การนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐฯ ชะลอลงในเดือนมีนาคม ขณะที่บริษัทอเมริกันเร่งสั่งสินค้าจากประเทศเอเชียอื่น ๆ ล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลให้ขาดดุลการค้าแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และกลายเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปี
สำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ในหมวดสินค้าเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 11.2% จากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 1.635 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่มีการจัดเก็บข้อมูล โดยได้รับแรงผลักดันจากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ท่าเรือลอสแอนเจลิสรายงานว่า มีการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต (TEU) จำนวน 778,406 หน่วยในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 4.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และนับเป็นไตรมาสแรกที่คึกคักที่สุดในประวัติศาสตร์ 117 ปีของท่าเรือ
นอกจากนี้ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ยังระบุว่า การนำเข้าสินค้าโดยรวมของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5.4% สู่ระดับ 3.468 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ การเร่งนำเข้าสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสแรกหดตัวลง 0.3% ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่ปี 2022
อย่างไรก็ตาม แม้ความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ นำเข้าสินค้ามากขึ้นในภาพรวม ภาษีที่ทรัมป์ยังคงบังคับใช้กับจีนกดดันให้การนำเข้าสินค้าจากจีนลดลง 7% เหลือ 2.94 หมื่นล้านดอลลาร์ และทำให้การขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนลดลง 15% มาอยู่ที่ 1.79 หมื่นล้านดอลลาร์ เนื่องจากภาคธุรกิจชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากจีน หลังทรัมป์ปรับขึ้นภาษีสินค้าจีนทั้งหมดเป็น 20% มีผลตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม
ทั้งนี้ แม้การนำเข้าสินค้าจากจีนจะลดลงชัดเจน แต่บริษัทอเมริกันจำนวนหนึ่งยังคงเร่งสั่งสินค้าล่วงหน้า โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากไม่แน่ใจว่ารัฐบาลทรัมป์จะเดินหน้าเพิ่มภาษีอีกเมื่อใด
แมทธิว มาร์ติน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Oxford Economics กล่าวว่า “ภาษี 20% ที่เริ่มมีผลในเดือนมีนาคมเริ่มส่งผลชัดเจน โดยสัดส่วนการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากจีนลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 25 ปี” พร้อมระบุว่า แม้จะมีข้อยกเว้นบางรายการ แต่อัตราภาษีเฉลี่ยที่สหรัฐฯ เรียกเก็บกับจีนก็พุ่งเกิน 100% ในเดือนเมษายน ซึ่งจะยิ่งลดความสามารถของจีนในการแข่งขันในตลาดอเมริกัน
ในทางกลับกัน เมื่อสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนลดลง ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้กลับได้รับประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดในเดือนมีนาคม
ในเดือนมีนาคม สหรัฐฯ เริ่มบังคับใช้ภาษี 25% กับสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโก แต่สินค้าที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างทั้งสามประเทศ (USMCA) ยังได้รับการยกเว้นบางส่วน ขณะเดียวกันภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมก็มีผลบังคับใช้
ผลจากมาตรการเหล่านี้ ทำให้การนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกมายังสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับเม็กซิโกพุ่งขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ยังเร่งการสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าก่อนที่ทรัมป์จะประกาศนโยบาย “Liberation Day” เมื่อวันที่ 2 เมษายน ซึ่งกำหนดภาษีขั้นต่ำ 10% กับประเทศคู่ค้าทั้งหมด และภาษีตอบโต้พิเศษสูงสุดถึง 84% ทรัมป์ยังกล่าวหาว่าประเทศคู่ค้าเอาเปรียบสหรัฐฯ และต้องการให้ซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น
แม้ในขณะนี้ ภาษีตอบโต้ยังไม่ถูกบังคับใช้จริงในทันที แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ตั้งเส้นตายไว้ที่วันที่ 9 กรกฎาคม ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเข้ามาเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคี
นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้ากำลังทำให้การลงทุนภาคเอกชนชะงักงัน และมีความเป็นไปได้สูงว่าสหรัฐฯ จะลดการค้ากับประเทศในเอเชียในช่วงไตรมาสต่อไป ขณะที่หลายประเทศพยายามเร่งเจรจาข้อตกลงกับรัฐบาลทรัมป์
“การส่งออกของอาเซียนไปยังสหรัฐฯ น่าจะลดระดับลงเมื่อมาตรการภาษีมีผลเต็มที่” ปริยังกา คิชอร์ ผู้ก่อตั้ง Asia Decoded กล่าว “แม้จะมีข้อตกลงการค้า แต่อัตราภาษีขั้นต่ำ 10% และภาษีเฉพาะกลุ่มน่าจะคงอยู่ ซึ่งจะลดความต้องการของผู้บริโภคอเมริกัน หากผู้นำเข้าหรือผู้บริโภคไม่สามารถดูดซับต้นทุนหรือย้ายตลาดไปยังภูมิภาคอื่นได้”
นับตั้งแต่การประกาศเก็บภาษี 20% กับสินค้าจีนในเดือนมีนาคม ทรัมป์ได้ปรับขึ้นภาษีอีกหลายครั้ง จนรวมแล้วแตะระดับ 145% กับสินค้านำเข้าจากเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก
สงครามการค้าระหว่างทรัมป์กับจีนทำให้ระบบโลจิสติกส์ระหว่างสองประเทศปั่นป่วนในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนนับตั้งแต่ยุคโควิด-19 โดยคาดว่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะชะงักลงในไม่ช้า สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่า คำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกและกิจกรรมภาคการผลิตของจีนลดลงในเดือนเมษายน อันเป็นผลจากภาษี 145% ที่เพิ่มแรงกดดันต่อภาคการผลิตของจีน ซึ่งอาจนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานในโรงงานทั่วประเทศ
จีนได้ตอบโต้ด้วยการตั้งภาษี 125% กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ พร้อมทั้งจำกัดการส่งออกแร่สำคัญที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า โดยรัฐบาลจีนยืนยันว่าจะ "ไม่ยอมคุกเข่า" ต่อสหรัฐฯ แต่เปิดช่องสำหรับการเจรจา