Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ไทยยังรอลุ้นภาษีทรัมป์ หลังปิดดีลญี่ปุ่น 15% ลดให้ฟิลิปปินส์เหลือ 19%
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ไทยยังรอลุ้นภาษีทรัมป์ หลังปิดดีลญี่ปุ่น 15% ลดให้ฟิลิปปินส์เหลือ 19%

23 ก.ค. 68
11:55 น.
แชร์

บลูมเบิร์ก รายงานว่า ไทยเตรียมยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 90% ซึ่งปรับจากเดิมที่ไทยเสนอยกเว้น 60% เพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงเกินจริงจากสหรัฐฯ โดยนายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ รองประธานหอการค้าไทย ที่ปรึกษาทีมเจรจาฝ่ายไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ทีมที่ปรึกษาคาดหวังไว้ว่าภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ต่อไทยจะลดลงมาที่ 18%-20% จากเดิมที่ทรัมป์กำหนดไว้ 36% 

ล่าสุด มีการประกาศรายชื่อประเทศในอาเซียนที่ได้ลดภาษีเพิ่มเติมแล้ว โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันอังคารที่ 22 กรกฎาคมว่า เขาและประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์ได้บรรลุข้อตกลงทางการค้าแล้ว รวมถึงประเทศอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน ซึ่งตกลงลดอัตราภาษีศุลกากรให้ทั้งสองประเทศเหลือ 19% เท่ากัน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียตกลงที่จะไม่เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าของสหรัฐฯ เลย นั่นหมายความว่า อัตราภาษีที่ฟิลิปปินส์เรียกเก็บจากสินค้าอเมริกันคือ 0% นี่อาจเป็นข้อต่อรองสำคัญที่ทำให้สองประเทศเพื่อนบ้านของไทยได้ดีลที่ลงตัวกับสหรัฐฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

การประกาศในครั้งนี้มีขึ้น 3 สัปดาห์หลังจากวันที่ 3 ก.ค. ประธานาธิบดีทรัมป์ เปิดเผยผ่าน Truth Social ว่า ทำข้อตกลงการค้ากับเวียดนามได้สำเร็จ โดยมีเงื่อนไขว่าเวียดนามจะจ่ายภาษีศุลกากร 20% ให้กับสหรัฐฯ สำหรับสินค้าทั้งหมดที่ส่งมายังสหรัฐฯ ส่วนสินค้าเวียดนามจะเปิดตลาดอย่างเสรีให้แก่สินค้าจากสหรัฐฯ โดยสามารถส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามโดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรแต่อย่างใด 

เส้นทางตัวอย่างของดีลทั้ง 3 ประเทศ แลกมาด้วยเงื่อนไขที่จะต้องงดเว้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ ให้เหลือ 0% ขณะที่ไทยยังเสนองดเว้น 90% ซึ่งทำให้สินค้าสหรัฐฯ ที่ส่งมายังประเทศไทยต้องถูกคิดภาษี 10% นี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเจรจากาาค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ยังไม่ลงตัวในปัจจุบัน

บทเรียนจากดีลฟิลิปปินส์

การประกาศข้อตกลงกับฟิลิปปินส์ของทรัมป์มีขึ้น หลังจากที่เขาได้พบกับประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ที่ทำเนียบขาวเมื่อวานนี้ ทรัมป์เขียนบนโซเชียลมีเดียว่า "เป็นการเยือนที่ยอดเยี่ยม และเราได้สรุปข้อตกลงการค้าของเราแล้ว" อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดในทันทีว่าผู้นำทั้งสองได้ลงนามในสิ่งใดอย่างเป็นทางการหรือไม่ คล้ายกับการประกาศข้อตกลงทางการค้าล่าสุดอื่น ๆ เนื่องจากรายละเอียดเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ถูกเปิดเผยในเบื้องต้น

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทรัมป์และรัฐบาลสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะทำข้อตกลงการค้าเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบฉบับ หลังจากที่พวกเขาระงับภาษี "ตอบโต้" ต่อมา ทีมของทรัมป์ก็ได้เปลี่ยนท่าทีให้เบาลง โดยเน้นย้ำว่าทรัมป์กำลังให้ความสำคัญกับคุณภาพของข้อตกลงมากกว่าปริมาณ

ก่อนหน้านี้ไม่นาน ทรัมป์ได้ส่งสัญญาณเตือนหลายประเทศ โดยขู่ว่าจะขึ้นภาษีอีกจำนวนมาก รวมถึงอัตราภาษีที่สูงถึง 50% กับหลายประเทศคู่ค้า รวมถึงเก็บภาษีนำเข้าทองแดง 50% ซึ่งมีกำหนดจะมีผลบังคับใช้ในสัปดาห์หน้า เขากล่าวว่าจะยืนหยัดตามกำหนดเส้นตายวันที่ 1 สิงหาคม ในการทำข้อตกลง ไม่เช่นนั้นประเทศเหล่านี้เสี่ยงที่จะเผชิญกับภาษีที่สูงขึ้น 

ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯ นำเข้าสินค้ามูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากฟิลิปปินส์ สินค้าสำคัญ ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ อาหารแปรรูป เครื่องจักร และเครื่องแต่งกาย ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ส่งออกสินค้ามูลค่า 9,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปยังฟิลิปปินส์ ซึ่งคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ รวมถึงอาหารแปรรูป ก็เป็นหนึ่งในสินค้าสำคัญที่สหรัฐฯ ส่งไปที่ฟิลิปปินส์

เปิดดีลอินโดนีเซีย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์ประกาศข้อตกลงที่คล้ายกันกับอินโดนีเซีย โดยกำหนดอัตราภาษีที่ 19% เท่ากัน แต่เมื่อวานนี้ มีรายละเอียดเพิ่มเติมถูกเปิดเผยในแถลงการณ์ร่วมที่เผยแพร่โดยสหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซีย ทรัมป์เขียนบน Truth Social ระบุว่า "เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ประกาศข้อตกลงการค้าของสหรัฐฯ กับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีตัวแทนอย่างประธานาธิบดีนายปราโบโว ซูเบียนโต ที่ได้รับการเคารพอย่างสูงจากประชาชน"

ทรัมป์และเจ้าหน้าที่รัฐบาลเน้นย้ำถึงอุปสรรคทางการค้าอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในรูปแบบของภาษีศุลกากร โดยเฉพาะ การยกเลิกภาษีรายได้จากบริการดิจิทัล เช่น การโฆษณาบนเว็บไซต์สตรีมมิ่งและโซเชียลมีเดีย และ "ข้อกำหนดก่อนส่งสินค้าอเมริกัน” มายังอินโดนีเซีย ซึ่งทรัมป์มองว่าสร้างภาระอย่างมากสำหรับเกษตรกรในการส่งออกสินค้าจากอเมริกา และการยกเลิกสิ่งเหล่านี้จะช่วยเปิดตลาดให้กับพวกเขา 

นอกจากนี้ อินโดนีเซียตกลงที่จะยอมรับมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์แห่งชาติของสหรัฐฯ (US Federal Motor Vehicle Safety Standards) และยกเลิกข้อจำกัดการส่งออกแร่ธาตุที่สำคัญ

สินค้าจากอินโดนีเซียเคยเผชิญกับภาษี 32% ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นคู่ค้าอันดับ 23 ของอเมริกา ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้ามูลค่า 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเครื่องแต่งกายและรองเท้าเป็นสินค้าสองอันดับแรกที่ชาวอเมริกันซื้อจากอินโดนีเซีย ขณะที่สหรัฐอเมริกาได้ส่งออกสินค้ามูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปยังอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเมล็ดพืชน้ำมันและธัญพืช รวมถึงน้ำมันและก๊าซเป็นสินค้าส่งออกสองอันดับแรก

ญี่ปุ่นเคาะดีล ลดเหลือ 15%

อีกประเทศหนึ่งที่มีการเคาะดีลกันลงตัวแล้ว ก็คือประเทศญี่ปุ่น โดยวันนี้ นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะของญี่ปุ่นแสดงความยินดีต่อการประกาศของทรัมป์และยืนยันว่าเขาบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ แล้ว พร้อมระบุว่า “อัตราภาษีของญี่ปุ่น ซึ่งเดิมกำหนดไว้ที่ 25% สำหรับภาษีศุลกากร ถูกลดลงมาอยู่ที่ 15% แล้ว ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในบรรดาประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ จนถึงปัจจุบัน”

นอกจากนี้ อิชิบะยังยืนยันอีกว่าภาษีนำเข้ารถยนต์ญี่ปุ่นของสหรัฐฯ จะถูกปรับลดลงจาก 25% เหลือ 15% เขากล่าวเสริมว่า “ข้อตกลงดังกล่าวไม่รวมถึงการลดภาษีใดๆ จากฝั่งญี่ปุ่น รวมถึงสินค้าเกษตรด้วย”

ส่วนทรัมป์โพสต์ลงโซเชียลมีเดียว่า เพิ่งจะเสร็จสิ้นข้อตกลงกับญี่ปุ่น โดยนี่อาจจะเป็นดีลใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมา ญี่ปุ่นจะลงทุน ภายใต้การนำทางของทรัมป์ มูลค่า 550,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในสหรัฐฯ 

กำหนดเวลาของข้อตกลงการค้าถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะของญี่ปุ่น ซึ่งตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ลาออกหลังจากที่พรรคร่วมรัฐบาลของเขาสูญเสียเสียงข้างมากในการเลือกตั้งสภาสูงของประเทศเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แม้ว่านี่อาจเป็นเหมือนชัยชนะของรัฐบาลญี่ปุ่น นหลังจากการเจรจาที่ตึงเครียดเป็นเวลานานหลายเดือน แต่กลุ่มต่างๆ มากมายในพรรคของอิชิบะเองก็ตั้งคำถามถึงความเป็นผู้นำของเขา และยังมีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายค้านอาจยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ

แชร์
ไทยยังรอลุ้นภาษีทรัมป์ หลังปิดดีลญี่ปุ่น 15% ลดให้ฟิลิปปินส์เหลือ 19%