Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ทำความเข้าใจ G-Token ดีอย่างไรต่อไทย จำเป็นไหมที่ต้องอยู่บนบล็อกเชน?
โดย : นเรศ เหล่าพรรณราย

ทำความเข้าใจ G-Token ดีอย่างไรต่อไทย จำเป็นไหมที่ต้องอยู่บนบล็อกเชน?

17 พ.ค. 68
06:00 น.
แชร์

กระทรวงการคลังได้แถลงเปิดตัว “Government Token” หรือ “G-Token” วงเงินเสนอขายเบื้องต้นราว 5,000 ล้านบาท การที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ทำให้ยังเกิดความสับสนค่อนข้างมาก

ทำความเข้าใจง่ายๆปกติกระทรวงการคลังจะมีการเสนอขายตราสารหนี้ในรูปแบบต่างๆเช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ เพื่อระดมเงินจากประชาชนมาใช้ในกิจการต่างๆเช่นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือลงในงบประมาณต่างๆโดยมีการจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ยที่ชัดเจน โดยดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548

G-Token จึงเป็นตราสารหนี้รูปแบบหนึ่งที่อยู่ในรูปแบบของโทเคนดิจิทัลภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561จึงเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการถือครองจากที่เคยถือผ่านเอกสารสัญญาหรือกองทุนรวมมาอยู่ในรูปแบบโทเคนดิจิทัล

ทั้งนี้แม้จะมีชื่อว่าเป็นโทเคนดิจิทัล แต่ G-Token ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) หรือบิทคอยน์ เนื่องจาก พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ได้ระบุว่าสินทรัพย์การเงินใดๆที่ทำงานบนบล็อกเชนมีสถานะการเป็นโทเคนดิจิทัล

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีโทเคนดิจิทัลซึ่งมีสินทรัพย์การเงินหนุนหลังอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น Siri Hub Token,RealX Token,Summer Point Token ซึ่งมีความเป็น Investment Token ที่มีโครงการอสังหาริมทรัพย์หนุนหลัง ส่วน Destiniy Token (ใช้ระดมทุนในโปรเจกต์ภาพยนต์บุพเพสันนิวาส) มีความเป็น Debt Token หรือตราสารหนี้โดยระบุผลตอบแทนรายปีชัดเจนและโทเคนไม่มีการซื้อขายในกระดานเทรด

จากข้อมูลเบื้องต้น ผู้ถือ G-Token ก็จะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย โดยภาครัฐหลังจากได้เงินระดมทุนไปก็จะนำไปใช้เป็นงบประมาณพัฒนาประเทศและนำผลตอบแทนมาจ่ายให้กับผู้ถือโทเคนในรูปแบบเงินบาทปกติ (อ้างอิงจากวิธีการจ่ายผลตอบแทนของ Investment Token ในปัจจุบัน)

แม้ว่าจะถูกระบุให้มีการซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) แต่ราคาโทเคนจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เหมือนกับการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองทั่วไป

คำถามคือทำไมต้องสร้าง G-Token ขึ้นมา??

ในแง่มุมด้านการเงินการคลัง (รวมถึงการเมือง) ผู้เขียนไม่ขอแสดงความคิดเห็น โดยจะขอให้มุมมองในด้านเทคโนโลยีเท่านั้น

การระดมทุนตราสารหนี้ผ่านบล็อกเชน มีประโยชน์ในสองแง่มุม ด้านแรกจะเป็นการทำให้ผู้ลงทุนที่มีเงินไม่มากสามารถที่จะเข้าถึงได้ เนื่องจากตราสารหนี้ภาครัฐปกติจะต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นหลักแสนบาทหรือถ้าจะลงทุนผ่านกองทุนตลาดเงินก็จะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม แต่ถ้ามีการซื้อขายผ่านบล็อกเชนซึ่งมีการทำงานแบบกระจายหน่วย (Fractional) ทำให้สามารถใช้เงินจำนวนน้อยก็สามารถที่จะลงทุนได้เป็นการกระจายโอกาสให้กับผู้ที่มีเงินน้อย

ขณะที่ประโยชน์อีกด้านคือการใช้บล็อกเชนเป็นโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานและการทำธุรกรรมลงเมื่อเทียบกับระบบในปัจจุบันซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสถาบันการเงินได้ ตลอดจนโอกาสที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเงินดิจิทัลและเสริมสร้างนวัตรกรรมใหม่ขึ้นมา

หลายประเทศทั่วโลกได้เริ่มต้นการซื้อขายตราสารหนี้ตลอดจนพัฒนาระบบการชำระเงินบนบล็อกเชนมาอย่างต่อเนื่อง ธนาคารขนาดใหญ่ได้เริ่มทดลองทำธุรกรรมโอนเงินผ่านบล็อกเชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯที่กำลังผลักดันการใช้งาน Stablecoin รวมถึงการ Tokenize ตราสารและสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆมาอยู่บนบล็อกเชน ถือเป็นเทรนด์หลักของโลกการเงินที่กำลังจะเกิดขึ้น

ถามว่าจำเป็นไหมที่ต้องอยู่บนบล็อกเชนหรือโทเคนดิจิทัล?

คำตอบคือไม่จำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนทั้งระบบ แต่ถ้ามีการพัฒนาขึ้นเป็นระบบการเงินทางเลือกใหม่ก็ถือว่าประเทศไทยมีทางเลือกที่จะดำเนินตามแนวทางของกระแสโลกได้

ทั้งนี้รัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพในการออกนโยบายและวางโครงสร้างพื้นฐานระบบการเงินดิจิทัลและเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนและพัฒนาต่อเพื่อส่งเสริมการลงทุนและสร้างนวัตรกรรมใหม่ โดยรัฐไม่จำเป็นต้องลงทุนเองทั้งหมดแต่ต้องวางโครงสร้างที่เอื้อต่อภาคเอกชนมีความมั่นใจที่จะลงทุนด้วย

หมายเหตุ : บทความนี้มีความตั้งใจที่จะให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของโทเคนดิจิทัลด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้ถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นทั้งในมุมมองส่วนตัวรวมถึงตำแหน่งหน้าที่ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวนี้แต่อย่างไร  

นเรศ เหล่าพรรณราย

นเรศ เหล่าพรรณราย

ประธานเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการ บริษัท เมตาที จำกัด และ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย

แชร์
ทำความเข้าใจ G-Token ดีอย่างไรต่อไทย จำเป็นไหมที่ต้องอยู่บนบล็อกเชน?