จีนปล่อยกระสุนการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ ลดดอกเบี้ย-ลดสัดส่วนเงินสำรอง เตรียมเปิดฉากเจรจากับสหรัฐฯ
ในวันนี้ (7 พ.ค.) รัฐบาลจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การลดสัดส่วนเงินสำรองของธนาคาร และการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน มาตรการดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่จีนเตรียมเปิดฉากเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ท่ามกลางแรงกดดันจากสงครามภาษีที่ยืดเยื้อและส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อเศรษฐกิจจีน
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า รัฐมนตรีคลัง สก็อตต์ เบสเซนต์ และผู้แทนเจรจาการค้า เจมิสัน เกรียร์ มีกำหนดหารือกับรองนายกรัฐมนตรีจีน เหอ ลี่เฟิง ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญครั้งแรกในการคลี่คลายข้อพิพาทด้านภาษีที่ส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังตลาดโลกและห่วงโซ่อุปทาน
ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดสะท้อนว่า จีนกำลังเผชิญผลกระทบอย่างชัดเจนจากภาษีศุลกากรระดับสูง โดยดัชนีภาคการผลิตเดือนเมษายนหดตัวเร็วที่สุดในรอบ 16 เดือน ขณะที่แรงกดดันด้านเงินฝืดยังคงมีอยู่สูง และผู้ส่งออกจีนเริ่มสูญเสียตลาดหลักในสหรัฐฯ
ในวันนี้ ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 7 วันลง 10 จุดพื้นฐาน เหลือ 1.40% มีผลวันที่ 8 พฤษภาคม พร้อมปรับลดอัตราดอกเบี้ยอื่น ๆ ตามสอดคล้องกัน นอกจากนี้ PBOC ยังประกาศลดสัดส่วนเงินสำรองธนาคาร (RRR) ลงอีก 50 จุดพื้นฐาน มีผลวันที่ 15 พฤษภาคม คาดว่าจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระบบถึง 1 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 1.38 แสนล้านดอลลาร์)
นายพาน กงเซิง ผู้ว่าการ PBOC เปิดเผยว่า ธนาคารกลางยังเตรียมออกสินเชื่อพิเศษต้นทุนต่ำ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพันธบัตรกลุ่มเทคโนโลยี การดูแลผู้สูงอายุ และการบริโภคในภาคบริการ พร้อมทั้งเสริมเครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่เดิมสำหรับภาคเกษตรกรรมและวิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก
นายอู๋ ชิง ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของจีน (CSRC) ระบุว่า ทางการจะออกมาตรการช่วยเหลือบริษัทจดทะเบียน A-share ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษี ขณะที่สำนักงานกำกับการเงินแห่งชาติ (NFRA) เตรียมขยายโครงการนำร่องให้บริษัทประกันภัยสามารถลงทุนในตลาดหุ้นได้เพิ่มเติมอีก 60,000 ล้านหยวน (ประมาณ 8.3 พันล้านดอลลาร์)
นอกจากนี้ ยังมีการผ่อนคลายเงื่อนไขการจำนองบางประเภท เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของผู้ซื้อบ้าน
ดัชนีหุ้นจีนปรับตัวขึ้นหลังการประกาศมาตรการกระตุ้น โดยนักวิเคราะห์จาก Citi ชี้ว่ามาตรการเหล่านี้อาจเป็น "กลยุทธ์เฉพาะหน้า" เพื่อเสริมอำนาจต่อรองของจีนก่อนการเจรจาการค้าในสวิตเซอร์แลนด์
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จาก Capital Economics และ Economist Intelligence Unit ต่างเห็นตรงกันว่า แม้มาตรการนี้จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นในระยะสั้น แต่ผลทางเศรษฐกิจอาจมีจำกัด เนื่องจากปัญหาหลักที่ถ่วงการเติบโตในขณะนี้คือ "ความต้องการสินเชื่อที่อ่อนแรง" ไม่ใช่ "ข้อจำกัดด้านอุปทานทางการเงิน"
แหล่งข่าวเผยว่า การเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐฯ สุดสัปดาห์นี้จะเน้นการพิจารณายกเลิกภาษีบางรายการ รวมถึงถกเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบยกเว้นภาษีสินค้ารายย่อย (de minimis) และบัญชีควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ
แม้ที่ผ่านมา จีนยังคงแสดงท่าทีแข็งกร้าว โดยประกาศว่าจะ "ไม่มีวันยอมจำนน" ต่อมาตรการภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นล่าสุดนี้มีลักษณะเชิงป้องกัน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจาที่ยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง