Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
หนี้ครัวเรือนไทย Q1 หดตัวครั้งแรกเหลือ 87.4%/GDP เหตุแบงก์ไม่ปล่อยกู้
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

หนี้ครัวเรือนไทย Q1 หดตัวครั้งแรกเหลือ 87.4%/GDP เหตุแบงก์ไม่ปล่อยกู้

18 ก.ค. 68
16:40 น.
แชร์

SCB EIC เผยรายงานระบุว่า ในไตรมาสแรกของปี 2025 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 87.4% หดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลหนี้ครัวเรือนไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งแม้ในทางเทคนิคจะสะท้อนกระบวนการ Deleveraging หรือการลดภาระหนี้ลง แต่สัญญาณเบื้องหลังกลับบ่งชี้ถึงภาวะเปราะบางของเศรษฐกิจ มากกว่าจะเป็นผลจากรายได้ที่ฟื้นตัว

ภายใต้ฉากหลังของเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ภาคครัวเรือนไทยยังคงเผชิญแรงกดดันจากรายได้ที่ไม่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนชีวิตและดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่สถาบันการเงินเองก็ระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ ท่ามกลางคุณภาพสินเชื่อที่ทยอยเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่อง

มาตรการภาครัฐอย่าง “คุณสู้ เราช่วย” แม้จะมีเป้าหมายบรรเทาภาระหนี้ในระยะสั้น แต่ภาพใหญ่ของกระบวนการลดหนี้ที่อิงกับการชะลอก่อหนี้มากกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น กลับอาจสร้างแรงกดดันต่อการบริโภคในระยะยาว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในยุคหลัง COVID-19 ที่การส่งออกและการลงทุนยังไม่กลับมาเต็มศักยภาพ

การที่หนี้ครัวเรือนไทยลดลงในครั้งนี้ จึงไม่ใช่ “สัญญาณดี” แบบที่เคยตีความกันในอดีต แต่เป็นสัญญาณเตือนว่า รายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัวเพียงพอ ขณะที่การเข้าถึงสินเชื่อก็ถูกจำกัดมากขึ้น ปล่อยให้ครัวเรือนจำนวนมากเผชิญกับภาวะหนี้เรื้อรังโดยไร้เครื่องมือฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ยังปกคลุมทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก กระบวนการลดหนี้ในครั้งนี้จึงอาจกลายเป็นแรงฉุดรั้งสำคัญของการเติบโตในระยะต่อไป หากไม่มีการออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์เชิงโครงสร้างอย่างจริงจังและยั่งยืน

หนี้ครัวเรือนไทยหดตัว สะท้อนวัฏจักร Deleveraging 

SCB EIC เผยว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาสแรกของปี 2025 อยู่ที่ 16.35 ล้านล้านบาท ลดลง -0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) ซึ่งนับเป็นการหดตัวของหนี้ครัวเรือนครั้งแรก นับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลสินเชื่อครัวเรือนในปี 2012 หลังจากที่อัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนชะลอลงต่อเนื่องหลายไตรมาสที่ผ่านมา โดยในไตรมาสดังกล่าว สินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์หดตัวอย่างรุนแรงถึง -10%YOY สะท้อนภาวะซบเซาของตลาดยานยนต์ ขณะที่สินเชื่อประเภทอื่น ๆ ของภาคครัวเรือนก็ชะลอตัวลงทั้งหมดเช่นกัน

หากพิจารณาแยกตามประเภทของผู้ให้สินเชื่อ จะพบว่าการหดตัวเกิดขึ้นเด่นชัดในกลุ่มสถาบันการเงินเอกชน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ บริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และผู้ให้สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งรวมกันคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของยอดสินเชื่อครัวเรือนทั้งหมด โดยในไตรมาส 1/2025 ยอดคงค้างสินเชื่อครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ลดลง -3.0%YOY หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ขณะที่ยอดคงค้างของบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคลลดลง -1.2%YOY หดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2

ในทางกลับกัน สถาบันการเงินของรัฐและสหกรณ์ออมทรัพย์ยังคงมีบทบาทสำคัญในการปล่อยสินเชื่อ และสามารถรักษาการเติบโตของยอดคงค้างสินเชื่อได้ในระดับหนึ่ง ส่งผลให้ภาพรวมของหนี้ครัวเรือนยังไม่หดตัวลงอย่างรุนแรงในเชิงโครงสร้าง โดยในระยะข้างหน้า สถาบันการเงินของรัฐจะยังมีบทบาทสำคัญในการประคองหนี้ครัวเรือนไทยไม่ให้ลดลงมาก ผ่านมาตรการสินเชื่อสนับสนุนจากภาครัฐ ขณะที่จำเป็นต้องติดตามคุณภาพของสินเชื่อจากภาคสหกรณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวมในอนาคต

หนี้ลดลงแต่ไม่ใช่สัญญาณบวกของเศรษฐกิจ

SCB EIC ประเมินว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ครัวเรือนไทยจะยังอยู่ในวัฏจักร “Deleveraging” หรือการลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากภาระหนี้ต่อ GDP ที่พุ่งสูงขึ้นมากในช่วงวิกฤต COVID-19 อย่างไรก็ตาม วัฏจักรการลดหนี้ในรอบนี้ไม่ได้นำมาซึ่งความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเช่นในอดีต ตรงกันข้าม กลับสะท้อน “ความเปราะบางเรื้อรัง” ของเศรษฐกิจไทย ที่ยังคงมีบาดแผลจากผลกระทบของ COVID-19 ซึ่งยังไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของการลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะพบว่ามีสาเหตุหลักมาจาก “การขยายตัวของหนี้ที่ต่ำกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ” โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนขยายตัวในระดับต่ำมานานกว่า 5 ไตรมาส แม้ว่าเศรษฐกิจจะยังเติบโตได้บ้าง แต่ก็อยู่ในระดับต่ำและฟื้นตัวได้อย่างเชื่องช้า

เมื่อเปรียบเทียบกับวัฏจักร Deleveraging รอบก่อนในช่วงปี 2016–ก่อน COVID-19 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยที่ 3.5%YOY ขณะที่ในรอบปัจจุบันตั้งแต่วิกฤต COVID-19 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยเพียง 2.3%YOY ซึ่งยังไม่เพียงพอจะสร้างรายได้ในระดับที่ช่วยให้ครัวเรือนสามารถลดภาระหนี้ได้อย่างยั่งยืน กล่าวคือ การลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในรอบนี้ มาจาก “การชะลอการก่อหนี้” มากกว่าจะเป็น “การฟื้นตัวของรายได้หรือเศรษฐกิจ”

นอกจากนี้ แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลัง COVID-19 แต่กระบวนการดังกล่าวกลับดำเนินไปอย่างเชื่องช้ากว่าหลายประเทศเศรษฐกิจหลัก 

หากเปรียบเทียบจากจุดสูงสุดของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในช่วงวิกฤต COVID-19 กับระดับล่าสุด จะพบว่าประเทศอื่นสามารถปรับลดสัดส่วนหนี้ได้เร็วกว่ามาก โดยเฉพาะประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวในช่วงต้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งช่วยเร่งมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Nominal GDP) ให้เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ลดลงได้เร็ว ในขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออก แม้จะเผชิญเงินเฟ้อในระดับต่ำกว่า แต่ก็สามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้รวดเร็วหลังผ่านพ้น COVID-19 ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ปรับลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นี่เป็นเพราะกระบวนการ Deleveraging ของไทยเกิดขึ้นจาก “การที่ยอดหนี้คงค้างแทบไม่เติบโต” ไม่ได้อาศัยแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว หรือเงินเฟ้อที่เร่งตัวอย่างมีนัยสำคัญ 

หากอัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ครัวเรือนไทยอาจเผชิญกับภาวะ “Debt Deflation” ซึ่งหมายถึงการที่มูลค่าที่แท้จริงของหนี้ไม่ได้ลดลงตามราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวขึ้น ส่งผลให้ภาระหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น ระดับหนี้ครัวเรือนของไทย ณ จุดสูงสุดในช่วง COVID-19 นั้นอยู่ในระดับที่สูงมาก ทั้งเมื่อเทียบกับอดีตของไทยเอง และเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

มาตรการแก้หนี้ช่วยบรรเทา แต่ระยะยาวต้องพึ่งการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือน

ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินมาตรการบรรเทาภาระหนี้ของครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการ “คุณสู้ เราช่วย เฟส 2” ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่า เป็นโครงการที่มีการขยายเงื่อนไข ระยะเวลา และกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวน่าจะช่วยลดภาระการชำระหนี้รายเดือนได้ในระยะสั้นผ่านแรงจูงใจทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาวยังขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของรายได้เป็นหลัก โดยเฉพาะในกลไก “จ่ายตรง คงทรัพย์” ซึ่งมีการปรับเพิ่มการชำระหนี้เป็นขั้นบันไดในแต่ละปีที่เข้าร่วมโครงการ หากรายได้ไม่ฟื้นตัวเพียงพอ อาจทำให้ลูกหนี้กลับมาเผชิญปัญหาเดิมในอนาคต

ดังนั้น กระบวนการลดหนี้ที่มีประสิทธิภาพในระยะยาวควรประกอบด้วยสองมิติสำคัญ ได้แก่ (1) มาตรการแก้ไขหนี้เดิมที่ออกแบบให้เหมาะสมกับกลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้แตกต่างกัน และ (2) นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่สนับสนุนการฟื้นตัวของรายได้อย่างเพียงพอ เพื่อให้ภาคครัวเรือนสามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ภาครัฐอาจพิจารณาใช้เครื่องมือนโยบาย Macroprudential เช่น การกำหนดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ เพื่อป้องกันการก่อหนี้ที่ไม่ยั่งยืนในอนาคต โดยเฉพาะในภาวะที่ดอกเบี้ยอาจอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง (Low for Long)

คุณภาพสินเชื่อยังถดถอย ความเสี่ยงต่อระบบการเงินยังต้องจับตา

ภายใต้สภาวการณ์นี้ แนวโน้มในระยะข้างหน้า SCB EIC ประเมินว่าสถาบันการเงินยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อต่อไป โดยเฉพาะจากคุณภาพสินเชื่อที่ยังด้อยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จำกัดการเติบโตของหนี้ครัวเรือน โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่า สัดส่วนสินเชื่อที่อยู่ในขั้น Stage 3 หรือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 3.41% ในไตรมาสแรกของปี 2025

หากลงลึกในรายละเอียดจะพบว่าสินเชื่อที่เข้าสู่ขั้น Stage 3 เพิ่มขึ้นในทุกประเภท โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งมีสัดส่วน NPL อยู่ที่ 4.11% และ 4.17% ตามลำดับ และเมื่อรวมกับสินเชื่อที่อยู่ในขั้น Stage 2 (ซึ่งเริ่มมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น) จะทำให้สัดส่วนสินเชื่อที่มีความเสี่ยงรวมกันสูงถึง 10.26% และ 8.45% ตามลำดับ

แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อในระยะต่อไปจึงยังคงถูกจำกัดโดยความเสี่ยงด้านเครดิตที่อยู่ในระดับสูง สถาบันการเงิน โดยเฉพาะภาคเอกชน จึงยังคงมีท่าทีระมัดระวังต่อการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากครัวเรือนไทยนอกจากจะยังฟื้นตัวไม่เต็มที่จากวิกฤต COVID-19 แล้ว ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ตลอดจนการแข่งขันสูงจากสินค้านำเข้าที่กดดันภาคธุรกิจในประเทศอย่างต่อเนื่อง


แชร์
หนี้ครัวเรือนไทย Q1 หดตัวครั้งแรกเหลือ 87.4%/GDP เหตุแบงก์ไม่ปล่อยกู้