ข่าวเศรษฐกิจ

รู้จัก ‘ภาคธนาคารเงา’ ธุรกิจระดมทุนปล่อยกู้ไร้ผู้กำกับดูแล ที่ทำให้ศก.จีนสะเทือน

29 พ.ย. 66
รู้จัก ‘ภาคธนาคารเงา’  ธุรกิจระดมทุนปล่อยกู้ไร้ผู้กำกับดูแล ที่ทำให้ศก.จีนสะเทือน

หากใครติดตามข่าวเศรษฐกิจจีนอยู่ในตอนนี้ กรณีที่หลายๆ คนจับตามองคงหนีไม่พ้นกรณี จงจื่อ เอนเตอร์ไพรซ์ ธุรกิจการเงินใหญ่ของจีนที่ออกมาประกาศว่าตัวเองมีหนี้สินล้นพ้นจนเสี่ยงล้มละลาย และกำลังเจอการสืบสวนสอบสวนการกระทำผิดจากรัฐว่าการนำเงินนักลงทุนที่ระดมได้ไปดำเนินการใดๆ ที่ผิดกฎหมาย หรือเกิดความเสี่ยงหรือไม่

จากการคาดการณ์ของบลูมเบิร์ก นักกฎหมาย และนักวิเคราะห์ การล้มละลายของจงจื่อในครั้งนี้จะสร้างความเสียหายถึง 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และนักลงทุนอาจได้เงินที่ลงทุนกับจงจื่อคืนมาเพียง 13% ของเงินที่ลงทุนไปเท่านั้น

กรณีนี้เรียกให้คนหันมาสนใจ ‘ภาคส่วนธนาคารเงา’ ซึ่งเป็นภาคส่วนการเงินที่สำคัญในประเทศจีนกันอีกครั้ง เพราะแม้จะเป็นกิจกรรมการเงินที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนเรา หลายๆ คนก็อาจจะยังไม่รู้ว่าธุุรกิจการเงินในภาคส่วนนี้คืออะไร ทำงานอย่างไร และแตกต่างกับการทำงานของธนาคารพาณิชย์ทั่วไปอย่างไร

ในบทความ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จัก ‘ธนาคารเงา’ กันว่าคืออะไร มีบทบาทอย่างไรในระบบการเงิน และมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ทำไมจึงพัฒนาขึ้นมาเป็นภาคการเงินที่มีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แบบในปัจจุบันได้

 

ธุรกิจคล้ายธนาคารที่ไม่อยู่ใต้การกำกับดูแล

คำว่า ‘ธนาคารเงา’ หรือ Shadow Banking เป็นคำที่ถูกใช้ครั้งแรกโดย Paul McCulley ในปี 2007 ขณะเขากล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมการเงินประจำปีที่ Jackson Hole ของธนาคารกลางสหรัฐ หมายถึง ‘หน่วยงานที่ไม่ใช่ธนาคารที่ทำธุรกิจคล้ายธนาคาร คือระดมทุนจากนักลงทุนมาแล้วนำมาปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ต้องการเงินทุน และต้องมีการบริหารจัดการระยะเวลาครบกำหนด (Maturity Transformation) ระหว่างสินทรัพย์ (สินเชื่อและหนี้สิน) และหนี้สิน (เงินลงทุน) คล้ายกับธนาคาร

โดยแม้จะขึ้นชื่อว่า ‘ธนาคาร’ สถาบันการเงินหรือหน่วยงานที่ทำธุรกิจในภาคส่วนธนาคารเงานั้นตามกฎหมาย ไม่ใช่ ‘ธนาคาร’ ทำให้สถาบันการเงินเหล่านี้ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ เช่น ธนาคารกลาง และไม่ต้องทำตามกฎที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปต้องทำ เช่น การตั้งเงินสำรองตามกฎหมาย (Reserve requirement) และการกันสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (Loan loss provision)

ในปัจจุบันสถาบันการเงินที่ทำธุรกิจลักษณะนี้ได้ก็มีหลายประเภทด้วยกัน ยกตัวอย่าง เช่น

  • วาณิชธนกิจ หรือ Investment Banking เช่น JPMorgan Chase, Goldman Sachs, Morgan Stanley และ Citigroup ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินให้กับภาคธุรกิจ และสามารถออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ออกมาระดมทุนได้
  • กองทุนรวม กองทุนทรัสต์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ทำหน้าที่รวบรวมเงินทุนจากผู้ลงทุนรายย่อยไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ
  • บริษัทประกัน ที่ทำหน้าที่รวบรวมเงินทุนจากผู้เอาประกันภัยไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์
  • บริษัทให้บริการกู้ยืมเงินแบบ Peer-to-Peer Lending ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างนักลงทุนรายย่อยที่อยากให้กู้ยืมเงินเพื่อกินดอกเบี้ย กับผู้ที่ต้องการเงิน

ดังนั้น ธนาคารเงาจึงมีบทบาทสำคัญต่อระบบการเงิน และมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพราะ

  1. เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจที่ยังขาดโอกาสเมื่อต้องพึ่งพาสินเชื่อจากธนาคารในระบบ และช่วยระดมเงินทุนไปยังภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตแต่อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารในระบบอย่างเพียงพอ
  2. เป็นการสร้างทางเลือกให้แก่นักลงทุนและผู้ประกอบการได้เลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความหลากหลายมากขึ้น และให้ผลตอบแทนมากขึ้น เพราะผลิตภัณฑ์การเงินจากภาคส่วนนี้มักจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากปกติ ทำให้แทนที่จะนำเงินไปฝากในธนาคารพาณิชย์ นักลงทุนจะเลือกเอาเองเงินมาลงทุนกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้แทน

 

ความเสี่ยงของธนาคารเงา เสียแล้วเสียเลยไม่มีประกัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินของโลก ธนาคารเงาก็มีความเสี่ยงสูงเพราะไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมาย ทำให้นักลงทุนจะไม่ได้รับการคุ้มครองเงินลงทุนและเงินฝากตามกฎหมายไปด้วย และถ้าหากสูญเสียไปแล้วก็จะเสียไปเลยโดยไม่มีการได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากรัฐบาล

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของภาคธนาคารเงาแม้จะให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความซับซ้อน เพราะบางประเภทเกิดจากการเอาสินทรัพย์และสินเชื่อมาแปลงเป็นหลักทรัพย์ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน และเชื่อมโยงกับสินทรัพย์ของธนาคารเงาแห่งอื่นอีกหลายทอด  ทำให้เสี่ยงทำให้ภาคธนาคารเงาเกิดแรงจูงใจในการทำธุรกรรมที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม (Moral hazard) ส่งผลให้ภาคการเงินที่มีภาคธนาคารเงาขนาดใหญ่เกิดความเปราะบางเพิ่มขึ้น 

โดยถ้าจะให้ยกตัวอย่างความเสี่ยงของภาคธนาคารเงา กรณีตัวอย่างก็คงหนีไม่พ้นกรณีวิกฤตซับไพรม์ปี 2008 ของสหรัฐฯ 

ในช่วงปี 2000s ภาคธนาคารเงาเข้ามาอยู่ในความสนใจของนักเศรษฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์ทั่วโลก เพราะหนึ่งในผลิตภัณฑ์การเงินที่ได้รับความนิยมในขณะนั้นก็คือ ตราสารที่มีหนี้เป็นหลักประกัน หรือ Collateralized Debt Obligation (CDO) โดยเฉพาะตราสารที่มีหนี้กู้ซื้อบ้านเป็นหลักประกัน (mortgage-backed security) ซึ่งเกิดจากการ ‘securitize’ หรือเปลี่ยนหนี้กู้ซื้อบ้านเป็นสินทรัพย์ขายให้แก่นักลงทุน ซึ่งจะได้ดอกเบี้ยจากการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยของผู้ซื้อบ้าน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเก็งกำไรจนราคาบ้านพุ่งสูงขึ้นเป็นฟองสบู่ และมีการปล่อยสินเชื่อกู้ซื้อบ้านอย่างไม่มีความรับผิดชอบของสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อฟองสบู่ราคาแตกจนราคาบ้านที่อยู่อาศัยตกต่ำลง CDO ที่มีอสังหาฯ ค้ำอยู่ก็ร่วงลงมาด้วย เพราะคนกู้สินเชื่อเหล่านี้ขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถนำเงินมาจ่ายทั้งต้นทั้งดอกได้อีกต่อไป 

นี่ทำให้การลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินนี้มีความเสี่ยงสูง เพราะความสามารถของการจ่ายผลตอบแทนของหลักทรัพย์เหล่านี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจ่ายหนี้ของลูกหนี้ และความสามารถในการทำรายได้ของสินทรัพย์ที่ถูกนำมาแปลงเป็นหลักทรัพย์ทั้งหมด

 

ธนาคารเงา ภาคส่วนที่กำลังสั่นสะเทือนศก. จีน

ประเทศจีนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ภาคส่วนธนาคารเงาเข้าไปมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะว่าธนาคารใหญ่ในประเทศเป็นธนาคารของรัฐที่มักจะเลือกปล่อยสินเชื่อให้กับหน่วยงานของรัฐ หรือธุรกิจขนาดใหญ่ที่รัฐให้การสนับสนุนมากกว่า ถึงแม้ว่าธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางหรือ SMEs จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญเช่นเดียวกัน

โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารใหญ่ที่น้อย ทำให้ธุรกิจธนาคารเงาเฟื่องฟูและกลายมาเป็นแหล่งระดมทุนหลักของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางในจีน ไม่ว่าจะเป็นผ่านการให้กู้ยืมเงินระหว่างรายย่อยอย่าง peer-to-peer lending, การระดมทุนแบบ crowdfunding ผ่านระบบการเงินออนไลน์, และการนำสินทรัพย์มาแปลงเป็นหลักทรัพย์ หรือผลิตภัณฑ์บริหารจัดการความมั่งคั่งต่างๆ (Wealth Management Products)

และหนึ่งในบริษัทที่เลือกใช้บริการธนาคารเงาก็คือ ‘ภาคอสังหาริมทรัพย์’ ของจีนที่กำลังประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนักในปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะรัฐบาลได้เข้ามาควบคุมระดับการก่อหนี้ของบริษัทในภาคอสังหาฯ เพราะบริษัทเหล่านี้ได้ไปกู้เงินจากธนาคารเงา ซึ่งดันให้ราคาที่ดินและราคาบ้านสูงขึ้นจนรัฐบาลมองว่าทำให้เกิดการเก็งกำไร และไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่อยากให้ที่อยู่อาศัยเข้าถึงได้สำหรับประชาชน

จากความเชื่อมโยงที่เหนียวแน่นระหว่างภาคอสังหาฯ กับภาคธนาคารเงานี้ ทำให้มีผู้กังวลว่าปัญหาในภาคอสังหาจะลุกลามออกมาเป็นปัญหาในภาคธนาคารเงาด้วย และถ้าหากภาคธนาคารเงามีปัญหาจริง ปัญหานี้ก็อาจจะกระทบไปถึงธุรกิจในภาคส่วนอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากถาคธนาคารเงาอยู่ไปด้วย

โดยในปัจจุบัน ภาคธนาคารเงาของจีนมีมูลค่ามากถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 104 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าเศรษฐกิจของฝรั่งเศสทั้งประเทศ ทำให้ภาคส่วนธนาคารเงานับว่าเป็นแกนหนึ่งที่กำลังช่วยพยุงเศรษฐกิจของจีนไว้ และถ้าหากล้มลง ก็จะต้องสั่นคลอนเศรษฐกิจของจีนทั้งประเทศไปด้วย

 

อ้างอิง: IMF, Investopedia, HKUST, CNBC

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT