ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวเมื่อวันอังคาร (ตามเวลาท้องถิ่น) ว่าเขาไม่มีแผนจะขยายเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคม สำหรับการกลับมาใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า พร้อมยืนยันว่า หากการเจรจาการค้าไม่เป็นไปตามที่สหรัฐฯ ต้องการ เขาพร้อมจะยุติการเจรจาและเดินหน้าจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมกับหลายประเทศ รวมถึงญี่ปุ่น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอบสนองในทางลบทันทีหลังจากทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวบนเครื่องบิน Air Force One โดยดัชนี S&P 500 ร่วงลงทันที 14 จุด หลังจากที่ก่อนหน้านั้นเคลื่อนไหวในระดับทรงตัว และปิดตลาดลดลง 0.1% ณ เวลา 15:36 น. ตามเวลานิวยอร์ก ขณะที่ดัชนีความผันผวน Cboe VIX ซึ่งสะท้อนระดับความกังวลของนักลงทุน พุ่งขึ้นเหนือระดับ 16.8 ก่อนจะค่อย ๆ ปรับตัวลงเล็กน้อยในช่วงสิ้นวัน
ด้านตลาดเงิน ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ของ Bloomberg แทบไม่เปลี่ยนแปลงหลังการให้สัมภาษณ์ของทรัมป์ ส่วนเงินเยนญี่ปุ่นยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และทำผลงานได้ดีกว่าสกุลเงินอื่น ๆ ในกลุ่ม G10
ในช่วงเวลาที่เหลืออีกเพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนถึงเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคม นักลงทุนทั่วโลกกำลังจับตาท่าทีของทรัมป์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการตัดสินใจว่าจะสิ้นสุดช่วงพักการขึ้นภาษีที่เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนหรือไม่ ซึ่งในขณะนั้นเขาได้ชะลอมาตรการภาษีเป็นเวลา 90 วันเพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาเพิ่มเติม แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้าที่สหรัฐฯ มองว่าน่าพอใจ
นับตั้งแต่ที่ทรัมป์ประกาศระงับการเก็บภาษี เขาและทีมงานได้แสดงเจตนาชัดเจนว่าต้องการเร่งทำข้อตกลงการค้าใหม่กับหลายประเทศ เพื่อแก้ไขความไม่สมดุลที่เขามองว่าไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงที่มีความชัดเจนจนถึงขณะนี้ มีเพียงกรอบเบื้องต้นกับสหราชอาณาจักรและจีนเท่านั้น โดยยังมีรายละเอียดสำคัญอีกหลายประเด็นที่ต้องเจรจาต่อไป
สำหรับทีมประเทศไทย นำโดยโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดประชุมหารือกับนายเจมิสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 เวลา 21.00 น. ตามเวลาไทย โดยไทยมีเป้าหมายเจรจาเพื่อลดอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากสินค้าส่งออกของไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 36% ให้ลดลงเหลือน้อยที่สุด
รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการเจรจาในลักษณะได้ประโยชน์ร่วมกัน (Win-Win Solution) โดยคำนึงถึงข้อกังวลของสหรัฐฯ ควบคู่กับการรักษาผลประโยชน์ของไทย ภายใต้กรอบการเจรจา 5 เสาหลักที่เน้นการสร้างหุ้นส่วนเศรษฐกิจในสาขาที่มีศักยภาพร่วมกัน เช่น อุตสาหกรรมเกษตร-อาหาร และเทคโนโลยี พร้อมพิจารณาเปิดตลาด ลดภาษี นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานและวัตถุดิบที่ไทยยังขาดแคลน เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ภาคธุรกิจและผู้บริโภคในประเทศ
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับการป้องกันการส่งออกสินค้าสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม โดยใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด และมุ่งส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนไทยในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมีหลายบริษัทแสดงความสนใจและความพร้อมที่จะลงทุน
รัฐบาลไทยเผยว่า ตลอดช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการประกาศยืนระยะเก็บภาษี ไทยได้ยื่นข้อเสนอในประเด็นเหล่านี้หลายครั้งและได้รับสัญญาณในเชิงบวกจากฝ่ายสหรัฐฯ
ทั้งนี้ นอกจากการเจรจากับ USTR แล้ว ทีมไทยแลนด์ยังมีกำหนดพบปะหารือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของสหรัฐฯ เพิ่มเติมอีก 2-3 แห่ง เพื่อขยายโอกาสความร่วมมือและลดอุปสรรคทางการค้า
สำหรับการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ ขณะนี้ สหรัฐฯ กำลังเผชิญความยากลำบากในการเจรจาการค้ากับประเทศคู่ค้ารายสำคัญ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาเพิ่มแรงกดดันต่อญี่ปุ่นอีกครั้งเมื่อวันอังคาร โดยกล่าวหาว่าญี่ปุ่นยังไม่ยอมเปิดตลาดสำหรับการนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ และชี้ให้เห็นว่าสหรัฐฯ ยังคงเสียเปรียบญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องในการค้ารถยนต์ระหว่างสองประเทศ
“ญี่ปุ่นควรต้องจ่ายภาษีในอัตรา 30%, 35% หรืออะไรก็ตามที่เรากำหนด เพราะเรามีการขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นในระดับที่สูงมาก” ทรัมป์กล่าวอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายน ทรัมป์เคยเสนอให้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นในอัตราสูงถึง 24% แต่ในช่วงที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจา สหรัฐฯ ยังคงจัดเก็บภาษีในอัตรา 10% เป็นการชั่วคราว
“ผมไม่แน่ใจว่าเราจะบรรลุข้อตกลงกับญี่ปุ่นได้หรือไม่ พวกเขาเป็นประเทศที่เจรจายากมาก และผมก็สงสัยว่าญี่ปุ่นจะยอมทำข้อตกลงในเงื่อนไขที่เราต้องการ คุณต้องเข้าใจว่าพวกเขาได้รับการเอาอกเอาใจมานานแล้ว” ทรัมป์กล่าวเสริม
ในทางกลับกัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงท่าทีเชิงบวกต่ออินเดีย โดยเชื่อว่าทั้งสองประเทศอาจสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ในอนาคตอันใกล้ เมื่อถูกถามถึงโอกาสที่จะปิดดีลภายในสัปดาห์หน้า ทรัมป์ตอบว่า “เป็นไปได้ มันจะเป็นข้อตกลงที่แตกต่างออกไป”
ทรัมป์ระบุว่า ข้อตกลงใหม่นี้จะต้องสร้างโอกาสให้สหรัฐฯ สามารถแข่งขันได้อย่างยุติธรรม “ตอนนี้อินเดียแทบไม่ยอมเปิดตลาดให้ประเทศอื่นเลย” ทรัมป์กล่าว “แต่ผมคิดว่าอินเดียจะยอมเปิดตลาดมากขึ้น และถ้าเป็นแบบนั้น เราจะได้ข้อตกลงที่มีอัตราภาษีต่ำกว่าปัจจุบัน”
ในฝั่งอินเดีย นาย Subrahmanyam Jaishankar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้อินเดียและสหรัฐฯ กำลังใกล้จะบรรลุข้อตกลงแล้ว โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการเจรจาในประเด็นที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่น อัตราภาษีสินค้าเฉพาะกลุ่มในอนาคต รวมถึงเงื่อนไขการเปิดตลาดสำหรับพืชผลดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) จากสหรัฐฯ
บรรยากาศการเจรจายังคงเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยมีรายงานว่า นาย Rajesh Agarwal หัวหน้าคณะเจรจาของอินเดีย ได้ตัดสินใจขยายเวลาการพำนักในสหรัฐฯ เพื่อเดินหน้าแก้ไขข้อขัดแย้งต่าง ๆ ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด
จากท่าทีที่สหรัฐฯ มีต่อญี่ปุ่น นักวิเคราะห์มองว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะตั้งใจใช้กรณีของญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างในการส่งสัญญาณเตือนไปยังประเทศอื่น ๆ ว่าหากไม่เร่งทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับการเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้น โดยทรัมป์มองว่าการเจรจากับประเทศอื่น ๆ จะยากกว่าญี่ปุ่น และกำลังพยายามใช้ญี่ปุ่นเป็นกรณีศึกษาสำหรับการกดดันคู่ค้า
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์เองก็เคยเปลี่ยนท่าทีอย่างรวดเร็วในหลายกรณี เช่นในสัปดาห์ก่อน ที่เขาเคยประกาศยุติการเจรจากับแคนาดา แต่กลับกลับลำภายในเวลาไม่กี่วัน หลังจากแคนาดาตัดสินใจยกเลิกการเก็บภาษีบริการดิจิทัล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทรัมป์พร้อมจะเปลี่ยนจุดยืนได้ทันทีหากสถานการณ์เอื้ออำนวย
ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Shigeru Ishiba ยังคงเดินหน้าใช้แนวทางการเจรจาอย่างสุขุมและเป็นมิตร แม้จะเผชิญแรงกดดันจากทรัมป์ที่ต้องการผลลัพธ์ทางการค้าในระยะเวลาอันสั้น
ญี่ปุ่นพยายามขอผ่อนปรนภาษีในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ รวมถึงการขอยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าบางประเภท แต่แนวทางที่รอบคอบและใช้เวลา อาจไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของทรัมป์ที่ต้องการเห็นผลสำเร็จโดยเร็ว
“ผมรักญี่ปุ่น ผมชอบนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาก” ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าว “แต่ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศได้รับการเอาอกเอาใจมานานกว่า 30-40 ปี จนทำให้พวกเขาไม่คุ้นชินกับการเจรจาที่ต้องยอมให้สหรัฐฯ”