ในวันที่เศรษฐกิจโลกเต็มไปด้วยแรงเสียดทานจากสงครามการค้า บริษัทขนาดใหญ่ของไทยอย่าง SCG ยังต้องตั้งวอร์รูมรับมือกับความไม่แน่นอนที่คืบคลานเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะแม้จะมีกำไรในไตรมาส 1 ปี 2568 อยู่ที่ 1,099 ล้านบาท แต่ความเสี่ยงในช่วงครึ่งหลังของปีก็ยังรออยู่ตรงหน้า
หัวเรือใหญ่อย่างคุณ ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ SCG เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะเผชิญแรงกดดันจากการที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศ และอาจกระทบไทยด้วยอัตราภาษีสูงถึง 36% หากการเจรจาไม่คืบหน้า แต่สถานะของ SCG ยังแข็งแกร่ง โดยไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทมี EBITDA รวมกว่า 12,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าในหลายธุรกิจ พร้อมโชว์แผนรับมือสงครามการค้าด้วยการตั้งวอร์รูมคอยติดตามและปรับแก้ไขตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและยกระดับการปรับตัวให้เข้มข้นรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ด้วย 4 กลยุทธ์สำคัญ
1. ลดต้นทุน แข่งกับผู้ผลิตระดับโลก SCG เร่งลดต้นทุนการผลิตและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และ AI เข้ามาช่วย เช่น ระบบ Predictive Maintenance ตรวจจับความผิดปกติของเครื่องจักรล่วงหน้า หรือ Robotic Automation ที่ใช้ในสายการผลิตสุขภัณฑ์และบ้านสำเร็จรูป เพื่อเพิ่มความแม่นยำ ลดขั้นตอน และลดต้นทุนพลังงานด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และชีวมวลมากขึ้น ซึ่งตอนนี้สามารถใช้พลังงานทางเลือกในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ในไทยได้ถึง 44%
นอกจากนี้การปรับลดเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้สามารถลดหนี้สินสุทธิลงเหลือ 290,504 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2568 และเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ
2. ขยายพอร์ตสินค้าให้รองรับตลาดทุกระดับ SCG เดินหน้าพัฒนาทั้งสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง (HVA), สินค้ากรีน และสินค้าคุณภาพราคาจับต้องได้ เช่น ปูนคาร์บอนต่ำ กระเบื้องดิจิทัล UV Coating หลังคาเซรามิก SCG และท่อ PVC สำหรับภาคเกษตรกรรม เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม ท่ามกลางภาวะต้นทุนสูงและการแข่งขันที่รุนแรง
3. บุกตลาดใหม่ ศักยภาพสูง SCG ใช้เครือข่ายธุรกิจทั่วโลกในการขยายตลาด เช่น ส่งออกกระดาษบรรจุภัณฑ์และปูนซีเมนต์ไปยังตลาดใหม่ที่ยังมีกำลังซื้อสูง หรือประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้า โดยเลือกตลาดที่ไม่ถูกสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีสูงเพื่อลดความเสี่ยง
4. ใช้ฐานการผลิตอาเซียนให้ได้เปรียบ SCG มีฐานการผลิตในหลายประเทศอาเซียน ทั้งไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทำให้สามารถโยกย้ายการผลิตไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดได้อย่างยืดหยุ่น เช่น หากไทยถูกขึ้นภาษีมาก ก็สามารถส่งออกจากเวียดนามหรืออินโดนีเซียแทน
คุณธรรมศักดิ์ ระบุว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ SCG ทางตรงอาจไม่มากนักเพราะสินค้าของ SCG ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯเพียงแค่1 % แต่ผลกระทบทางอ้อมค่อนข้างรุนแรง หากหลังจาก 90 วันของการชะลอภาษีจบลง และการเจรจาการระหว่างไทยและสหรัฐฯไม่คืบหน้าหากไทยต้องเผชิญกับภาษี 36% จริงและสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากจะทำให้สินค้าส่งออกไทยแข่งขันยากขึ้น ยังอาจเกิดผลกระทบทั้งสินค้าจากประเทศที่ไม่โดนภาษีทะลักเข้ามาในตลาดไทย และเศรษฐกิจอาเซียนที่ซบเซาลงล้วนส่งผลกระทบต่อ SCG โดยคาดว่าไตรมาส 1 และ 2 จะยังเติบโตได้ แต่ไตรมาส 3 และ 4 คือช่วงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามยังคงเป้าหมายรายได้ปี 2568 เติบโต 5% และยังไม่ปรับเป้าหมายเพราะสถานการณ์ปัจจุบันยังถือว่าฝุ่นยังตลบอยู่
คุณธรรมศักดิ์ ระบุว่า SCG ได้มีการนำเสนอข้อมูลรอบด้านของกลุ่มธุรกิจ SCG ทั้งทางตรงไปยังรัฐบาลและผ่านทางสภาอุตสหากรรม
“เราไม่อยากเห็นหลัง 90 วันไปแล้ว เราโดนภาษี 36% แต่เพื่อนบ้านภาษีต่ำกว่านั้น การประสานการเจรจา ระหว่างรัฐกับเอกชนสำคัญมาก อยากให้ระดับประเทศตั้งวอร์รูมขึ้นมา ประเทศเล็กอย่างเราต้องปรับตัวให้ไว”
อย่างไรก็ตามแม้ว่า สงครามการค้าได้สร้างแรงกดดันทั่วโลก แต่ยังมีโอกาสที่ซ่อนอยู่ เช่น แนวโน้มราคาน้ำมันโลกที่ลดลงผู้ผลิตปิโตรเคมีในจีนประสบปัญหาการจัดหาวัตถุดิบจากสหรัฐฯ ตลอดจนบางตลาดยังมีกำลังซื้อสูงสำหรับสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง (High-Value Added Products - HVA Products) สินค้ากรีน (Green Products) และสินค้าคุณภาพ ราคาจับต้องได้ (Quality Affordable Products) เหล่านี้จะถือเป็นโอกาสของธุรกิจของ SCG
สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ไม่มีสายป่านยาวหรือเครื่องมือรองรับความเสี่ยงแบบบริษัทใหญ่ กลุ่มนี้คือผู้ที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดหากต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้นหรือการแข่งขันรุนแรงขึ้นจากสินค้าต่างชาติทะลักเข้ามา
SCG ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรม จึงไม่เพียงแต่ตั้งรับเพื่อตัวเอง แต่ยังยื่นมือช่วยเหลือ SMEs ด้วยโครงการ ‘Go Together’ และ ‘NZAP’ ที่เปิดบ้านให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมเรียนรู้ พัฒนา และปรับตัวไปพร้อมกัน เพราะในศึกเศรษฐกิจที่ไม่มีใครคาดเดาได้ล่วงหน้า สิ่งสำคัญคือการรวมพลัง เพื่อให้ธุรกิจไทยทุกระดับเดินหน้าไปด้วยกันอย่างมั่นคง
SCG และบริษัทย่อย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 แสดงผลการดำเนินงานจำแนกตามกลุ่มธุรกิจหลักในช่วงไตรมาส 1 ปี 2568 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดูรายการสำคัญ ได้แก่ รายได้จากการขาย, EBITDA, และ กำไร (ขาดทุน)
แม้รายได้จะทรงตัวแต่กำไรสุทธิหดตัวอย่างชัดเจนกว่า 1,300 ล้านบาท สะท้อนว่าต้นทุนและแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกเริ่มกดดันผลประกอบการมากขึ้น
ธุรกิจปิโตรเคมีเจ็บหนักที่สุด ขาดทุนเพิ่มขึ้นกว่า 1 พันล้านบาท แม้ EBITDA จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว
SCG ยังมีกระแสเงินสดแข็งแรง กำไรไตรมาสนี้ไม่เลวร้าย แต่ภาพรวมสะท้อนสัญญาณเตือน กำไรลด, ธุรกิจเคมิคอลส์ยังแบกรับภาระหนัก สงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวยังเป็นพายุลูกใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า…ที่จริงแล้วไม่ใช่แค่ SCG แต่ยังรวมถึงทุกธุรกิจในไทยอีกด้วย
ที่มาข้อมูล: SCG