Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
จีนล้ำไปอีกขั้น! ใช้ 'LiDAR' สแกนป่านับจำนวนต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว

จีนล้ำไปอีกขั้น! ใช้ 'LiDAR' สแกนป่านับจำนวนต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว

1 พ.ค. 68
06:00 น.
แชร์

ส่องทะลุใบไม้! จีนใช้ LiDAR เทคโนโลยีอัจฉริยะ วัดจำนวนต้นไม้ทั่วประเทศ หวังสร้าง 'กำแพงสีเขียว' ยุคดิจิทัล

นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนได้หันมาใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการทำแผนที่ป่าไม้ของประเทศและนับต้นไม้ โดยนักวิจัยได้ใช้โดรน LiDAR (การตรวจจับแสงและการวัดระยะ) ประเมินว่าประเทศจีนมีต้นไม้อยู่ 142,600 ล้านต้น หรือประมาณ 100 ต้นต่อคน

LiDAR คืออะไร

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า ไลดาร์ (LiDAR) เป็นตัวย่อจากคำว่า “Light detection and ranging” หลักการทำงานคือการส่งแสงเลเซอร์ไปกระทบวัตถุหรือพื้นผิวต่างๆ ซึ่งระหว่างทางระบบจะทำการคำนวณเวลาในการเดินทางของแสงตั้งแต่ถูกปล่อยออกจากอุปกรณ์จนสะท้อนกลับมาที่ตัวรับสัญญาณ เพื่อวัดระยะ

ไลดาร์ประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่สำคัญทั้งหมด 3 อย่าง คือ 1) ระบบ Sensor หรือ การวัดระยะทางด้วยเลเซอร์ 2) ระบบ GPS หรือ ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกเพื่อระบุตำแหน่งและความสูงของเครื่องรับสัญญาณ และ 3) Inertial Measurement Unit (IMU) หรือ เครื่องวัดอาศัยความเฉื่อยที่คอยช่วยในเรื่องการวางตัวของเครื่องบินหรือดาวเทียม โดยทั้ง 3 องค์ประกอบจะทำงานสัมพันธ์กันเพื่อให้ได้มาซึ่งของข้อมูลที่ต้องการ สามารถเก็บข้อมูลได้ตั้งแต่วัตถุขนาดเล็กไปจนถึงสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งพื้นที่ต่างๆ บนผิวโลก ด้วยการสำรวจทางอากาศสำหรับสร้างเป็นแบบจำลองเชิงเลข ทั้ง DEM (Digital Elevation Model) และ DSM (Digital Surface Model)

ส่วนความแตกต่างนั้นหากจะอธิบายให้เข้าใจโดยง่ายก็คือ DEM เป็นแบบจำลองความสูงเชิงเลขแสดงถึงพื้นผิวหรือลักษณะภูมิประเทศของโลกเท่านั้น ส่วน DSM นั้นเป็นแบบจำลองพื้นผิวเชิงเลขที่จะแสดงลักษณะพื้นผิวของสิ่งปกคลุมดินร่วมด้วย เช่น อาคารสิ่งปลูกสร้าง หรือแม้กระทั่งเรือนยอดของต้นไม้

ประเทศจีนใช้ LiDAR นับจำนวนต้นไม้ทั้งประเทศได้อย่างไร

แทนที่จะต้องพึ่งพาการทำงานภาคสนามจำนวนมาก เทคโนโลยี LiDAR ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำแผนที่พื้นที่ขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทีมวิจัยสร้างแผนที่ภูมิประเทศแบบ 3 มิติโดยละเอียด ซึ่งทีมงานรวบรวมจากโดรนมาตั้งแต่ปี 2015 ก่อนจะทำการสแกนพื้นที่ 540 ตารางไมล์ (1,400 ตารางกิโลเมตร) แล้วนำผลไปประมาณหาค่าทั่วประเทศด้วยซอฟต์แวร์ใหม่ชื่อ Lidar360 ที่รวมเข้ากับ AI จากนั้นจึงประมาณค่าความหนาแน่นต้นไม้ทั้งหมด ซึ่งผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Bulletin เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ถือเป็น "การทำแผนที่ความหนาแน่นของต้นไม้ความละเอียดสูงครั้งแรกในประเทศจีน โดยท้ายที่สุดแล้ว การวิจัยครั้งนี้ถือเป็นการสนับสนุนแนวทางของจีนในการจัดการและฟื้นฟูระบบนิเวศทั่วโลกอย่างยั่งยืน"

ผลการคำนวณปรากฏว่า ประเทศจีนมีต้นไม้ประมาณ 142,600 ล้านต้น (หนึ่งแสนสี่หมื่นสองพันหกร้อยล้านต้น) หากนับค่าเฉลี่ยจะเท่ากับ มีต้นไม้ประมาณ 100 ต้นต่อประชากร 1 คนในประเทศ

อย่างไรก็ตาม Qinghua Guo ศาสตราจารย์จากสถาบันการสำรวจระยะไกลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ชี้ว่า ระบบนี้อาจมีปัญหาในการตรวจจับต้นไม้ที่ซ่อนอยู่ใต้ร่มเงาที่หนาแน่น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีป่าไม้หนาแน่นมาก ซึ่งอาจส่งผลให้ประเมินจำนวนต้นไม้ออกมาต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลกับรายงานทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติครั้งที่ 9 ของจีน ซึ่งระบุว่าประเทศจีนมีต้นไม้เฉลี่ยที่ 426 ต้นต่อเอเคอร์ แต่ผลจากการใช้ LiDAR ค่าออกมาต่างกันมากเพราะเฉลี่ยแล้วประเทศจีนมีต้นไม้เฉลี่ยอยู่ที่ 279 ต้นต่อเอเคอร์เท่านั้น ซึ่งจำนวนต้นไม้ที่แท้จริงอาจมากกว่านี้ และจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงกระบวนการนับ

การกำหนดจำนวนและการกระจายตัวของต้นไม้ในประเทศจีนถือเป็นสิ่งสำคัญในการประเมินความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้ของประเทศ ต้นไม้มีบทบาทสำคัญในการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อมูลที่รวบรวมได้จากการศึกษาครั้งนี้ช่วยประเมินปริมาณคาร์บอนที่ถูกกักเก็บในป่าของจีน ซึ่งให้ข้อมูลที่สำคัญสำหรับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก

นอกจากนี้ แผนที่ต้นไม้โดยละเอียดยังให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าสำหรับการจัดการป่าไม้ ข้อมูลดังกล่าวสามารถช่วยระบุพื้นที่ที่ต้องการการปลูกป่าทดแทนหรือการอนุรักษ์ ซึ่งช่วยให้มั่นใจได้ว่าโครงการด้านสิ่งแวดล้อมของจีนมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ภาคเหนือของจีนค่อนข้างมีความแห้งแล้ง ทางการจึงจัดตั้งโครงการ "กำแพงสีเขียว" โดยการปลูกต้นไม้เป็นแนวกว้างเพื่อป้องกันพื้นที่ทางตอนเหนือกลายเป็นทะเลทราย ซึ่งมีการตั้งเป้าว่าภายในปี 2050 พื้นที่ดังกล่าวจะมีต้นไม้มากถึง 100,000 ล้านต้น ส่งผลให้จำนวนต้นไม้ในประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ข้อมูลของการศึกษาวิจัยครั้งใหม่นี้อาจมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมโครงการกำแพงสีเขียวขนาดใหญ่ต่อไป

Advertisement

แชร์
จีนล้ำไปอีกขั้น! ใช้ 'LiDAR' สแกนป่านับจำนวนต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว