และธปท.คาดจะโตที่ 2.8% และในปี 67 ยังมองว่าน่าจะยังเติบโตได้ในระดับ 3-4% เพราะฉะนั้น อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบไม่ได้สะท้อนกำลังซื้อที่ลดลง  

อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อพื้นฐานของไทยยังทรงๆ และบวกอ่อนๆ เดือนธ.ค.เพิ่มขึ้น 0.58% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 2.5% ก็ไม่น่าใช่ปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไปต่อไม่ได้ และเชื่อว่าจะไม่ได้กระทบกับความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน(บจ.) คาดบจ.ยังน่าจะทำกำไรเป็นบวกได้ในปี 67 นี้ 

InnovestX คาดการณ์กำไรกลุ่มธนาคารปี 2023 กว่า 2 แสนล้านบาท

785490

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT