ข่าวเศรษฐกิจ

ยอดหนี้ครัวเรือนสูตรใหม่ สูงถึง 90.6% ต่อจีดีพี แตะ 16 ล้านล้านบาท สูตรนี้ไม่รวมหนี้นอกระบบ

3 ก.ค. 66
ยอดหนี้ครัวเรือนสูตรใหม่ สูงถึง 90.6% ต่อจีดีพี แตะ 16 ล้านล้านบาท สูตรนี้ไม่รวมหนี้นอกระบบ
ไฮไลท์ Highlight

“ ยอดหนี้ครัวเรือนภายใต้ข้อมูลชุดใหม่ อยู่ที่ 90.6% ต่อจีดีพี

แตะ 16 ล้านล้านบาท ไม่ได้น่ากังวล หากนำไปใช้เพื่อสิ่งจำเป็นหนี้ 

เพื่อการประกอบอาชีพ แต่สิ่งที่กังวล คือ กลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ 

และแนวโน้มหนี้เสียอาจเพิ่มขึ้นบ้าง แต่จะไม่เห็น NPL Cliff

(การก้าวกระโดดเหมือนหน้าผาสูง) ซึ่งสถาบันการเงินยังสามารถบริหารจัดการได้อยู่”

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนล่าสุด ภายใต้ข้อมูลชุดใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไตรมาส 1 ปี 2566 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP (เพิ่มขึ้นจากการปรับข้อมูลให้ครอบคลุมผู้ให้กู้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่หนี้ที่เพิ่งเกิดใหม่ โดยจากข้อมูลชุดใหม่ หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ที่ 91.4%) 

โดยธปท.แจงหนี้ครัวเรือนชุดใหม่ ได้นำยอดหนี้จากผู้ให้กู้  4 กลุ่ม ณ ไตรมาส 1/2566 มูลหนี้รวมทั้งสิ้น 765,000 ล้านบาท ดังนี้

  1. กยศ. มูลหนี้ 483,000 ล้านบาท 
  2. สหกรณ์อื่นๆ (ที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์) มูลหนี้ 265,000 ล้านบาท
  3. การเคหะแห่งชาติ มูลหนี้ 11,000 ล้านบาท
  4. พิโกไฟแนนซ์ มูลหนี้ 6,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนทั้งหมด 16 ล้านล้านบาท ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธปท. 73% แบ่งเป็น สินเชื่อบัตรเครดิตทั้งหมด สินเชื่อบ้าน 90% และ 2 ใน 3 ของสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อรถยนต์ ส่วนอีก 27% ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธปท.นั้น เป็นสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อสหกรณ์ สินเชื่อเพื่อการศึกษา (กยศ.)

หนี้ครัวเรือนที่แบ่งตามประเภทสินเชื่อ  มีดังนี้

  1. สินเชื่อบ้าน 34%
  2. สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 27%
  3. สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ กองทุนเพื่อการศึกษา (กยศ.) และอื่นๆ 28%
  4. สินเชื่อรถยนต์ 11% ซึ่งส่วนหนึ่งใช้เพื่อประกอบอาชีพ

ขณะที่จำนวนบัญชีและยอดหนี้ของสินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน จากผลกระทบของโควิด (ลูกหนี้รหัส 21) ล่าสุด ได้ทยอยปรับลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2565 แล้ว จากการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

สำหรับแนวโน้ม NPL ประเมินว่า อาจทยอยปรับขึ้นบ้าง จากกลุ่มเปราะบางที่รายได้น้อย หรือรายได้ยังไม่ฟื้นตัว  แต่จะไม่เห็น NPL cliff และเป็นระดับที่สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการได้ สอดคล้องกับมุมมองของ Rating agencies ต่อภาคธนาคารไทยที่ยังมั่นคง อีกทั้งการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ปรับดีขึ้น 

โดยหนี้กลุ่มเปราะบางที่อาจเสื่อมคุณภาพลง ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีภาระหนี้สูง และกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ที่เคยได้รับความช่วยเหลือแล้ว แต่ยังกลับมาชำระหนี้ไม่ได้

สำหรับสินเชื่อรถยนต์ ที่จัดชั้น stage 2 (SM) ที่เพิ่มขึ้นหลังช่วงโควิด ไม่ใช่ว่าจะกลายเป็นหนี้เสียทั้งหมด เห็นได้จากพฤติกรรมของลูกหนี้ในช่วงที่ผ่านมา อาจเว้นงวดผ่อนรถเพื่อนำเงินไปหมุนจ่ายภาระอื่น ทำให้โดยทั่วไป SM ของสินเชื่อรถยนต์จะอยู่ในระดับสูงกว่าสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น ซึ่ง ธปท. ได้กำชับ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ให้เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว

ขณะที่ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันและเป็นหนี้เสียค้างชำระเกินกว่า 120 วัน ก็สามารถเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาระรายเดือนอยู่ในระดับที่สามารถชำระคืนได้

เปิด 3 แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน 

โดยแนวทางดังกล่าวจะครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่การก่อหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ การดูแลหนี้เดิมโดยเฉพาะ NPL และหนี้เรื้อรัง รวมถึงช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ได้แก่

  1. เกณฑ์ Responsible Lending (RL) ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หนี้มีปัญหา จนถึงการขายหนี้ โดยลูกหนี้ต้องได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ทันเวลา มีคุณภาพ และเพียงพอมีแนวทางการดูแลลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง ให้เห็นทางปิดจบหนี้ได้ 
  2. กลไก Risk-based pricing (RBP) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และช่วยให้ลูกหนี้จ่ายอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม โดยหลักการสำคัญคือลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำควรได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลง และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง 
  3. มาตรการ Macroprudential policy (MAPP) ให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และลูกหนี้มีเงินเหลือพอดำรงชีพ ไม่นำไปสูงการก่อหนี้สินเกินตัว เช่น การคุมหนี้ไม่ให้อยู่ในระดับสูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ในแต่ละเดือน (DSR) 

สำหรับแผนการนำมาใช้ในส่วนของ RL และการแก้หนี้เรื้อรังจะบังคับใช้ก่อนเป็นลำดับแรก ตามมาด้วยมาตรการ RBP สำหรับในเรื่อง MAPP การนำมาใช้จะต้องพิจารณาให้เหมาะกับบริบทของเศรษฐกิจ โดย ธปท. จะชี้แจงรายละเอียดในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น เพื่อขยายผลไปยังอีก 30% ของหนี้ครัวเรือนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ด้วย เช่น การปลูกฝังให้ลูกหนี้มีความรู้และวินัยทางการเงิน การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของเจ้าหนี้ทั้งระบบ การพัฒนาฐานข้อมูลที่ใช้ประเมินและติดตามหนี้ และการแก้จน/ สร้างรายได้ เป็นต้น

การช่วยกันเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยยังคงเป็นความหวังให้กับคนไทยทั้งประเทศ ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระ ความเครียดของประชาชนในยุคที่ อะไรๆ ก็แพงได้บ้าง จากปัญหาหนี้สินนำไปสู่ปัญหาสังคม ที่มีการลักขโมย ชิงทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย และการทำลายตัวเองและคนอื่นตามมาอีกมากมาย

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT