Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เฟดเตือน! ศก. สหรัฐฯ ไม่แน่นอน ภาษีทรัมป์เร่งความเสี่ยง Stagflation
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เฟดเตือน! ศก. สหรัฐฯ ไม่แน่นอน ภาษีทรัมป์เร่งความเสี่ยง Stagflation

8 พ.ค. 68
14:24 น.
แชร์

ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve หรือ Fed) ประกาศเมื่อวันพุธที่ 7 พฤษภาคม 2025 ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในกรอบ 4.25% ถึง 4.50% ซึ่งเป็นระดับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าภาวะเศรษฐกิจยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจ การค้าต่างประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ในแถลงการณ์นโยบายล่าสุด Fed ระบุชัดว่า “ความเสี่ยงของเงินเฟ้อที่เร่งตัวและอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น” กำลังปรากฏขึ้นพร้อมกัน ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของภาวะ “stagflation” หรือ ภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวในขณะที่ราคาสินค้าและบริการยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์เช่นนี้สร้างความท้าทายอย่างยิ่งต่อการดำเนินนโยบายการเงิน เนื่องจากการแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งอาจซ้ำเติมอีกปัจจัยหนึ่งให้รุนแรงขึ้น

Fed เน้นย้ำว่าท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดจากนโยบายการค้าที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและคาดเดายาก การดำเนินนโยบายการเงินจำเป็นต้องอิงกับข้อมูลเศรษฐกิจที่ชัดเจนและครอบคลุม เพื่อให้สามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสมต่อความเสี่ยงที่ซ้อนทับกันในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน

พาวเวลล์ย้ำความไม่แน่นอน “รุนแรง” กดดันเฟดชะลอการตัดสินใจ

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ FOMC ว่า เฟดยังไม่สามารถดำเนินการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินได้ในเวลานี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญความไม่แน่นอนในระดับ “รุนแรง” ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยยังไม่มีความชัดเจนว่าเศรษฐกิจจะสามารถรักษาการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง หรือกำลังเข้าสู่ช่วงชะลอตัวท่ามกลางแรงกดดันจากนโยบายการค้าและเงินเฟ้อที่เริ่มแสดงสัญญาณเร่งตัวขึ้น

“ขอบเขต ขนาด และระยะเวลาของผลกระทบจากนโยบายยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน” พาวเวลล์กล่าว “เราจึงยังไม่อาจระบุได้อย่างแน่ชัดว่านโยบายการเงินควรตอบสนองอย่างไร … เรายังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรทำในตอนนี้”

คำกล่าวของพาวเวลล์สะท้อนท่าทีระวังขั้นสูงของ Fed ซึ่งถูกจำกัดการเคลื่อนไหวโดยความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจจากฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะนโยบายภาษีและการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและทิศทางของเศรษฐกิจสหรัฐอย่างมีนัยสำคัญ

เฟดยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในกรอบ 4.25% ถึง 4.50% ตามที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม พร้อมระบุในแถลงการณ์ว่า “ระดับความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้น” จากการประชุมครั้งก่อนในเดือนมีนาคม โดยเตือนว่าเศรษฐกิจอาจเผชิญความเสี่ยงทั้งจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นและการว่างงานที่เพิ่มขึ้นในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของภาวะ “stagflation” ที่ Fed ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

เฟดระบุชัดว่าในภาวะแวดล้อมปัจจุบัน การดำเนินนโยบายใด ๆ ต้องอาศัยข้อมูลเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อประเมินว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ของรัฐบาลจะส่งผลต่อเป้าหมายหลักของธนาคารกลางอย่างไร ได้แก่ การควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 2% และการรักษาระดับการจ้างงานในระยะยาว

“นโยบายการเงินของเรายังมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะตอบสนองได้ทันทีหากทิศทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง” พาวเวลล์กล่าว พร้อมยืนยันว่า เฟดจะยังคงใช้แนวทาง “รอดูสถานการณ์” (wait-and-see) เป็นหลัก ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการบริหารนโยบายช่วงต้นของรัฐบาลทรัมป์ ท่ามกลางความผันผวนที่ยังไม่คลี่คลาย

เศรษฐกิจหดตัวเพราะเร่งนำเข้า กังวลแรงซื้อหมดรอบเดียว

ในไตรมาสแรกของปี 2025 เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี โดย Fed ชี้ว่าสาเหตุหลักมาจากการเร่งนำเข้าสินค้าของภาคธุรกิจและครัวเรือนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรใหม่ ซึ่งทำให้ดุลการค้าเป็นลบ และฉุด GDP ลง แม้ว่าความต้องการพื้นฐานภายในประเทศยังคงเติบโต

แต่พาวเวลล์เตือนว่า การเร่งนำเข้าสินค้าเช่นนี้เป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นซ้ำอีก และหากไม่มีแรงกระตุ้นใหม่ เศรษฐกิจอาจเริ่มอ่อนแรงลงทั้งในด้านอุปสงค์และการลงทุน ซึ่งสุดท้ายอาจสะท้อนในตัวเลขตลาดแรงงานและเงินเฟ้ออย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี

รายงาน “Beige Book” ล่าสุดของ Fed ที่รวบรวมข้อมูลจากภาคธุรกิจต่าง ๆ ก็สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา มีการชะลอการลงทุน ความต้องการสินค้าและบริการลดลง รวมถึงราคาที่ปรับสูงขึ้น

“ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนต่างก็วิตกกังวล … และชะลอการตัดสินใจทางเศรษฐกิจในหลายเรื่อง” พาวเวลกล่าว “หากความกังวลเหล่านี้ยังดำเนินต่อไปและไม่มีอะไรคลี่คลาย ก็เป็นไปได้ว่าจะสะท้อนออกมาในข้อมูลเศรษฐกิจ”

ตลาดแรงงานยังแกร่ง แต่เริ่มเห็นรอยร้าว

ในด้านแรงงาน เฟดยังคงเห็น “ความแข็งแกร่ง” และมองว่ายังคงเป็นจุดแข็งที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไว้ได้ โดยระบุว่าการจ้างงานในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 177,000 ตำแหน่ง และอัตราการว่างงานยังอยู่ที่ 4.2% ขณะเดียวกัน ตัวเลขการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงานรายสัปดาห์ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าผู้ขอรับสิทธิ์ต่อเนื่องจะเริ่มเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2021

พาวเวลล์ชี้ว่า ความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานทำให้เฟดยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยในตอนนี้ โดยเจ้าหน้าที่เฟดระบุว่า “กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงขยายตัวในอัตราที่แข็งแกร่ง” แม้การนำเข้าสินค้าที่สูงขึ้นจะกดดัน GDP ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนยังตั้งคำถามว่าเศรษฐกิจจะสามารถทนแรงกดดันจากนโยบายของทรัมป์ได้อีกนานแค่ไหน เพราะผลสำรวจหลายแหล่งสะท้อนว่าความไม่แน่นอนกำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ ซึ่งอาจส่งผลต่อแผนการจ้างงาน การใช้จ่ายของผู้บริโภค และการลงทุนในอนาคต ขณะเดียวกัน ภาษีก็เป็นแรงผลักดันราคาสินค้าให้สูงขึ้น ยิ่งซ้ำเติมผู้บริโภคที่ต้องเผชิญกับเงินเฟ้อสูงต่อเนื่องหลายปี

Stagflation: ภัยคุกคามคู่ขนานต่อเป้าหมายหลักของเฟด

ภาวะ stagflation เคยเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงทศวรรษ 197-1980 และอาจหวนคืนมาอีกครั้งเพราะนโยบายภาษีของทรัมป์ พาวเวลล์ยอมรับความเป็นไปได้นี้อีกครั้งในการตอบคำถามสื่อ โดยระบุว่าการตอบสนองของเฟดจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงว่าเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นนั้นจะเป็นเพียงชั่วคราวหรือไม่

เขาอธิบายว่าหากเกิด stagflation อย่างจริงจัง เฟดจะต้องพิจารณาว่าเศรษฐกิจเบี่ยงเบนจากเป้าหมายสองด้าน (การจ้างงานสูงสุดและเสถียรภาพราคา) ไปมากแค่ไหน และในระยะเวลาใดที่คาดว่าช่องว่างนั้นจะถูกปิด

เมื่อถูกถามว่าเฟดจะให้ความสำคัญกับเป้าหมายด้านใดก่อนระหว่างเงินเฟ้อกับการจ้างงาน หากต้องเลือกระหว่างสองทาง พาวเวลล์ตอบว่า “ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปเรื่องนี้”

“ในตอนนี้เรามองว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว เราจะรอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีและผลกระทบที่แท้จริงต่อเศรษฐกิจก่อนจะตัดสินใจ” เขากล่าว

เมื่อถูกถามว่าเฟดจะตอบสนองอย่างไรหากตลาดแรงงานเริ่มอ่อนแอลง พาวเวลล์กล่าวว่า “เราจะพิจารณาข้อมูลจากหลายมิติในตลาดแรงงาน เพื่อประเมินว่าเงื่อนไขเปลี่ยนไปจริงหรือไม่ และเราก็จะดูอีกด้านของภารกิจเราด้วย”

“สมมุติว่าอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นมากในแบบที่น่าเป็นห่วง และเงินเฟ้อก็พุ่งขึ้นด้วย แม้เรายังไม่ได้อยู่ในสถานการณ์แบบนั้น เราจะดูว่าเป้าหมายทั้งสองเบี่ยงเบนไปมากแค่ไหน คาดว่าจะใช้เวลานานเท่าใดในการกลับสู่เป้าหมาย” พาวเวลล์กล่าว

นักเศรษฐศาสตร์บางคนเชื่อว่าเฟดจะตอบสนองอย่างรวดเร็วหากตลาดแรงงานเริ่มอ่อนแอ เหมือนที่เคยปรับลดดอกเบี้ย 0.5 จุดเมื่อปีที่แล้ว หลังอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลายเดือน

พาวเวลล์ย้ำว่า สถานการณ์ภาษีของทรัมป์ยังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ซึ่งหมายความว่ามุมมองของเฟดต่อเศรษฐกิจก็อาจเปลี่ยนไปเช่นกัน โดยเฉพาะหากฝ่ายบริหารสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้า

“เรากำลังก้าวเข้าสู่เฟสใหม่ที่ฝ่ายบริหารเริ่มเปิดการเจรจากับคู่ค้าใหญ่ ๆ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงภาพรวมเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ หรืออาจไม่ก็ได้” เขากล่าว

แชร์
เฟดเตือน! ศก. สหรัฐฯ ไม่แน่นอน ภาษีทรัมป์เร่งความเสี่ยง Stagflation