ข่าวเศรษฐกิจ

แบกดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทไหวมั้ย? หลังกองทุนน้ำมันติดลบเกือบแสนล้านบาท

29 ก.พ. 67
แบกดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทไหวมั้ย? หลังกองทุนน้ำมันติดลบเกือบแสนล้านบาท

ตอนนี้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังกำลังหาทางออกกับปัญหาราคาน้ำมันดีเซลหลังตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรมานาน และมาตการตรึงราคาดีเซลจะหมดอายุสิ้นเดือนมีนาคมนี้จนกลัวกันว่า สุดท้ายราคาดีเซลจะกลับไปแพงทะลุ 30 บาท และจะขึ้นไปสูงถึง 32 บาทต่อลิตรหรือไม่ ? 

ถ้าเราไปตรวจสอบราคาน้ำมันหน้าปั้ม ณ วันนี้ 29 ก.พ.2567 ก็จะพบว่า ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ เพิ่งจะปรับขึ้นไป 40 สตางค์ต่อลิตร ส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ 95 ไปแตะที่ 38.45 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาดีเซล ยังคงอยู่ที่เดิม คือ 29.94 บาทต่อลิตร ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการตรึงราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในยุคค่าครองชีพสูง 

วิธีการตรึงราคาดีเซลไว้ให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร  รัฐบาลใช้ 2 วิธี คือ1.ไปนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนราคาดีเซลเฉลี่ยถึง 4.35 บาท/ลิตร แต่ปรากฏว่า มาตรการนี้กำลังจะหมดอายุในวันที่ 31 มีนาคม 2567 ดังนั้นเหลือเวลาอีก 1 เดือน ที่รัฐบาลจะต้องรีบตัดสินใจว่า จะใช้เงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนต่ออีกหรือไม่ 

เพราะ สถานะของกองทุนน้ำมันปัจจุบันติดลบสูงถึง 91,887 ล้านบาท เป็นผลมาจากการเอาเงินไปอุดหนุนราคาน้ำมัน และก๊าซหุงต้ม โดยแยกเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 45,222 ล้านบาท บัญชีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ติดลบ 46,665 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนถึง 2,005 ล้านบาท

 สถานะเงินกองทุนน้ำมัน

 

กับวิธีที่ 2. การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 1 บาท เป็นเวลา 3 เดือนซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 17 เมษายน 2567 การลดภาษีสรรพสามิตก็ทำให้รัฐก็ต้องสูญเสียรายได้จากภาษีที่ลดลง ราว 6 พันล้านบาท  ดังนั้นไม่ว่าจะเลือกใช้แนวทางใดระหว่าง 1 หรือ 2  ก็ดูจะมีผลกระทบทั้งสิ้นแต่ถ้าหากยิ่งไม่ใช้เครื่องมือเหล่านี้เลย ราคาน้ำมัน ดีเซลมีโอกาสทะลุ 30 บาทต่อลิตรแน่นอน และจะทำให้ประชาชนมีภาระค่าครองชีพที่สูงในยุคที่เศรษฐกิจไม่สู้ดีแบบนี้ 

โครงสร้างราคาน้ำมัน

จับตาโอเปก ขยายเวลาลดกำลังการผลิตดันราคาน้ำมันขึ้น 

ขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก จากต้นปีราคาน้ำมันปรับลดลงในช่วงต้นเดือน กุมภาพัน์ และ กลับมาขยับขึ้นอีกครั้งตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ข้อมูลจากไทยออยล์ ณ 28 ก.พ.2567 พบว่า  ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์พุ่งสูงกว่า 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มตึงตัว หลังตลาดคาดกลุ่ม OPEC+ กำลังพิจาณาเพื่อขยายกรอบเวลาในการลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจกว่า 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่อไปจนถึงเดือน มิ.ย. 67 และอาจขยายไปจนถึงสิ้นปี หากราคาน้ำมันดิบเบรนท์ยังต่ำกว่า 85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่อุปสงค์จากจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากการเดินทางที่เพิ่มสูงในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา

ราคาน้ำมันยังได้รับแรงหนุนจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง จากการโจมตีเรือขนส่งระหว่างประเทศโดยกลุ่มกบฎฮูตี ยังคงเป็นปัจจัยผลักดันให้ต้นทุนการขนส่งเชื้อเพลิงสูงขึ้น อย่างไรก็ดี วานนี้ (27 ก.พ. 67) ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวว่า ในการเจรจาไกล่เกลี่ยในกรุงปารีสเมื่อสัปดาห์ก่อน อิสราเอลพร้อมที่จะหยุดการโจมตีฉนวนกาซาในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม โดยอาจสามารถลงนามสงบศึกได้ในต้นสัปดาห์หน้าขณะที่ ตัวแทนฮูตีกล่าวว่า พวกเขาจะหยุดการโจมตีในทะเลแดงก็ต่อเมื่อการรุกรานของอิสราเอลในฉนวนกาซาสิ้นสุดลงเท่านั้น

 ที่มา : สนพ.,ไทยออยล์ 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT