ประเทศไทยเตรียมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการการเงินโลก ด้วยการเป็น “ประเทศแรก” ที่ออก “โทเคนดิจิทัลภาครัฐ” หรือ G-Token เพื่อระดมทุนแทนพันธบัตรรัฐบาลแบบเดิม หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินผ่านการออกสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ภายใต้ชื่อโครงการ Thailand Digital Token โดยจะนำร่องวงเงิน 5,000 ล้านบาทในระยะแรก เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการลงทุนของรัฐได้ง่ายขึ้น
G-Token เป็นโทเคนดิจิทัลที่รัฐบาลไทยออกเพื่อใช้ระดมทุนในลักษณะเดียวกับพันธบัตรออมทรัพย์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการชดเชยการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล เหมือนกับพันธบัตรแบบเดิม แต่แตกต่างตรงที่ G-Token จะซื้อ-ขายผ่านระบบดิจิทัล โดยไม่ต้องใช้สมุดพันธบัตรหรือเอกสารกระดาษ
ตามข้อมูลจากกระทรวงการคลัง การออก G-Token ไม่ใช่การกู้เงินใหม่ และไม่ใช่สกุลเงินดิจิทัลแบบคริปโทเคอร์เรนซี แต่เป็น “โทเคนเพื่อการลงทุน” ที่ผูกกับวงเงินการออกพันธบัตรของรัฐในแต่ละปี ซึ่งมีการดำเนินการอยู่แล้ว เพียงเปลี่ยนวิธีการเสนอขายให้ทันสมัยและเข้าถึงง่ายขึ้น
G-Token เป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ใกล้เคียงกับพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐ โดยเบื้องต้นกำหนดให้เป็นการลงทุนระยะสั้น อายุ 1-3 ปี และมีจุดเด่นสำคัญคือ “ลงทุนเริ่มต้นต่ำมาก” หลักสิบบาทก็สามารถเริ่มลงทุนได้ ต่างจากพันธบัตรแบบเดิมที่มักเริ่มต้นหลักพันบาทขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงก็มี เช่น ความไม่แน่นอนของระบบดิจิทัลใหม่ ๆ หรือความผันผวนของราคาหากซื้อขายในตลาดรอง จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการออมเงินในระยะสั้นถึงกลาง และยอมรับความเสี่ยงทางเทคโนโลยีได้บ้าง
G-Token จะสามารถซื้อผ่าน ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งอาจจะต้องรอการประกาศช่องทางการซื้อขาย อย่างเป็นทางการอีกครั้ง
แต่จากข้อมูลในเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. พบว่า ปัจจุบันมีศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ 9 ราย ดังนี้
1.บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด
2.บริษัท วาฬ เอ็กเชนจ์ จำกัด
3.บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด
4.บริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด
5.บริษัท หลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด
6.บริษัท จีเอ็มโอ-แซด.คอม คริปโทนอมิคซ์ (ประเทศไทย) จำกัด
7.บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด
8.บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด
9.บริษัท ออร์บิกซ์ เทรด จำกัด
ทั้งนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างวางโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะสามารถเปิดจำหน่าย G-Token แก่ประชาชนได้ภายใน 2–3 เดือนข้างหน้า
สรุปได้ว่า G-Token ถือเป็นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ของภาครัฐ ที่ผสมผสานความมั่นคงของพันธบัตรเข้ากับความยืดหยุ่นของเทคโนโลยีดิจิทัล เหมาะสำหรับผู้ที่มองหาการลงทุนปลอดภัยในวงเงินเริ่มต้นต่ำ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ และผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการออมอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ต้องรอติดตามรายละเอียดฉบับเต็มในช่วงเปิดตัว เพราะแม้จะเป็นโอกาสที่ดี แต่ก็ต้องอาศัยความเข้าใจในระบบสินทรัพย์ดิจิทัลพอสมควร
ประเทศไทยอาจเป็นประเทศแรกของโลกที่ทดลองแนวทางนี้ และถ้าประสบความสำเร็จ G-Token อาจกลายเป็นต้นแบบของ “การลงทุนภาครัฐยุคใหม่”