โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประกาศคาดการณ์กำไรสุทธิสำหรับปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2026 ว่าจะอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านเยน (ราว 2.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงถึง 34.9% จากปีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากนโยบายขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ต่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของโตโยต้าในตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา
อีกปัจจัยที่กดดันรายได้คือการแข็งค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยบริษัทคาดว่ากำไรจากการดำเนินงานจะลดลง 20.8% เหลือ 3.8 ล้านล้านเยน
ในปีงบประมาณที่ผ่านมา โตโยต้าทำกำไรสุทธิได้ 4.77 ล้านล้านเยน ลดลง 3.6% แม้จะสูงกว่าที่นักวิเคราะห์จากการสำรวจของ QUICK คาดการณ์ไว้ที่ 4.6 ล้านล้านเยน ขณะที่รายได้รวมเพิ่มขึ้น 6.5% อยู่ที่ 48 ล้านล้านเยน
เมื่อเดือนเมษายน 2025 สหรัฐฯ ได้เริ่มเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศในอัตรา 25% ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงต่อโตโยต้า เนื่องจากสหรัฐฯ คิดเป็น 1 ใน 4 ของยอดขายทั้งหมดของบริษัทในปีงบประมาณก่อนหน้า
นาย โยอิจิ มิยาซากิ รองประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การเงินของโตโยต้า ระบุว่า “ผลกระทบจากภาษีสำหรับช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ได้ถูกสะท้อนในประมาณการแล้ว” โดยบริษัทประเมินผลลบจากภาษีไว้ที่ประมาณ 1.8 แสนล้านเยน นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินเยนอีก 7.45 แสนล้านเยน และจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบอีกราว 3.5 แสนล้านเยน
ถึงแม้จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โตโยต้ายังไม่ได้เปิดเผยตัวเลขผลกระทบตลอดปี เพราะรายละเอียดของมาตรการภาษีจากรัฐบาลสหรัฐฯ ยังอยู่ระหว่างการปรับแก้
นาย โคจิ ซาโตะ ประธานและซีอีโอของโตโยต้า กล่าวว่า บริษัทได้รวมผลกระทบจากภาษีที่มีผลบังคับใช้แล้วไว้ในประมาณการเรียบร้อย พร้อมย้ำว่า "สถานการณ์ยังเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จึงยังไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้แน่ชัด"
ทรัมป์เองเคยวิพากษ์วิจารณ์ตลาดรถยนต์ของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยระบุว่า “94% ของรถยนต์ที่ขายในญี่ปุ่นผลิตในประเทศ โตโยต้าขายรถที่ผลิตในต่างประเทศกว่า 1 ล้านคันในสหรัฐฯ แต่บริษัทอเมริกันกลับไม่มีโอกาสเข้าถึงตลาดเหล่านั้น”
ทั้งนี้ แม้ภาษีนำเข้าจะกระทบต้นทุน นายซาโตะยืนยันว่าโตโยต้าไม่มีแผนขึ้นราคารถยนต์ในระยะสั้น
“เราจะไม่ใช้มาตรการฉาบฉวยเพื่อตอบสนองภาษี” นายมิยาซากิกล่าวเสริม พร้อมระบุว่ายอดขายในอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ไฮบริด ยังคงแข็งแกร่ง โดยคาดว่าจะเติบโตถึง 8.8% ในปีงบประมาณนี้ คิดเป็นยอดขายราว 2.94 ล้านคัน
ปีที่แล้วโรงงานในรัฐอินเดียนาต้องหยุดการผลิตชั่วคราวเนื่องจากปัญหาคุณภาพ ส่งผลให้ไม่สามารถผลิตได้ทันความต้องการ แต่ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อค้างจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะสนับสนุนยอดขายในปีนี้
ขณะเดียวกัน โตโยต้าเริ่มพิจารณาปรับเปลี่ยนเส้นทางการส่งออกรถยนต์จากญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันส่งไปราว 500,000 คันต่อปีไปยังสหรัฐฯ โดยนายซาโตะระบุว่า “แม้ตลาดสหรัฐฯ จะเป็นตลาดหลัก แต่ในระยะสั้น เราอาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนปลายทางบางส่วน”
นอกจากนี้ โตโยต้ายังยืนยันจะคงการผลิตในประเทศ แม้นโยบายภาษีของสหรัฐฯ จะทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นเริ่มทบทวนแผนการผลิตและการส่งออก โดยฮอนด้า มอเตอร์ ที่กำลังพิจารณาเพิ่มกำลังผลิตในสหรัฐฯ และอาจย้ายการผลิตจากเม็กซิโกและแคนาดา
นายซาโตะระบุว่าในระยะกลางถึงยาว โตโยต้าจะยังคงยึดแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งเน้นการผลิตในท้องถิ่นเหมือนที่ดำเนินการมาโดยตลอด
เขายังย้ำว่า โตโยต้าตั้งเป้ารักษากำลังการผลิตในญี่ปุ่นให้อยู่ในระดับประมาณ 3 ล้านคันต่อปี เพราะมองว่าการผลิตภายในประเทศมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งด้านอุตสาหกรรม การจ้างงาน และการสร้างรายได้จากการส่งออก เพื่อใช้สำหรับการนำเข้าสินค้าที่จำเป็น เช่น พลังงาน
“เราจะรักษาความมุ่งมั่นในการผลิตภายในประเทศอย่างไม่เปลี่ยนแปลง” นายซาโตะกล่าวปิดท้าย ขณะที่นายมิยาซากิเสริมว่า “ไม่ว่าเราจะเผชิญกับภาษีหรืออุปสรรคใด โตโยต้าจะยังคงเดินหน้าทำในสิ่งที่ควรทำต่อไป”