เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เขาย้ำชัดว่า เป้าหมายคือการ “ปรับความสัมพันธ์ทางการค้าให้เป็นธรรม” ต่อสหรัฐฯ พร้อมส่งสัญญาณกดดันไปยังประเทศคู่ค้าให้กลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา ภายใต้เงื่อนไขใหม่ที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นหลัก
ในสัปดาห์นี้ เราได้เห็นตัวอย่างแรกของแนวทางดังกล่าวเป็นรูปธรรม เมื่อสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรประกาศข้อตกลงการค้าเบื้องต้น ที่มุ่งลดภาษีนำเข้าสินค้าบางประเภท เช่น เหล็ก รถยนต์ และเอทานอล ข้อตกลงนี้จึงถูกจับตามองว่าอาจเป็นต้นแบบของกลยุทธ์ “ดีลแลกภาษี” ที่ทรัมป์เตรียมนำไปใช้ต่อในการเจรจากับประเทศอื่น ๆ ในช่วงเวลา 90 วันที่เหลือ ก่อนที่การพักการจัดเก็บภาษีรอบใหม่จะสิ้นสุดลงกับกลุ่มประเทศสำคัญ เช่น สหภาพยุโรป เวียดนาม และกัมพูชา
แม้ว่าผู้นำของทั้งสองประเทศจะพยายามสื่อสารว่าข้อตกลงฉบับนี้คือ “ความสำเร็จด้านนโยบายการค้า” แต่ในทางปฏิบัติ รายละเอียดที่เปิดเผยยังมีขอบเขตจำกัดอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อตกลงนี้ยังไม่รวมถึงการยกเลิกภาษีนำเข้าหลักที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อเดือนก่อน เช่น ภาษี 10% สำหรับสินค้าจากสหราชอาณาจักร ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ตามเดิม
นักวิเคราะห์จำนวนมากจึงประเมินว่า การรีบประกาศข้อตกลงโดยเร่งสื่อสารว่าเป็น “ความคืบหน้าครั้งสำคัญ” ทั้งที่เนื้อหาแทบไม่เปลี่ยนแปลงนั้น สะท้อนความพยายามของผู้นำในการลดแรงตึงเครียดทางเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นว่าเวทีการค้าโลกยังเดินหน้าได้ มากกว่าจะเป็นความสำเร็จที่มีผลในทางรูปธรรมแล้วในทันที
ระหว่างพิธีในห้องทำงานรูปไข่ (Oval Office) แม้จะมีการเปิดเผยรายละเอียดบางส่วนของข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักร แต่ยังไม่มีการลงนามอย่างเป็นทางการ ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่า รายละเอียดส่วนใหญ่ของข้อตกลงยังอยู่ระหว่างการจัดทำ และยังไม่ถูกเปิดเผยอย่างครบถ้วน อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าทั้งสองฝ่ายกำลังเร่งสรุปเนื้อหาในขั้นตอนสุดท้าย และทุกอย่างจะแล้วเสร็จภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ทรัมป์กล่าวว่า ข้อตกลงฉบับนี้จะช่วยเปิดตลาดมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สำหรับสินค้าอเมริกัน โดยเฉพาะสินค้าเกษตร พร้อมย้ำว่าสหราชอาณาจักรได้ตกลงที่จะ “ลดหรือยกเลิกอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งก่อนหน้านี้เลือกปฏิบัติต่อสินค้าอเมริกันอย่างไม่เป็นธรรม”
จากคำแถลงของทำเนียบขาว สาระสำคัญของข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรที่เปิดเผยต่อสาธารณะในเบื้องต้น ได้แก่:
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเผยว่า สหรัฐฯ จะเจรจาข้อตกลง “ทางเลือกแทนภาษีตามมาตรา 232” สำหรับเหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งรวมถึงแนวคิดจัดตั้ง “สหภาพการค้าใหม่” สำหรับสองอุตสาหกรรมนี้
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า ประเด็นสำคัญของข้อตกลงนี้อยู่ที่การผ่อนปรนภาษีในบางภาคส่วนเชิงยุทธศาสตร์เท่านั้น โดยเฉพาะภาคยานยนต์และเหล็กกล้า ในขณะที่ “ภาษีฐาน” 10% ยังคงถูกใช้กับสินค้านำเข้าจากอังกฤษส่วนใหญ่ ซึ่งทำเนียบขาวชี้ว่าแลกเปลี่ยนกับ “การเปลี่ยนแปลงบางประการ” จากฝั่งอังกฤษเพื่อเปิดตลาดให้สินค้าเกษตรของสหรัฐฯ เช่น เนื้อวัวและเอทานอล แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม
ขณะที่นายแอนดี้ แอบบอตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Atlantic Container Line แสดงความกังวลว่า “มากกว่าสองในสามของสินค้าที่สหราชอาณาจักรส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยังคงต้องเสียภาษีนำเข้าขั้นพื้นฐานในอัตรา 10% โดยไม่มีข้อยกเว้น” พร้อมเตือนว่า ข้อตกลงนี้อาจนำไปสู่การเร่งขึ้นราคาสินค้านำเข้าจากอังกฤษ เนื่องจากผู้ประกอบการอาจมองว่าการเจรจาได้ข้อยุติแล้ว และไม่น่าจะมีมาตรการผ่อนปรนเพิ่มเติมต่ำกว่า 10% อีกต่อไป จึงมีแนวโน้มที่จะผลักภาระต้นทุนไปยังผู้บริโภคทันที ทั้งที่ในทางปฏิบัติ ข้อตกลงนี้แทบไม่ได้สร้างการลดหย่อนภาษีอย่างมีนัยสำคัญ
แอบบอตต์ยังระบุว่า แม้ข้อตกลงดังกล่าวอาจสร้างประโยชน์บางประการในภาคยานยนต์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม แต่โดยรวมแล้ว ผลกระทบต่อภาพรวมการค้าจะยังค่อนข้างจำกัด
ในด้านการวิเคราะห์เชิงโครงสร้าง รายงานของ Oxford Economics ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี ระบุว่า การที่ภาษีขั้นพื้นฐาน 10% ไม่ถูกแตะต้อง สะท้อนว่าระดับภาษีโดยรวมจะยังคงอยู่ในช่วง "เลขสองหลัก" ไปอีกระยะหนึ่ง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่คาดหวังว่าจะเห็นความคลี่คลายอย่างมีนัยสำคัญในด้านความตึงเครียดทางการค้าอาจต้องผิดหวัง เนื่องจาก “การขาดรายละเอียดในข้อตกลงบ่งชี้ว่าตัวเลขผลประโยชน์รวมที่ถูกนำเสนอ อาจเป็นผลสะสมจากหลายปี และรวมถึงการซื้อขายที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว”
หลังมีการประกาศข้อตกลงดังกล่าว อุตสาหกรรมเหล็กและรถยนต์ของอังกฤษแสดงความโล่งใจ หลังได้รับการยกเว้นภาษีบางส่วน โดยมองว่าสามารถช่วยรักษาการจ้างงานได้ แต่ในอีกด้าน ผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ กลับแสดงความไม่พอใจ เนื่องจากข้อตกลงนี้ให้สิทธิภาษีที่เอื้อกับรถยนต์จากอังกฤษมากกว่ารถที่ผลิตในเม็กซิโกและแคนาดา ซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญของค่ายรถอเมริกัน
“รถยนต์อย่างโรลส์-รอยซ์ เบนท์ลีย์ แม็คลาเรน หรือจาก Jaguar Land Rover อาจได้ประโยชน์” แอบบอตต์กล่าว “แต่ผมไม่เห็นใครจะยอมเปลี่ยนจากรถอังกฤษมาใช้ Ford เพียงเพราะภาษี 10%”
นักวิเคราะห์ยังชี้ถึงความย้อนแย้งของประธานาธิบดีทรัมป์ที่เพิกเฉยต่อเสียงวิจารณ์เรื่องภาษีที่ทำให้สินค้าจำเป็นอย่างของเล่นเด็กมีราคาสูงขึ้น แต่กลับลดภาษีนำเข้ารถหรูระดับสูงซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยของกลุ่มผู้มีรายได้สูง
ในฝั่งภาคเกษตรกรรม สมาคมผู้เลี้ยงวัวแห่งชาติของสหรัฐฯ แสดงความพึงพอใจกับข้อตกลงดังกล่าว โดยเรียกดีลนี้ว่าเป็น “ชัยชนะครั้งใหญ่” สำหรับผู้ผลิตเนื้อวัวอเมริกัน อย่างไรก็ตาม กลุ่มเกษตรกรรายอื่น ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของประธานาธิบดีทรัมป์ กลับยังคงแสดงท่าทีเงียบเชียบและไม่แสดงความเห็นชัดเจนในช่วงแรก
สมาพันธ์เกษตรกรแห่งสหรัฐฯ (American Farm Bureau Federation) ให้ความเห็นในเชิงบวก โดยระบุว่าข้อตกลงนี้ถือเป็น “ก้าวแรกที่สำคัญ” แต่ก็เน้นย้ำว่า “ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องดำเนินการต่อ”
ขณะที่ ลูอิส ลูเคนส์ อดีตรักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหราชอาณาจักร และอดีตรองหัวหน้าคณะทูตสหรัฐฯ ในกรุงลอนดอน กล่าวแสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า “นี่นับเป็นข้อตกลงที่ดีต่อเกษตรกรอเมริกัน...แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ข้อตกลงนี้ยังมีขอบเขตค่อนข้างจำกัด”
ในฝั่งสหรัฐอเมริกา นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักรในครั้งนี้ให้ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมค่อนข้างจำกัด แม้ทั้งสองฝ่ายจะใช้เวลาหารือกันมาเกือบทศวรรษแล้วก็ตาม
สแตน ฟอยเกอร์ นักวิจัยจากสถาบัน American Enterprise Institute ให้ความเห็นว่า “สิ่งที่พวกเขาทำคือการนำสถานะเดิมมาปรับแต่งเพียงเล็กน้อย แล้วเรียกมันว่าข้อตกลง” พร้อมชี้ว่า ข้อตกลงฉบับนี้สะท้อน “ชัยชนะในเชิงสัญลักษณ์” มากกว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างใด ๆ
“สำหรับทรัมป์ จุดมุ่งหมายหลักคือการมี ‘ข้อตกลง’ ให้ประกาศ ส่วนรายละเอียดของข้อตกลงไม่ใช่สาระสำคัญ” เขากล่าว พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าการเจรจาให้ได้ข้อตกลงไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่พื้นที่สำหรับการเปลี่ยนแปลงเชิงลึกกลับมีอยู่อย่างจำกัด
ฟอยเกอร์ยังชี้ให้เห็นความคล้ายคลึงกับยุคแรกของทรัมป์ที่เคยประกาศความสำเร็จจากข้อตกลงกับจีน เม็กซิโก และแคนาดา ซึ่งภายหลังถูกวิจารณ์ว่ามีผลกระทบเชิงนโยบายที่แท้จริงน้อยกว่าที่โฆษณาไว้มาก
ในทิศทางเดียวกัน จอช ลิปสกี นักวิเคราะห์จาก Atlantic Council ให้ความเห็นว่า “นี่คือชัยชนะเล็ก ๆ ที่มีขอบเขตจำกัดมาก” พร้อมตั้งคำถามสำคัญว่า ในขณะที่ทรัมป์พยายามเร่งสรุปข้อตกลงกับพันธมิตรใกล้ชิดอย่างอังกฤษ ทำไมความตึงเครียดทางการค้ากับจีน ซึ่งมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงกว่าสหราชอาณาจักรถึง 6 เท่า จึงกลับยิ่งทวีความรุนแรง
ขณะนี้ สหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็นอย่างน้อย 145% ซึ่งนำไปสู่มาตรการตอบโต้โดยตรงจากจีน และทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนที่ผ่านมา จนเกิดความกังวลในวงกว้างว่า ความตึงเครียดด้านภาษีอาจนำไปสู่ภาวะขาดแคลนสินค้าในบางหมวด โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง
หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชะลอการจัดเก็บภาษีตอบโต้สำหรับประเทศนอกเหนือจากจีนเมื่อเดือนเมษายน การค้าระหว่างยุโรปกับสหรัฐฯ ก็เร่งตัวขึ้นชั่วคราว อย่างไรก็ตาม แอนดี้ แอบบอตต์ ซีอีโอของบริษัท Atlantic Container Line ระบุว่า ขณะนี้ปริมาณการส่งออกได้กลับเข้าสู่ระดับปกติแล้ว
“ผู้ให้บริการขนส่งรถยนต์หลายรายเริ่มทยอยยกเลิกเที่ยวเรือเพราะปริมาณลดลง” แอบบอตต์กล่าว พร้อมระบุว่า บริษัทของเขายังไม่ยกเลิกเที่ยวเดินเรือ เนื่องจากเชี่ยวชาญในสินค้าขนาดใหญ่และตู้คอนเทนเนอร์ ไม่ใช่รถยนต์
ข้อมูลการค้าล่าสุดบ่งชี้ว่า ปริมาณสินค้าที่ท่าเรือฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ กำลังเริ่มลดลง ตามหลังฝั่งตะวันตกที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของการส่งออกจากจีนแล้วอย่างมีนัยสำคัญ แม้ผลกระทบฝั่งตะวันออกจะยังไม่ปรากฏเด่นชัด แต่แอบบอตต์คาดว่าแนวโน้มจะเริ่มชัดเจนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม
“ทุกอย่างที่ผมเห็นตอนนี้ชี้ชัดว่าการเร่งขนส่งสินค้าจากยุโรปได้ชะลอตัวลง หลังจากช่วงพีคสั้น ๆ ที่เกิดขึ้นหลังมีการประกาศชะลอภาษี” เขากล่าว พร้อมระบุว่าปัจจัยฤดูกาล เช่น วันหยุดอีสเตอร์และวันแรงงานในยุโรป อาจบิดเบือนข้อมูลให้ดูสูงเกินจริง แต่โดยรวมแล้ว ปริมาณสินค้ากลับมาอยู่ในระดับ “ปานกลาง” ใกล้เคียงกับปี 2024
เขาเสริมว่า ผู้นำเข้าจากยุโรปกำลังจับตาว่า สหรัฐฯ จะขยายเวลาชะลอการจัดเก็บภาษีหรือไม่ หากไม่มีการขยายเวลา คาดว่าจะเกิดการเร่งนำเข้าอีกระลอกในช่วงต้นเดือนมิถุนายน
“สำหรับ ACL ผู้ส่งสินค้าสามารถออกจากอังกฤษได้ช้าที่สุดวันที่ 21 มิถุนายน และยังมาถึงทันก่อนมาตรการชะลอภาษีจะหมดอายุ ส่วนใหญ่กำลังจับตาวันดังกล่าวเป็นเส้นตาย ผมไม่คาดว่าจะมีเหตุการณ์ผิดปกติใด ๆ ก่อนหน้านั้น เว้นแต่จะมีประกาศใหม่จากทางการ” แอบบอตต์กล่าว
ในขณะที่การส่งออกของสหรัฐฯ ไปยุโรปในหลายหมวดยังคงแข็งแกร่ง เช่น เครื่องจักรก่อสร้าง แต่ภาคยานยนต์กลับเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก
“สิ่งที่น่ากังวลคือ เราเริ่มเห็นการหยุดชะงักในการส่งออกรถยนต์ไปยุโรป ผู้ผลิตรถไม่สามารถแบกรับภาษี 25% ได้ และผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ไม่พร้อมจะจ่ายเพิ่ม 25% เพื่อซื้อรถใหม่” เขากล่าว
แอบบอตต์ยังจับตาภาคการส่งออกรถยนต์มือสองอย่างใกล้ชิด โดยระบุว่ามีสัญญาณว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ เริ่มหันมาซื้อรถมือสองแทนการนำเข้ารถใหม่ โดยดัชนีราคารถยนต์มือสองแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2023 รถเช่าเก่าและรถจากสัญญาลีสจำนวนมากถูกส่งออกไปยังแอฟริกาตะวันตก ซึ่งอาจสะท้อนแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในตลาดยานยนต์
“ตอนนี้เรายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในปริมาณการจองอย่างมีนัยสำคัญ แต่ผู้ประกอบการเริ่มแสดงความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับราคาที่สูงขึ้นและความพร้อมของสินค้าในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า” เขากล่าวสรุป